คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย

นพ.ศรัณย์ ศรีคำ, แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

วันที่เผยแพร่ 20 สิงหาคม 2556


(Working with Computer: How to Care Yourself)

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งในด้านการทำงาน การติดต่อสื่อสาร รวมถึงการพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะในด้านการทำงานนั้น ได้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้กันอย่างแพร่หลายในงานหลายๆ ด้าน เช่น งานธุรการ งานด้านการเงิน งานสถิติ งานด้านการคำนวณ งานด้านการนำเสนอผลงาน หรือแม้แต่งานด้านการแพทย์ นับวันคอมพิวเตอร์ก็จะยิ่งมีบทบาทในการทำงานด้านต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นจำนวนผู้ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานหรือการประกอบอาชีพก็จะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่การทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานได้ โดยเกิดได้ทั้งปัญหาทางสายตา อาการตาล้า อาการระคายเคืองตา การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย และการได้รับรังสีในขนาดต่ำ

ตัวอย่างกลุ่มอาชีพที่อาจต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เช่น

  • พนักงานธุรการ งานในสำนักงานทุกชนิด
  • พนักงานฝ่ายบัญชี ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
  • พนักงานธนาคาร
  • นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ผู้พัฒนาเกม ผู้ดูแลเว็บไซต์
  • นักเขียน นักหนังสือพิมพ์
  • นักวิจัย นักสถิติ อาจารย์สอนวิชาคอมพิวเตอร์
  • นักการตลาดอิเล็กทรอนิกส์
  • เจ้าหน้าที่ประจำห้องควบคุมของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

ปัญหาทางสายตา (Visual problems)

กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการเพ่งมองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานนั้นมีชื่อเรียกว่า Computer vision syndrome (CVS) หรืออาจเรียกว่า Video display terminal syndrome (VDTS) ก็ได้ กลุ่มอาการนี้ เกิดจากการเพ่งมองส่วนแสดงผลของคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

ส่วนแสดงผลของคอมพิวเตอร์นั้น มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Video display terminal (VDT) หรือในอดีตอาจเรียกว่า Visual display terminal (VDT) หรือ Visual display unit (VDU) ก็ได้ ส่วนแสดงผลส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นหน้าจอ (Monitor) หรืออาจเป็นการฉายภาพไปบนจอ ในกลุ่มของหน้าจอหมายรวมถึงทั้งหน้าจอแบบ Cathode ray tube (CRT) แบบในอดีต และแบบ Liquid crystal display (LCD) หรือ Light emitting-diode (LED) หรือ Gas plasma แบบที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน หน้าจอส่วนแสดงผลของคอมพิวเตอร์นี้ สร้างภาพโดยใช้การแสดงจุดของแสงสว่างที่ต่างๆ กันขึ้นบนหน้าจอ การมองภาพบนหน้าจอจึงทำให้ตาต้องมองแสงสว่างและต้องใช้การเพ่งมากกว่าปกติ

กลุ่มอาการ Computer vision syndrome (CVS) จะทำให้เกิดอาการทางตาหลายอย่าง ที่พบบ่อยคืออาการตาล้า (Fatigue) ทำให้ปวดรอบดวงตา (Eye strain) ร่วมกับมีอาการระคายเคือง (Irritated eye) และตาแห้ง (Dry eye) บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ (Headache) วิงเวียนศีรษะ (Vertigo) น้ำตาไหล (Lacrimation) ตาแดง (Redness) เห็นภาพไม่ชัด (Blur vision) และเห็นภาพซ้อน (Double vision) ร่วมด้วย สำหรับเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้วอาจจะทำให้สายตาสั้นนั้น ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีในปัจจุบันยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจน

ปัญหาทางตาที่เกิดจากการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานนี้ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมาก สาเหตุการเกิดเนื่องจากการมองจอภาพคอมพิวเตอร์นั้น เป็นเหมือนการมองไปที่จุดแสงสว่าง ซึ่งตาจะต้องเพ่งมองเพื่อปรับโฟกัสภาพมากกว่าปกติ เมื่อใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานติดต่อกัน จึงทำให้เกิดอาการปวดตา ตาล้า และตาแห้งได้ง่าย นอกจากนี้อาจมีสิ่งรบกวนการมอง เช่น แสงสะท้อนที่หน้าจอ แสงรบกวนที่ส่องเข้าตา ตำแหน่งของหน้าจอและเอกสารที่ไม่เหมาะสม แสงสว่างของบริเวณโดยรอบที่น้อยเกินไป ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้อาการทางตาจากการใช้คอมพิวเตอร์เกิดมีได้มากขึ้น การแก้ไขปัญหาสามารถทำได้ดังนี้

