รังสีจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านกับการก่อมะเร็ง

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 14 มีนาคม 2555


บรรยายพิเศษสำหรับประชาชน “สารก่อมะเร็งในบ้านมหันต์ภัยใกล้ตัว”

ตอน รังสีกับเครื่องใช้ในบ้าน


(บทความนี้เป็นเอกสารประกอบการบรรยาย ในงานประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ในชื่องาน "Bridging cancer research to optimized cancer care and control" ที่โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นการบรรยายให้ความรู้สำหรับประชาชนทั่วไป)

ขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็งแล้ว คนทุกคนต่างต้องให้ความสำคัญกันทั้งนั้น เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความรุนแรง บางชนิดรักษาไม่หาย และหากตรวจพบในระยะลุกลามแล้ว ก็มักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต มะเร็งมีสาเหตุมาจากหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งจากพันธุกรรม พฤติกรรมสุขภาพ การติดเชื้อโรค ไปจนถึงการได้รับเหตุก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว การได้รับเหตุก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมนั้น ยกตัวอย่างเช่น การสัมผัสสารเคมีบางชนิดที่มีสมบัติก่อมะเร็งได้ หรือการได้รับรังสีชนิดต่างๆ ในบ้านของเรานั้น แม้ว่าจะเป็นสถานที่พักผ่อนที่เราคิดว่าปลอดภัยที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีเหตุก่อมะเร็งแอบแฝงอยู่ไม่น้อย การได้ตระหนักรู้ถึงภัยซ่อนเร้นของเหตุก่อมะเร็งที่อยู่ภายในบ้านของเราเอง จะเป็นตัวช่วยให้เราลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งขึ้นได้ ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสิ่งก่อมะเร็งอย่างหนึ่ง ที่พบได้ทั่วไปทั้งภายในและบริเวณรอบบ้าน คือรังสีที่ปล่อยออกมาจากเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราใช้ประโยชน์อยู่ในชีวิตประจำวันนั่นเอง

“รังสี” เป็นพลังงานทางกายภาพอย่างหนึ่งที่ถูกปล่อยออกมารอบทิศทางจากแหล่งกำเนิด รังสีส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือบางชนิดมีลักษณะเป็นอนุภาคเล็กๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น การจะรับรู้ได้ว่ามีรังสีอยู่ในบริเวณใด ปริมาณมากน้อยเท่าไร ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดจึงจะทราบได้ เนื่องจากประสาทสัมผัสของมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของรังสีบางชนิดได้โดยตรง ปัจจุบันเราใช้ประโยชน์จากรังสีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่การ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ใช้โทรศัพท์มือถือ การปรุงอาหารด้วยไมโครเวฟ การถนอมอาหาร การผลิตอาวุธ การถ่ายภาพรังสีทางการแพทย์ การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง การตรวจสอบสิ่งของในกระเป๋าด้วยรังสีที่สนามบิน และการตรวจสอบคุณภาพสินค้าด้วยรังสีในทางอุตสาหกรรม

