ขั้นตอนการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative Respirator Fit Testing Procedures)

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 2 มกราคม 2561


ในประเทศไทยนั้น กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 [1] ได้กำหนดให้นายจ้างจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal protective equipment; PPE) ให้ลูกจ้างสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายในการทำงานกับสารเคมีอันตรายอย่างเหมาะสม ซึ่งในการทำงานกับสารเคมีอันตราย อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ (Respirator) เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ลูกจ้างจะขาดเสียมิได้ และในการสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจให้ได้ประสิทธิภาพนั้น จำเป็นจะต้องมีการทดสอบความพอดี (Fit test) อยู่เป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนทำงาน (ลูกจ้าง) ยังคงสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจไว้ที่ใบหน้าได้อย่างกระชับ อันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันได้อย่างสูง

บทความนี้จะกล่าวถึงขั้นตอน (Procedure) หรือแบบแผน (Protocol) ในการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่อ้างอิงมาจากข้อกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา รหัส 29 CFR 1910.134 [2] ที่กำหนดไว้โดยองค์กร Occupational Safety and Health Administration (OSHA) โดยตามข้อกฎหมายที่กำหนดนี้ นายจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องจัดให้มีการทดสอบความพอดี (Fit test) ให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายให้สวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ ก่อนที่ลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายจะสวมใส่ในครั้งแรก และทำอีกเป็นระยะอย่างน้อยปีละครั้ง (Annually) สำหรับในประเทศไทยแม้ไม่มีข้อกฎหมายด้านอาชีวอนามัยบังคับให้นายจ้างต้องจัดทำการทดสอบความพอดีนี้ แต่นายจ้างสามารถพิจารณาดำเนินการแบบสมัครใจ ในการจัดให้มีการทดสอบความพอดีให้กับลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายให้สวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่อยู่ในความดูแลของตนเองได้ เพื่อประโยชน์ในด้านความปลอดภัยของลูกจ้างอย่างสูงสุด

สาเหตุที่ต้องมีการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอยู่เป็นระยะนั้น เนื่องจากมีโอกาสที่ใบหน้าของคนทำงานจะเปลี่ยนรูปทรงไป ทำให้การสวมใส่ส่วนที่สวมใส่บนใบหน้า (Facepiece) ของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจหลวมหรือแน่นขึ้น ตัวอย่างสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรูปทรงใบหน้า เช่น น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นมาก การทำฟันและดัดฟัน อุบัติเหตุที่ใบหน้าซึ่งทำให้ใบหน้าเปลี่ยนรูป แผลเป็น หนวดเคราที่ยาวขึ้น การศัลยกรรมตกแต่งที่ใบหน้า เหล่านี้เป็นต้น งานวิจัยของนักวิจัยจากองค์กร National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) [3] รายงานว่า มีคนทำงานถึงประมาณ 10 % ที่ไม่ผ่านการทดสอบความพอดี แม้ว่าจะใช้อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจรุ่นเดิมและขนาดเดิมกับปีก่อนในการทดสอบ นอกจากนี้ผลการวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า คนที่น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 20 ปอนด์ (ประมาณ 9.1 กิโลกรัม) นั้นควรทำการทดสอบความพอดีใหม่ทันที เนื่องจากมีโอกาสที่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจจะไม่พอดีสูง [3] หากส่วนที่สวมใส่บนใบหน้าของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจนั้นไม่พอดี คือมีช่องว่างด้านข้างให้อากาศลอดเข้าได้ ประสิทธิภาพในการปกป้องทางเดินหายใจของอุปกรณ์นั้นก็จะลดลงหรือล้มเหลว [4]

สำหรับชนิดของการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ จะแบ่งได้ออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test; QLFT) กับแบบเชิงปริมาณ (Quantitative fit test; QNFT)

การทดสอบความพอดีแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test; QLFT) นั้นเป็นการทดสอบที่ให้คนทำงานใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ แล้วสูดดมสารเคมีที่เป็นสารทดสอบ แล้วพิจารณาด้วยความเห็นของตนเอง (Subjective) ว่ารู้สึกได้ถึงสารทดสอบที่ใช้ทดสอบหรือไม่ ผลการทดสอบจะเป็นแบบ “ผ่าน (Pass)” คือไม่รู้สึกได้ถึงสารทดสอบ กับ “ไม่ผ่าน (Fail)” คือรู้สึกได้ถึงสารทดสอบ การทดสอบแบบเชิงคุณภาพนี้ทำได้ค่อนข้างง่ายกว่าแบบเชิงปริมาณ สามารถทำโดยบุคลากรทางด้านอาชีวอนามัยโดยทั่วไปที่ทราบขั้นตอนการปฏิบัติเป็นอย่างดีได้ (เช่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ พยาบาลอาชีวอนามัย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์) ในการทดสอบนั้นมีแบบแผนการทดสอบหลายวิธีขึ้นกับสารที่ใช้ทดสอบ [5] ได้แก่ ใช้สารมีกลิ่น คือ Isoamyl acetate (IAA) เพื่อให้คนทำงานได้กลิ่นคล้ายกล้วย, ใช้สารให้ความหวาน คือ Saccharin หรือสารให้ความขม คือ Bitrex ® ซึ่งคนทำงานจะรู้สึกว่าหวานหรือขมถ้าไม่ผ่านการทดสอบ (หมายเหตุ สารทดสอบเป็นสารให้รส แต่ใช้ในการทดสอบอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจได้ เนื่องจากในขั้นตอนการทดสอบด้วยสารเหล่านี้จะให้คนทำงานหายใจเข้าออกทางปาก), ใช้สารระคายเคือง คือ Stannic chloride smoke เพื่อให้คนทำงานรู้สึกระคายเคือง การทดสอบแบบเชิงคุณภาพนี้ เหมาะสำหรับใช้ทดสอบอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจกลุ่มที่ส่วนที่สวมใส่บนใบหน้า (Facepiece) มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบครึ่งหน้า (Half mask หรือ Half facepiece type) เท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับการใช้ทดสอบในกลุ่มที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบเต็มหน้า (Full face mask หรือ Full facepiece type) [6]

ภาพที่ 1 อุปกรณ์สำหรับทำการทดสอบความพอดีแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test) ด้วยสารให้ความหวาน (Saccharin) หรือสารให้ความขม (Bitrex ®)