  1. ควรมีการพักสายตาเป็นช่วงสั้นๆ จากการทำงานกับคอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นไปได้หลังจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์ทุก 1 – 2 ชั่วโมง ควรทำการพักเบรคสัก 5 – 10 นาที โดยการละสายตาจากคอมพิวเตอร์ มองไปไกลๆ เป็นการพักสายตา และควรลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อเป็นการลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปในตัวด้วย
  2. จำกัดเวลาทำงานกับคอมพิวเตอร์ ถ้าสามารถทำได้ การจัดชั่วโมงการทำงานกับคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ไม่ให้นานเกินไป ก็ย่อมจะช่วยลดโอกาสในการเกิดปัญหาตาล้าและตาแห้งได้ แต่ในงานบางอย่างที่บังคับจะต้องทำกับคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ก็อาจไม่สามารถจำกัดชั่วโมงการทำงานได้ อย่างไรก็ดี ในกลุ่มคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ทั้งวันนี้ เมื่อกลับไปบ้าน ก็ควรพักสายตาจากการใช้คอมพิวเตอร์บ้าง ควรหากิจกรรมอื่นๆ ทำ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬา ย่อมดีกว่าหาความบันเทิงด้วยการเล่นคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่บ้านต่อ เพราะหากทำเช่นนั้นจะเป็นการทำให้สายตาต้องเพ่งมองหน้าจอแทบจะตลอดเวลา ปัญหาสายตาก็เกิดขึ้นได้มาก
  3. ปรับความสูงและมุมของหน้าจอให้เหมาะสม คือความสูงและมุมอยู่ในระดับที่ใช้แล้วสบายตาที่สุด โดยทั่วไปการมองจะสบายตาที่สุดเมื่อขอบบนหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย (สายตาผู้ใช้มองเหลือบลงจากแนวระนาบเล็กน้อย ประมาณ 10 – 15 องศา) ส่วนในลักษณะการทำงานนั้น มักพบว่าลักษณะการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบที่เพ่งอยู่ที่จุดเดียวนานๆ เช่น อ่านตัวหนังสือ หรือพิมพ์งาน จะทำให้ตาล้าได้มากกว่างานที่มองไปทั่วๆ ทั้งจอภาพ
  4. ปรับระยะห่างระหว่างดวงตาและหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้พอเหมาะ ถ้าหน้าจออยู่ใกล้เกินไปมักจะทำให้ต้องเพ่งมาก และทำให้ตาล้า เกิดอาการปวดตาได้ง่าย ส่วนหน้าจอที่อยู่ไกลเกินไปก็จะทำให้มองเห็นไม่ชัด ต้องยืดคอมองซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดต้นคอตามมา ระยะห่างระหว่างดวงตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมนั้น ควรจะอยู่ที่ประมาณ 45 – 70 เซนติเมตร
  5. จัดแสงโดยรอบพื้นที่การทำงานให้เหมาะสม โดยในอุดมคตินั้น แสงบริเวณโดยรอบหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรลดลงสักประมาณครึ่งหนึ่งของความสว่างปกติ คือไม่สว่างจ้าแต่ก็ไม่ถึงกับมืด เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาการรบกวนสายตาในการมองหน้าจอ การปรับแสงให้ลดลงนี้ อาจทำได้โดยการใช้โคมไฟชนิดที่หรี่ได้ หรือปิดผ้าม่านบางส่วน
  6. พยายามลดแสงสะท้อน (Glare) ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยจะต้องพิจารณาว่าในห้องที่ทำงานมีแหล่งกำเนิดแสงอยู่หรือไม่ แสงที่ส่องเข้าหน้าจอคอมพิวเตอร์อาจเป็นแสงที่ส่องมาจากประตู หน้าต่าง หลอดไฟ หรือสะท้อนจากกระจก หรือวัสดุผิวเรียบมันที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ได้ การลดแสงสะท้อนทำได้โดย ตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปในทิศทางที่ไม่มีแสงสะท้อน เช่น ตั้งฉากกับหน้าต่าง หรือห่างจากหลอดไฟ หรือกำจัดแหล่งของแสงสะท้อนออกไป เช่น ปิดหน้าต่าง ย้ายตำแหน่งกระจก ใช้ผนังที่เป็นวัสดุอื่นที่ไม่ใช่กระจก ติดตั้งผ้าม่าน เหล่านี้เป็นต้น หน้าจอโค้งแบบ CRT ที่นิยมใช้ในอดีตจะสะท้อนแสงได้ดีกว่าหน้าจอชนิดเรียบ เช่น หน้าจอ LCD แบบที่ใช้ในปัจจุบัน ในอดีตนิยมให้ทำการแก้ไขแสงสะท้อนจากหน้าจอแบบ CRT ด้วยการซื้อแผ่นลดแสงสะท้อน (Anti-glare cover) มาติด แต่ในปัจจุบันถ้าเกิดปัญหานี้ขึ้น แนะนำให้เปลี่ยนหน้าจอเป็นแบบ LCD ไปเลยจะประหยัดและดีกว่า