ในบ้านของเรานั้นมีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่างที่มีความสามารถปล่อยรังสีปริมาณต่ำๆ ออกมาได้ ตัวอย่างแรกที่ขอกล่าวถึง ก็คือเครื่องไมโครเวฟที่นิยมใช้ในการปรุงอาหารสำหรับห้องครัวสมัยใหม่นั่นเอง ไมโครเวฟนั้นช่วยให้การปรุงอาหารรวดเร็วขึ้นมาก ช่วยให้แม่บ้านยุคใหม่ประหยัดเวลาและสะดวกสบาย แต่ก็ทำให้มีการใช้รังสีในบ้านเพิ่มขึ้น ไมโครเวฟเป็นรังสีที่อยู่ในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีสมบัติทำให้เนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตร้อนขึ้น การรั่วไหลของรังสีไมโครเวฟออกจากเตานั้น การออกแบบฝาปิดและระบบฉนวนของเตาที่ปลอดภัยในปัจจุบันช่วยให้ลดโอกาสเกิดการรั่วไหลลงไปอย่างมาก แต่เตาไมโครเวฟรุ่นเก่าๆ ฝาปิดมีปัญหา หรือการที่มีคราบฝุ่นหรือเศษอาหารติดอยู่ที่ฝาปิด อาจเป็นเหตุให้เกิดการรั่วไหลของรังสีออกมาจากเตาได้อยู่ ผลของรังสีไมโครเวฟต่อร่างกายนั้น ถ้าได้รับเข้าไปในปริมาณสูง เป็นเวลานานๆ จะทำให้อวัยวะที่ไวต่อรังสี เช่น สมอง ตา อวัยวะสืบพันธุ์ เสื่อมลงเนื่องจากความร้อน คนที่ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจรุ่นเก่า ที่ไม่มีฉนวนกั้นรังสี อาจเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะเครื่องหยุดทำงานหรือทำงานผิดปกติขึ้นได้ ถ้าไปอยู่ใกล้เตาไมโครเวฟที่รั่ว อย่างไรก็ตามยังโชคดีที่ปริมาณรังสีที่ใช้ในเครื่องไมโครเวฟตามบ้านนั้นมักจะไม่สูงมาก ในเรื่องของการก่อมะเร็ง ยังไม่มีการพบความสัมพันธ์ของการได้รับรังสีจากเตาไมโครเวฟกับการเกิดมะเร็งขึ้น แต่เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน เราก็ควรใช้เตาไมโครเวฟอย่างระมัดระวัง โดยการทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้ ส่งไปซ่อมเมื่อเสีย ไม่เปิดเตาโดยไม่มีอาหารอยู่ภายใน ไม่ก้มหน้าลงไปดูอาหารที่กำลังปรุงในเตาในระยะประชิดเป็นเวลานานๆ เพื่อลดการได้รับรังสีของดวงตา ในคนที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ถ้าสงสัยว่าไมโครเวฟจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจได้ ควรปรึกษาแพทย์

ตัวอย่างของแหล่งรังสีชนิดต่อไปคือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน รวมถึงสายไฟ และหม้อแปลง รังสีที่เครื่องใช้ไฟฟ้าปล่อยออกมาคือรังสีในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำมาก (Extremely Low Frequency Electromagnetic Field หรือ ELF-EMF) เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิดปล่อยรังสีชนิดนี้ออกมาในปริมาณน้อยๆ แต่ในบางแหล่งจะมีการปล่อยออกมามากพอควร เช่น จากหม้อแปลง และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กรณีของการได้รับสัมผัสปริมาณน้อยๆ ซึ่งคนทุกคนต้องได้รับอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วนั้น อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก แต่การได้รับสัมผัสในปริมาณที่สูงขึ้น เช่น คนที่บ้านอยู่ใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หรือพักอาศัยอยู่ใกล้หม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เคยมีการตั้งคำถามกันขึ้นมาว่ามันจะทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นหรือไม่ เจ้าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำมากนี้ ผลการวิจัยบางการศึกษาพบความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มะเร็งสมอง และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ผลการศึกษาวิจัยบางการศึกษาก็กลับไม่พบความสัมพันธ์ ข้อสรุปที่แน่ชัดในปัจจุบันจึงยังไม่มีชัดเจน นอกจากเรื่องการก่อมะเร็งแล้ว ยังมีงานวิจัยบางการศึกษาระบุว่า การได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำมากในปริมาณสูงๆ นานๆ อาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ และโรคเส้นประสาทฝ่อได้ จากข้อสรุปที่ยังไม่มีชัดเจน แนวทางปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนในเรื่องนี้ก็คือ เราควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณใกล้กับแหล่งกำเนิดรังสีชนิดนี้นานๆ เช่น การเข้าไปยืนอยู่ใกล้กับหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