สำหรับการทดสอบความพอดีแบบเชิงปริมาณ (Quantitative fit test; QNFT) นั้นเป็นการทดสอบที่จะได้ผลการทดสอบออกมาเป็นค่าตัวเลข เรียกว่า “ค่าความพอดี (Fit factor)” ซึ่งค่า Fit factor นี้คือค่าอัตราส่วนของความเข้มข้นของสารทดสอบในอากาศภายนอก ต่อความเข้มข้นของสารทดสอบในอากาศภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ เช่น หากอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจชนิดหนึ่งมีค่า Fit factor = 100 จะหมายถึง อากาศภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจชนิดนั้นสะอาดกว่าอากาศภายนอก 100 เท่าขณะที่ทำการสวมใส่ โดยองค์กร OSHA กำหนดไว้ว่า อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบครึ่งหน้า (Half mask หรือ Half facepiece type) จะต้องมีค่า Fit factor ตั้งแต่ 100 ขึ้นไป ส่วนกลุ่มที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบเต็มหน้า (Full face mask หรือ Full facepiece type) จะต้องมีค่า Fit factor ตั้งแต่ 500 ขึ้นไป จึงจะถือว่า “ผ่าน” ในการทดสอบ [2] การทดสอบแบบเชิงปริมาณนี้ทำได้ยากกว่าการทดสอบแบบเชิงคุณภาพ เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือเฉพาะที่มีความซับซ้อนกว่า มักต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือทดสอบ ซึ่งในการทดสอบเชิงปริมาณนั้นก็มีแบบแผน (Protocol) การทดสอบหลายวิธีเช่นกัน [5] ได้แก่ ใช้สารทดสอบที่ไม่เป็นอันตรายอย่าง Corn oil, Polyethylene glycol 400 (PEG 400), Di-2-ethyl hexyl sebacate (DEHS), หรือ Sodium chloride ทำให้เกิดเป็นละอองภายในห้องทดสอบ (Test chamber) แล้ววัดความเข้มข้นของละอองสารทดสอบในอากาศภายนอก เทียบกับในอากาศภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่คนทำงานสวมใส่, ใช้การวัดความเข้มข้นของละอองในอากาศทั่วไป (Ambient aerosol) ที่อยู่ภายนอกเทียบกับภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ เช่น การวัดด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า Portacount ®, ใช้การควบคุมความดันภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจให้เป็นลบ (Controlled negative pressure) แล้วให้คนทำงานกลั้นหายใจ จากนั้นวัดอัตราการรั่วของอากาศ (Leak rate) ที่รั่วไหลเข้ามาภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ แล้วนำ Leak rate มาคำนวณเทียบเป็นค่า Fit factor อีกที เช่น การวัดด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า Quantifit ® ซึ่งมีแบบแผนการทำ 2 แบบ ทั้งการทำท่าทางต่างๆ อย่างเดียว และแบบที่ให้ทำท่าทางต่างๆ ร่วมกับการให้ถอดหน้ากากแล้วใส่หน้ากากใหม่ (REDON protocol) [5] การทดสอบเชิงปริมาณนี้ สามารถใช้ทดสอบความพอดีกับอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจได้ทั้งกลุ่มที่ส่วนที่สวมใส่บนใบหน้า (Facepiece) มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบครึ่งหน้า (Half mask หรือ Half facepiece type) และกลุ่มที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบเต็มหน้า (Full face mask หรือ Full facepiece type) [6] ขั้นตอนการทำการทดสอบแบบเชิงปริมาณในรายละเอียดแต่ละแบบแผนจะไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้ เนื่องจากการทดสอบแบบเชิงปริมาณนั้นจะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ มีความซับซ้อน และมักต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือทดสอบ

ภาพที่ 2 เครื่อง Portacount ® สำหรับทำการทดสอบความพอดีแบบเชิงปริมาณ (Quantitative fit test)

สำหรับขั้นตอนการทำการทดสอบความพอดีแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test; QLFT) ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยองค์กร OSHA นั้นมาจากข้อกฎหมาย รหัส 29 CFR 1910.134 ในส่วน Appendix A [5] ซึ่งเป็นส่วนที่บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะแบบแผนที่ทำการทดสอบด้วยสารให้ความหวาน คือ Saccharin และสารให้ความขม คือ Bitrex ® เท่านั้น เนื่องจากการทดสอบด้วยสารทดสอบ 2 ชนิดนี้ค่อนข้างมีความปลอดภัยสูงและทำได้ง่าย รายละเอียดขั้นตอนการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบเชิงคุณภาพนั้นเป็นดังนี้ [5]

การจัดเตรียมขั้นพื้นฐาน (General requirements)

การจัดเตรียมขั้นพื้นฐานเหล่านี้ จะต้องทำทั้งในกรณีทำการทดสอบแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test) และแบบเชิงปริมาณ (Quantitative fit test)