  7. หลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอแบบ CRT แบบเก่า เนื่องจากดังกล่าวแล้วว่า หน้าจอชนิดนี้จะมีปัญหาทำให้เกิดอาการตาล้าได้ง่ายกว่าหน้าจอแบบเรียบที่นิยมใช้ในปัจจุบัน หน้าจอแบบ CRT นั้น เมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดการกระพริบของจอภาพ (Flicker) ก่อแสงสะท้อน และก่อปัญหาหน้าจอมืดลงได้บ่อย ทำให้ต้องใช้สายตาเพ่งมองมากกว่าปกติ การแก้ไขทำโดยเปลี่ยนไปใช้หน้าจอแบบเรียบจะดีกว่า
  8. ปรับความคมชัด (Brightness) ของหน้าจอให้สูงเพียงพอที่จะมองได้อย่างชัดเจน และปรับความตัดกันของภาพ (Contrast) ให้มากเข้าไว้ จะช่วยให้การมองหน้าจอทำได้สะดวกและสบายตาขึ้น เมื่อใช้โปรแกรมต่างๆ ให้ปรับขนาดตัวอักษร (Font size) ให้ใหญ่เพียงพอที่จะมองเห็นได้ชัดเจน และควรเช็ดทำความสะอาดหน้าจอสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้มีฝุ่นเกาะจนรบกวนการมองเห็นด้วย
  9. ถ้าหน้าจอเสีย เกิดมีการกระพริบ หรือสีมืดลง ควรทำการแก้ไขโดยการส่งไปซ่อม หรือซื้อเปลี่ยนใหม่
  10. พยายามกระพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาสามารถหล่อเลี้ยงได้ทั่วดวงตา ช่วยลดอาการตาแห้งและระคายเคืองตาได้ ในคนที่มีปัญหาตาแห้งและระคายเคืองตาอย่างมาก อาจต้องปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อพิจารณาใช้น้ำตาเทียม
  11. ทำการตรวจสายตาอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้ามีปัญหาสายตา เช่น สายตายาว สายตาสั้น สายตาเอียง หรือมีโรคในดวงตา จะทำให้มองจอภาพคอมพิวเตอร์ได้ไม่ชัดเจน ก็ควรทำการแก้ไขปัญหาสายตานั้นโดยการตัดแว่นที่มีกำลังเหมาะสมใส่ และปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาโรคในดวงตาให้ดีขึ้น
  12. ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาสายตายาว และต้องทำงานใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหรือเป็นงานหลัก อาจพิจารณาตัดแว่นเพื่อใช้สำหรับการทำคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งการตัดแว่นชนิดนี้ควรปรึกษากับนักทัศนมาตร (Optometrist) หรือช่างตัดแว่นที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจากระยะห่างของการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้น หากจะกล่าวไปก็ต้องจัดว่าเป็นระยะการมองแบบพิเศษ เป็นการมองในระยะกลาง (Intermediate vision) คือไม่ได้มองใกล้ (Near vision) แบบเวลาอ่านหนังสือ แต่ก็ไม่ได้มองไกล (Far vision) เหมือนเวลาขับรถหรือนั่งฟังบรรยายอยู่หลังห้อง แว่นแก้ไขสายตายาวที่ตัดมาเพื่อมองระยะใกล้ (คือเพื่อใช้อ่านหนังสือ) โดยเฉพาะนั้น ในบางครั้งเมื่อมาใช้ทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการมองระยะกลางอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสายตายาว หากต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานานทั้งวันแล้ว อาจพิจารณาตัดแว่นอีกอันหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการมองระยะกลาง (คือใช้สำหรับทำงานกับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ) จะเป็นการดีกว่า ส่วนแว่นแบบพิเศษ เช่น แว่นแบบเลนส์สองชั้น (Bifocal) หรือแว่นแบบเลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ (Progressive) ที่นิยมใช้กันนั้น จะมีกำลังเลนส์ต่างๆ กันในแว่นเดียว เพื่อให้มองได้หลายระยะ ทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล หากฝึกฝนในการใช้แล้ว ก็อาจนำมาใช้กับการทำคอมพิวเตอร์ได้ดี อย่างไรก็ตามแว่นพวกนี้มีข้อควรระวังในการนำมาใช้ทำงานกับคอมพิวเตอร์ คืออาจทำให้ผู้ใช้ต้องเงยหน้ามากกว่าปกติเพื่อหาจุดชัดของภาพ ซึ่งมักอยู่ส่วนล่างของเลนส์ หากทำไปเป็นเวลานานโดยไม่รู้ตัวอาจนำไปสู่อาการปวดต้นคอในผู้สูงอายุได้ ทางแก้คือต้องปรึกษานักทัศนมาตรหรือช่างตัดแว่นเพื่อปรับตำแหน่งจุดชัดของเลนส์ให้อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม คือสำหรับใช้การมองเหลือบลงต่ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ปัญหาทางกระดูกและกล้ามเนื้อ (Musculoskeletal problems)

