การดูแลผู้ป่วยกลับเข้าทำงาน
หนังสือเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
ชื่อหนังสือ: การดูแลผู้ป่วยกลับเข้าทำงาน (Return to Work Management)
ชื่อหนังสือ
การดูแลผู้ป่วยกลับเข้าทำงาน (Return to Work Management)
เรียบเรียงโดย
วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
ครั้งที่พิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ 2
วันที่เผยแพร่
24 ธันวาคม พ.ศ. 2559
จำนวนหน้า
62 หน้า
เกี่ยวกับเนื้อหา
การทำงาน เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตร การทำงานนั้นนอกจากจะทำเพื่อให้ได้เงินมาใช้สอยแล้ว งานยังให้ประโยชน์ด้านอื่นๆ แก่คนทำงานอีกมาก เช่น การฝึกทักษะ การได้เข้าสังคม ทำให้ไม่เหงา อีกทั้งยังได้ความสุขใจจากการที่ได้ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย เมื่อมองดูความสัมพันธ์ของงานกับสุขภาพ จะพบว่างานมีผลต่อสุขภาพอย่างมาก การทำงานโดยทั่วไปจะทำให้คนมีสุขภาพดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ในทางกลับกันสุขภาพก็มีผลต่องานอย่างมากด้วยเช่นกัน เพราะการที่สุขภาพไม่ดีหรือป่วยเป็นโรคก็จะทำให้ทำงานได้ยากลำบากขึ้น การดูแลสุขภาพคนทำงานที่เจ็บป่วยเพื่อให้มีความเหมาะสมที่จะทำงานได้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่ง
เนื่องจากสุขภาพมีผลต่องาน การจะดำเนินการเพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเข้าไปทำงานได้อย่างปลอดภัยเราจึงต้องดูแลเป็นพิเศษ การประเมินโดยแพทย์เพื่อดูความเหมาะสมของ “คน” กับ “งาน” เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยคนทำงานที่เจ็บป่วยได้ หลังจากประเมินแล้วถ้าสุขภาพไม่เหมาะสมกับงานก็ควรมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดความเหมาะสมขึ้น การดำเนินการช่วยเหลือในช่วงเวลาที่คนทำงานบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจนต้องหยุดงานไปเป็นเวลานานและกำลังจะกลับเข้าทำงานนี้เรียกว่า “การดูแลผู้ป่วยกลับเข้าทำงาน” (Return to Work Management) ซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้
การดำเนินการเพื่อให้ผู้ป่วยกลับเข้าทำงานที่กล่าวนี้ทำโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีบทบาทที่ต่างกัน แพทย์ผู้รักษาจะทำหน้าที่
ประเมินอาการของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของสถานประกอบการมีหน้าที่ดำเนินการด้านเอกสารและช่วยเหลือเพื่อปรับสภาพงานให้แก่ผู้ป่วย นายจ้างมีหน้าที่อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับเข้ามาทำงานได้หรือหางานอื่นที่เหมาะสมกว่าให้ และที่สำคัญที่สุดในกระบวนการคือตัวผู้ป่วยเองซึ่งเป็นคนตัดสินใจว่าจะกลับไปทำงานอย่างไร
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ เป็นหลักการและองค์ความรู้เบื้องต้นสำหรับแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยกลับเข้าทำงาน เนื่องจากความรู้ในเรื่องนี้ยังค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ผู้เรียบเรียงจึงอ้างอิงเนื้อหาบางส่วนมาจากตำราต่างประเทศ ประกอบเข้ากับผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีการเผยแพร่ออกมามากขึ้น ร่วมกับประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยกลับเข้าทำงานของผู้เรียบเรียงเอง ในส่วนเนื้อหาที่อ้างอิงมาจากตำราต่างประเทศนั้น เนื่องจากบริบท สังคม วัฒนธรรม ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยด้วย
หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์กับแพทย์ไทย ในการดูแลผู้ป่วยให้กลับเข้าทำงานได้อย่างปลอดภัยในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผลจากการดำเนินการจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน การเพิ่มพูนของผลผลิต และความก้าวหน้าของประเทศชาติ ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นการจากดูแลผู้ป่วยอย่างตั้งใจจนถึงที่สุดนี้ ขอให้ย้อนกลับมาสู่แพทย์ทุกคนที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างดีด้วย