  1. คนทำงานจะต้องมีโอกาสได้เลือกอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่ตนเองจะต้องใช้ โดยต้องจัดให้มีรุ่นและขนาดของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจไว้ให้คนทำงานเลือกอย่างมากเพียงพอ
  2. ก่อนที่คนทำงานจะเลือก คนทำงานจะต้องได้ดูการสาธิตการสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ, การจัดตำแหน่งส่วนที่สวมใส่บนใบหน้า, การดึงสายรัด, และการจัดให้มีความพอดี ต้องจัดให้มีกระจกเงาไว้ด้วย เพื่อช่วยคนทำงานในการจัดตำแหน่งของส่วนที่สวมใส่บนใบหน้าให้พอดี การดำเนินการนี้ไม่ถือว่าเป็นการอบรมเรื่องอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องการให้เป็นเพียงการทบทวนให้คนทำงานเข้าใจเท่านั้น
  3. ต้องให้ข้อมูลกับคนทำงานว่า เขาสามารถเลือกอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่พอดีกับเขาที่สุด อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแต่ละแบบมีขนาด (Size) และรูปร่าง (Shape) ที่แตกต่างกันไป ถ้าสวมใส่ได้พอดีและใช้อย่างถูกวิธี จะสามารถป้องกันอันตรายต่อทางเดินหายใจของคนทำงานได้
  4. เมื่อทดลองสวมใส่แล้ว อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอันใดที่ใส่แล้วพอดีให้สวมใส่ไว้ ส่วนอันใดที่ใส่แล้วรู้สึกว่าไม่พอดีให้ถอดออก
  5. หากทดลองสวมใส่ต่อไปแล้วพบว่ามีอันที่พอดียิ่งกว่า ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ ถอดอันเก่าออก แล้วสวมใส่อันที่รู้สึกว่าพอดียิ่งกว่า เมื่อได้อันที่พอดีที่สุดแล้วให้ทดลองสวมใส่ไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที เพื่อประเมินความสบายในการสวมใส่ ผู้ทำการทดสอบอาจช่วยในการประเมินความสบายในการสวมใส่โดยสอบถามถึงประเด็นต่างๆ ในข้อ 6. ถ้าคนทำงานยังไม่เคยใช้หรือไม่ชินกับการใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจชนิดที่กำลังทำการทดสอบ อาจให้คนทำงานทดลองใส่แล้วถอด 2 – 3 ครั้ง ทดลองปรับสายรัดให้มีความตึงพอดีในทุกครั้งที่ใส่
  6. การประเมินความสบายในการสวมใส่จะต้องสอบถามคนทำงานถึงประเด็นต่อไปนี้ โดยให้เวลาที่เพียงพอในการที่คนทำงานจะตัดสินความสบายในการสวมใส่
    • ตำแหน่งที่สัมผัสกับจมูก
    • ช่องว่างในส่วนที่ใช้ปกป้องดวงตา (หมายเหตุ จะมีเฉพาะกรณีอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบเต็มหน้า ส่วนในกรณีที่ทำการทดสอบแบบเชิงคุณภาพ จะทำการทดสอบกับอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบครึ่งหน้าเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องถามข้อนี้)
    • ช่องว่างสำหรับใช้ในการพูด
    • ตำแหน่งตรงบริเวณใบหน้าและแก้ม
  7. ให้ใช้เกณฑ์ต่อไปนี้ในการพิจารณาว่าการสวมใส่มีความพอดีเพียงพอหรือไม่
    • ตำแหน่งของคางพอดี
    • ความตึงของสายรัดพอดี ไม่แน่นจนเกินไป