ผู้ที่การทำงานกับคอมพิวเตอร์อาจต้องทำงานโดยอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ หรือมีการทำงานที่ต้องมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ของมือ แขน และนิ้ว ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้อาจทำให้เกิดอาการล้าของกล้ามเนื้อ อาจก่อให้เกิดอาการปวดหรือบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ นอกจากนี้ผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคของข้อ เส้นเอ็น หรือเส้นประสาทต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการปวดเรื้อรังหรือชาได้ วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาสามารถทำได้ดังนี้

ภาพลักษณะการนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสม (ที่มา: OSHA, 1997)

  1. ควรนั่งทำงานด้วยท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องนั่งทำงานด้วยท่าทางเดิมๆ เป็นเวลานาน ท่าทางการนั่งที่ไม่เหมาะสมเป็นเหตุให้ร่างกายเกิดความเมื่อยล้าได้ง่าย โดยการจัดที่นั่งทำงานมีหลักคือ ผู้ปฏิบัติงานควรสามารถนั่งทำงานได้ในท่าทางที่สบาย มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเอกสารต่างๆ ได้ดี มีการรองรับหลัง แขน ขา และเท้า ควรจัดระดับความสูงของอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับขนาดร่างกายของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน โดยเลือกอุปกรณ์ที่สามารถปรับระดับได้ เช่น จอภาพคอมพิวเตอร์ที่ปรับสูงต่ำได้ เก้าอี้ที่ปรับระดับสูงต่ำได้ รวมถึงอาจมีการใช้ที่วางเอกสารในกรณีที่มีการพิมพ์งานจากเอกสารต้นแบบ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ต้องก้มศีรษะในการมองเอกสารมากเกิดไป ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอ และไหล่ได้
  2. จัดวางของบนโต๊ะทำงานไม่ให้รก ของที่ใช้บ่อยให้วางไว้ใกล้ตัว ใต้โต๊ะไม่ควรนำสิ่งของหรือแฟ้มเอกสารมาวาง เพื่อให้มีที่ว่างเพียงพอให้สอดขาเข้าใต้โต๊ะได้อย่างสบาย เก็บสายไฟของเครื่องคอมพิวเอตร์ไม่ให้ระเกะระกะ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการเดินสะดุดหรือไฟฟ้าช๊อต
  3. ควรจัดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมแก่ผู้ใช้งาน โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรมีการปรับมุมของหน้าจอให้เหมาะสมแก่การมองของผู้ใช้แต่ละคน ปรับระดับความสูงโดยขอบบนสุดของหน้าจอไม่ควรอยู่สูงกว่าระดับสายตาของผู้ใช้งาน การปรับระดับหน้าจอให้ต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อยนี้จะทำให้การมองเป็นการมองเหลือบลงเล็กน้อย เป็นมุมประมาณ 10 – 15 องศา ซึ่งเชื่อว่ามุมนี้จะทำให้สบายตาที่สุด หากหน้าจออยู่สูงเกินไปผู้ใช้จะต้องแหงนคอมอง ทำให้ปวดตาง่ายและทำให้ปวดต้นคอโดยไม่รู้ตัวได้ด้วย ระยะห่างจากสายตาถึงของหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยปกติควรอยู่ในระยะประมาณ 45 – 70 เซนติเมตร ถ้ามีที่วางเอกสาร ควรอยู่ในระยะห่างพอๆ กันกับหน้าจอ