ตัวอย่างอันดับสุดท้ายของแหล่งรังสีในบ้านที่ขอกล่าวถึง ก็คือรังสีจากโทรศัพท์มือถือที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน รวมถึงสัญญาณโทรคมนาคมไร้สายหลากหลายชนิดที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วโลก คลื่นสัญญาณในระบบโทรคมนาคมไร้สายนั้น แท้จริงแล้วส่วนใหญ่เป็นช่วงคลื่นในช่วงเดียวกับคลื่นไมโครเวฟนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ สัญญาณภาพจากดาวเทียม สัญญาณเรด้า สัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wireless LAN) คลื่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในช่วงคลื่นไมโครเวฟทั้งสิ้น การใช้ประโยชน์ของคลื่นในช่วงไมโครเวฟในการติดต่อสื่อสารนั้น ทำให้เกิดระบบติดต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์ ระบบอินเตอร์เน็ต ระบบการรับส่งข้อมูลแบบไร้สาย (ไม่ว่าจะเป็น WIFI, Bluetooth หรือ WIMAX) การดูโทรทัศน์โดยรับสัญญาณจากดาวเทียม ระบบหาพิกัดและค้นหาเส้นทางโดยใช้ดาวเทียม (Global Positioning System หรือ GPS) เป็นต้น เนื่องจากการได้รับความนิยมของโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้นในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ นั้น จะทำให้เราได้รับคลื่นไมโครเวฟในปริมาณที่สูงเกิน จนก่อเกิดเป็นมะเร็งขึ้นได้หรือไม่ นักวิจัยจากทั่วโลกพยายามทำการวิจัยเพื่อตอบคำถามอันน่าสงสัยนี้ งานวิจัยหลายการศึกษาเปิดประเด็นถึงการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุดคือมะเร็งสมอง รวมถึงเนื้องอกชนิดต่างๆ ในสมองด้วย มะเร็งชนิดอื่นที่มีการสงสัยกัน เช่น มะเร็งเส้นประสาทหู มะเร็งต่อมน้ำลาย เป็นต้น ผลการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ ตีพิมพ์ในระยะเวลาไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมา การศึกษาทุกชิ้นมีข้อจำกัดในการแปลผล และมีแนวโน้มจะทำการศึกษาได้ยากขึ้น เนื่องจากโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่แพร่หลายมีจำนวนผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ผลสรุปคำตอบที่ได้ในปัจจุบันว่าการใช้โทรศัพท์มือถือจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งสมอง รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้หรือไม่สรุปว่ายังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยใหม่ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือกับการเกิดมะเร็ง ผลการวิจัยบางการศึกษาที่พบความสัมพันธ์นั้น มักพบในผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือมาเป็นเวลานาน เช่น เกิน 10 ปีขึ้นไป การศึกษาวิจัยเพื่อดูความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในอนาคต น่าจะทำให้เราได้รับทราบข้อมูลผลการก่อโรคมะเร็งเมื่อใช้โทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานหลายสิบปีได้มากขึ้น รวมถึงการก่อโรคอื่นๆ เช่น โรคระบบประสาท ต้อกระจก หรือผลต่อระบบสืบพันธุ์ สำหรับกลไกการก่อมะเร็งจากการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นมีการคาดการณ์กันไว้หลายทฤษฎี ที่ได้รับการเชื่อถือกันมากที่สุดคือการเกิดปัญหาจากความร้อน เนื่องจากคลื่นที่เครื่องปล่อยออกมาระหว่างที่กำลังคุยโทรศัพท์ ทำให้เกิดความร้อนซึ่งจะไปทำให้เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมองจนทำให้เกิดปัญหาขึ้นตามมา ทฤษฎีอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบไหลเวียนเลือดในสมอง หรือการไปเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของเซลล์ มีการกล่าวถึงบ้าง อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นเพียงทฤษฎีจากการคาดการณ์ที่ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไปในอนาคต

แม้จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสมองขึ้นได้หรือไม่ แนวการปฏิบัติตัวแบบปลอดภัยไว้ก่อนสำหรับประชาชนทั่วไปก็ยังสามารถนำมาใช้ได้อยู่ การใช้โทรศัพท์มือถือเท่าที่จำเป็น การไม่คุยโทรศัพท์เล่นเป็นเวลานานวันละหลายชั่วโมง การใช้สายต่อเพื่อไม่ต้องจ่อโทรศัพท์เข้าที่ศีรษะโดยตรง การไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้บุตรหลานวัยเยาว์ถ้าไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้อย่างยิ่งยวด เหล่านี้ ก็น่าจะเป็นการลดความเสี่ยงในการได้รับคลื่นจากโทรศัพท์มือถือลงได้อย่างสมเหตุสมผล ทั้งต่อตัวท่านเองและต่อบุตรหลานอันเป็นที่รัก