    • ส่วนที่สัมผัสกับสันจมูกมีความพอดี
    • ระยะตั้งแต่จมูกถึงคางมีความยาวที่เพียงพอ
    • โอกาสในการลื่นหลุด
    • ให้คนทำงานส่องกระจกเพื่อดูตำแหน่งและความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ
  8. ให้คนทำงานทดสอบความแนบด้วยตนเอง (User seal check) โดยให้ทำตามวิธีที่กำหนดไว้ในข้อกฎหมาย รหัส 29 CFR 1910.134 ในส่วน Appendix B-1 [7] หรือวิธีที่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแนะนำไว้ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน ก่อนที่จะทำการทดสอบความแนบด้วยตนเอง ให้คนทำงานขยับอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจบนใบหน้าให้เข้าที่ โดยการหันหน้าช้าๆ ไปทางซ้าย-ขวา และเงยหน้าขึ้น-ลง ในขณะที่หายใจเข้าออกแบบช้าๆ ลึกๆ 2 – 3 รอบไปด้วย (หมายเหตุ ขั้นตอนในการทดสอบความแนบด้วยตนเอง ทำโดยการเอามือแนบส่วนที่สวมใส่บนใบหน้า (Facepiece) แล้วพ่นลมหายใจออก (Positive pressure check) หรือสูดลมหายใจเข้า (Negative pressure check) แล้วดูว่ามีการรั่วไหลของอากาศเข้ามาทางขอบของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจหรือไม่ การทำให้ทำทั้ง 2 วิธี โดยวิธีพ่นลมหายใจออก (Positive pressure check) ถ้าหน้ากากแบบครึ่งหน้านั้นมีวาล์วสำหรับหายใจออก (Exhalation valve) ให้เอามือปิดวาล์วไว้ด้วย ในบางรุ่นอาจต้องถอดฝาครอบวาล์ว (Exhalation valve cover) ออกก่อนที่จะใช้มือปิด (ตรวจสอบจากคำแนะนำการใช้งานของบริษัทผู้ผลิต) หากไม่มีวาล์วให้ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างแนบกับหน้ากากไว้ เมื่อพ่นลมหายใจออกช้าๆ แล้ว หากรู้สึกได้ถึงแรงดันอากาศภายในที่เพิ่มขึ้น และไม่รู้สึกว่ามีอากาศรั่วไหลออกทางขอบของหน้ากากก็ถือว่าใช้ได้ ส่วนวิธีสูดลมหายใจเข้า (Negative pressure check) ถ้าหน้ากากแบบครึ่งหน้านั้นเป็นรุ่นที่มีตลับ (Cartridge) หรือกระป๋อง (Canister) กรองสารเคมี ให้ปิดส่วนอากาศเข้า (Inlet) ด้วยมือหรือใส่ฝาครอบตัวกรอง (Filter seal) หรือบางรุ่นอาจต้องใช้ถุงมือยาง (Latex) หรือถุงมือไนไตรล์ (Nitrile glove) มาปิด จึงจะปิดการผ่านของอากาศได้สนิท (ตรวจสอบจากคำแนะนำการใช้งานของบริษัทผู้ผลิต) หากเป็นรุ่นที่ไม่มีตลับหรือกระป๋องกรองสารเคมีให้ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างแนบกับหน้ากากไว้ เมื่ออุดทางผ่านของอากาศเข้าแล้วให้สูดลมหายใจเข้าช้าๆ แล้วค้างไว้ 10 วินาที ถ้ารู้สึกได้ว่าภายในมีการยุบลงเล็กน้อย และไม่รู้สึกว่ามีอากาศรั่วไหลเข้ามาทางขอบของหน้ากากก็ถือว่าใช้ได้ นอกจากวิธีการทดสอบความแนบด้วยตนเองแบบทั่วไปที่กล่าวถึงทั้ง 2 วิธีนี้แล้ว เนื่องจากความหลากหลายของชนิดของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ วาล์ว รวมถึงตลับและกระป๋องกรองสารเคมี บางครั้งอาจต้องทำการทดสอบความแนบด้วยตนเองด้วยวิธีการที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำไว้ ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีทั่วไปดังที่กล่าวมาก็ได้ [7])