  4. ส่วนแป้นพิมพ์ควรอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับโต๊ะทำงานปกติเล็กน้อย หรืออย่างสูงที่สุดคืออยู่ระดับเดียวกับโต๊ะทำงาน เพื่อให้ผู้ใช้ไม่ต้องยกมือ แขน และไหล่ขึ้นสูงในการพิมพ์ อันจะนำไปสู่อาการปวด มือ แขน และไหล่ได้ หากใช้โต๊ะทำงานที่มีที่วางแป้นพิมพ์ (Keyboard tray) ซึ่งเลื่อนเข้าออกได้ ก็จะทำให้สามารถนั่งทำงานโดยมีระยะห่างจากจอภาพเหมาะสมด้วย และโดยทั่วไปที่วางแป้นพิมพ์นี้จะอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นโต๊ะทำงานเล็กน้อยอยู่แล้ว ท่าทางในใช้แป้นพิมพ์ที่เหมาะสมคือ ให้แขนสองข้างขนานไปกับพื้นหรือเอียงลงเล็กน้อย ข้อศอกอยู่ข้างลำตัว ไม่กางหรือหุบศอกมากเกินไป ข้อศอกทำมุมประมาณ 90 องศา ข้อมืออยู่ในแนวเดียวกับแขน ไม่กระดกข้อมือมากเกินไป มือทั้งสองข้างสามารถใช้แป้นพิมพ์ได้อย่างสะดวก
  5. เมาส์ควรอยู่ในตำแหน่งด้านข้างของผู้ใช้งานในลักษณะที่ต้นแขนของผู้ใช้งานแนบลำตัว แขนและมืออยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ต้นแขนไม่มีการยกหรือเหยียดขณะใช้งานเม้าส์ และข้อมือไม่กระดกมากเกินไป โดยอาจมีที่รองข้อมือ (Mouse rest) เพื่อช่วยให้ข้อมืออยู่ในแนวตรง ถ้าข้อมือกระดกมากเกินไปจะทำให้ปวดข้อมือได้ง่าย ขนาดของเมาส์ต้องพอดีมือ ไม่เล็กจนเกินไปจะทำให้ต้องเกร็งมือและควบคุมเมาส์ได้ลำบาก
  6. การจัดเก้าอี้ที่นั่งควรปรับระดับสูงต่ำได้เพื่อให้เหมาะสมกับความสูงของผู้ใช้งานแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เก้าอี้หากเป็นเก้าอี้สำนักงานควรมีล้อแข็งแรง ไม่ฝืด เก้าอี้นั่งได้มั่นคง ไม่ลื่นหรือต้องเกร็งตัวเวลานั่งตลอดเวลา เก้าอี้ควรมีพนักรองหลังเพื่อให้นั่งได้สบาย หากเป็นไปได้ควรมีที่เท้าแขนด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ปัญหาของเก้าอี้พบบ่อยคือที่ปรับระดับไม่ได้ หากสูงเกินไปก็อาจจะทำให้ผู้ใช้งานที่ตัวเล็กเท้าไม่ถึงพื้น ทำให้ต้องนั่งเกร็งและต้นขาโดนกดทับทำให้ปวดและชาต้นขา หรืออาจต้องนั่งโดยหลังไม่ชิดพนักทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างตามมาได้ง่าย หากเก้าอี้เตี้ยเกินไปก็ทำให้ผู้ใช้งานที่ตัวสูงใหญ่ต้องนั่งคุดคู้ เกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน ส่วนเก้าอี้ที่ออกแบบมาแล้วนั่งได้ไม่มั่นคง เพราะลื่น หรือรูปร่างไม่รองรับกับหลัง เมื่อนั่งแล้วก็จะทำให้เกร็งและเกิดอาการปวดหลังได้ เก้าอี้ที่มีส่วนรองนั่งยาวมากหรือสั้นมากจนเกินไปจะทำให้นั่งได้ลำบาก นั่งแล้วปวดหลัง
  7. ควรมีมาตรการให้หยุดพักเป็นระยะระหว่างการทำงาน เช่น หยุดพัก 5 – 10 นาที ทุก 1 – 2 ชั่วโมงที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการนั่งทำงานในท่าทางเดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน อันเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้ ขณะที่พักควรเดินออกไปจากโต๊ะเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง หรือออกกำลังกายยืดเหยียด การจัดให้พนักงานทำงานหลายอย่าง เช่น ตอนเช้าให้ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ตอนบ่ายจัดให้ทำงานอื่น ถ้าสามารถทำได้ ก็จะช่วยลดเวลาในการทำงานกับคอมพิวเตอร์ในแต่ละวันให้น้อยลง
  8. ควรมีการออกกำลังกายยืดเหยียด เพื่อบริหารกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเป็นประจำ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และลดความปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี อาจใช้เวลาทำในช่วงเวลาพักที่กำหนดไว้ก็ได้

ปัญหาการได้รับรังสี (Radiation)

นอกจากปัญหาทางตา และทางกระดูกและกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยแล้ว การทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ยังทำให้ต้องสัมผัสกับรังสีชนิดต่างๆ เช่น รังสีเอกซ์ (X-ray) รังสีคลื่นวิทยุ (Radiofrequency) และสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อน (Extremely low frequency electromagnetic field) ได้ ปริมาณรังสีชนิดต่างๆ ที่ออกมาจากจอคอมพิวเตอร์นั้นจะต่ำมาก และยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามมีความกังวลในกลุ่มผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์บางกลุ่ม เช่น คนตั้งครรภ์ ว่าอาจมีโอกาสได้รับความเสี่ยงจากรังสีเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป การทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็น และไม่ใช้คอมพิวเตอร์โดยไม่จำเป็นมากเกินไปนอกเวลางาน จึงยังคงเป็นคำแนะนำที่ปลอดภัยสำหรับคนทำงานกลุ่มนี้อยู่

เอกสารอ้างอิง

  1. Occupational Safety and Health Administration (OSHA). Working Safely with Video Display Terminals [Internet]. 1997 [cited 2013 Jun 19]. Available from: https://www.osha.gov/Publications/videoDisplay/videoDisplay.html.
  2. National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH). NIOSH Publication on video display terminals, 3rd ed. Cincinnati: NIOSH; 1999.
  3. Tribley J, McClain S, Karbasi A, Kaldenberg J. Tips for computer vision syndrome relief and prevention. Work 2011;39(1):85-7.
  4. Blehm C, Vishnu S, Khattak A, Mitra S, Yee RW. Computer vision syndrome: a review. Surv Ophthalmol 2005;50(3):253-262.
  5. Mutti DO, Zadnik K. Is computer use a risk factor for myopia ? J Am Optom Assoc 1996;67(9):521-30.
  6. Schnorr TM, Grajewski BA, Hornung RW, Thun MJ, Egeland GM, Murray WE, et al. Video display terminals and the risk of spontaneous abortion. N Engl J Med 1991;324(11):727-33.