  9. จะไม่ทดสอบความพอดี ถ้ามีขนที่ใบหน้าของคนทำงาน (เช่น หนวด เครา จอน) ขึ้นอยู่ตรงบริเวณขอบของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจส่วนที่แนบติดกับใบหน้า (หมายเหตุ กรณีอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่เป็นหน้ากากแบบครึ่งหน้า แก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการจัดขยับตำแหน่งของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ แต่ถ้าหนวดเครายาวและดกมากจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการจัดขยับตำแหน่งได้ ต้องให้คนทำงานเลือกใช้อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจชนิดอื่น เช่น แบบเต็มหน้า หรือแบบคลุมทั้งศีรษะ) สำหรับเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องประดับของคนทำงานที่อาจรบกวนความพอดีในการสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ จะต้องถูกจัดขยับไม่ให้รบกวนหรือถอดออกก่อน
  10. ถ้าคนทำงานมีอาการหายใจลำบากในขณะที่ทำการทดสอบความพอดี จะต้องส่งต่อคนทำงานนั้นไปพบแพทย์ เพื่อประเมินว่าคนทำงานผู้นั้นสามารถสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้หรือไม่
  11. ถ้าทำการทบสอบความพอดีแล้วพบว่าอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอันที่เลือกมาทดสอบนั้นไม่พอดี ผู้ทดสอบต้องเปิดโอกาสให้คนทำงานเลือกอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอันใหม่ แล้วนำมาทำการทดสอบความพอดีใหม่ได้
  12. ก่อนที่จะเริ่มทำการทดสอบความพอดี คนงานจะต้องได้รับการอธิบายรายละเอียดของขั้นตอนการทดสอบ และหน้าที่ของตนเองในระหว่างการทดสอบ คำอธิบายนี้จะต้องรวมถึงรายละเอียดของท่าทางต่างๆ ที่กำหนดให้คนทำงานทำในระหว่างการทดสอบด้วย คนทำงานจะต้องใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอันที่ใช้ทดสอบนานอย่างน้อย 5 นาทีก่อนที่จะเริ่มต้นการทดสอบ
  13. หากในเวลาที่ทำงานจริง คนทำงานจะต้องใส่อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย (Safety equipment) ชนิดอื่นๆ ร่วมไปกับอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจด้วย และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเหล่านั้นอาจมีผลขัดขวางต่อการใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจให้พอดี ก็ต้องจัดให้คนทำงานใส่อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเหล่านั้นร่วมไปด้วยในระหว่างที่ทำการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ
  14. ท่าทางต่างๆ ที่กำหนดให้ทำ (Test exercises)

(หมายเหตุ สำหรับการทดสอบแบบเชิงคุณภาพทุกแบบแผน จะใช้ท่าทางตามรายการที่กำหนดนี้ในการทดสอบ แต่การทดสอบแบบเชิงปริมาณบางแบบแผน อาจมีท่าทางที่กำหนดให้คนทำงานทำต่างออกไปเป็นการเฉพาะได้ ซึ่งจะแตกต่างไปจากท่าทางในรายการนี้)

    • ให้จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม แล้วให้คนทำงานทำท่าทางต่างๆ ที่กำหนดไว้นี้
      1. หายใจปกติ (Normal breathing) ในท่ายืนตรงปกติ โดยไม่พูด คนทำงานจะต้องมีการหายใจที่ปกติ ทำไปเรื่อยๆ
      2. หายใจลึกๆ (Deep breathing) ในท่ายืนตรงปกติ หายใจช้าๆ (Slowly) และลึกๆ (Deeply) ระวังอย่าหายใจเร็ว ทำไปเรื่อยๆ
      3. หันหน้าไปทางซ้าย-ขวา (Turning head side-to-side) ยืนอยู่กับที่ หันหน้าไปทางซ้ายหรือขวาไปจนสุด โดยหันช้าๆ สุดแล้วค้างไว้พักหนึ่งและหายใจเข้า จากนั้นจึงหันไปอีกด้านหนึ่งพร้อมหายใจออก หันไปจนสุด ค้างไว้พักหนึ่งและหายใจเข้า ทำสลับกันไปเรื่อยๆ
      4. เงยหน้าขึ้น-ลง (Moving head up and down) ยืนอยู่กับที่ เงยศีรษะขึ้นจนสุดช้าๆ จากนั้นก้มศีรษะลงจนสุดช้าๆ ให้หายใจเข้าเมื่อเงยศีรษะขึ้นจนสุด (ตอนที่มองเพดาน) และหายใจออกเมื่อกำลังก้ม ทำไปเรื่อยๆ
      5. พูด (Talking) ให้คนทำงานพูดออกเสียงช้าๆ และดังเพียงพอที่ผู้ทำการทดสอบจะได้ยินอย่างชัดเจน โดยอาจให้อ่านข้อความเรื่อง “Rainbow Passage” ที่ผู้ทำการทดสอบเตรียมไว้, หรือให้นับเลขย้อนจาก 100 ถึง 1, หรือให้ท่องกลอนหรือร้องเพลงที่รู้จักก็ได้ ข้อความเรื่อง Rainbow Passage มีเนื้อหาดังนี้
          • Rainbow Passage
          • “When the sunlight strikes raindrops in the air, they act like a prism and form a rainbow. The rainbow is a division of white light into many beautiful colors. These take the shape of a long round arch, with its path high above, and its two ends apparently beyond the horizon. There is, according to legend, a boiling pot of gold at one end. People look, but no one ever finds it. When a man looks for something beyond reach, his friends say he is looking for the pot of gold at the end of the rainbow.” [5]
          • (หมายเหตุ ในขั้นตอนนี้สำหรับคนทำงานชาวไทย อาจให้ร้องเพลงที่เป็นที่รู้จักดีและมีความยาวพอประมาณ เช่น “เพลงรำวงลอยกระทง” แทนก็ได้)
      6. ก้มเอว (Bending over) ให้คนทำงานค่อยๆ ก้มเอวลงจนนิ้วมือแตะปลายเท้า หรือมากที่สุดเท่าที่จะก้มได้ จากนั้นเงยขึ้น แล้วก้มซ้ำอีก ทำช้าๆ ไปเรื่อยๆ (หมายเหตุ ขณะที่ก้มระวังส่วนที่ครอบศีรษะ (Hood) ที่ใช้ในการทดสอบร่วงหลุด โดยอาจใช้มือช่วยจับไว้) ถ้าพื้นที่ทดสอบไม่เอื้ออำนวยต่อการทำท่าก้มเอว ให้คนทำงานทำท่าวิ่งอยู่กับที่ (Jogging in place) แทนก็ได้
      7. หายใจปกติ (Normal breathing) กลับมาหายใจแบบปกติอีกรอบ เหมือนในข้อ 1.
    • การทดสอบทุกท่าให้ทำเป็นเวลานาน 1 นาที หลังจากทำทุกท่าครบแล้วให้ผู้ทำการทดสอบสอบถามคนทำงานถึงความสบายของการสวมใส่ว่ายังปกติหรือไม่ ถ้าความสบายของการสวมใส่อยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้ ให้เลือกอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจรุ่นอื่นมาทำการทดสอบใหม่ เมื่อเริ่มทำท่าทางต่างๆ ตามขั้นตอนไปแล้ว จะต้องไม่มีการจัดขยับอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่สวมใส่อีก หากมีการเผลอจัดขยับจะต้องหยุดการทำท่าทางต่างๆ แล้วถือว่าเป็นโมฆะไป แล้วให้เริ่มทำการทดสอบใหม่

แบบแผนการทดสอบแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test protocols)

  1. บททั่วไป (General)
    • นายจ้างจะต้องทำให้มั่นใจว่า บุคคลที่มาทำหน้าที่เป็นผู้ทำการทดสอบความพอดีแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test) ให้กับคนทำงานนั้น มีความสามารถในการเตรียมสารทดสอบ, สอบเทียบเครื่องมือทดสอบ, ดำเนินขั้นตอนการทดสอบ, และทราบถึงลักษณะการทดสอบที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงจะต้องทำให้มั่นใจว่า เครื่องมืออุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการทดสอบยังใช้การได้ดี
    • นายจ้างจะต้องทำให้มั่นใจว่า เครื่องมืออุปกรณ์ที่นำมาใช้ทดสอบความพอดีแบบเชิงคุณภาพนั้นมีความสะอาด และได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี เพื่อให้เครื่องมือสามารถนำมาใช้ในการทดสอบได้ตามขีดความสามารถของเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้ถูกออกแบบเอาไว้
  2. แบบแผนการทดสอบด้วยสารให้ความหวาน (Saccharin solution aerosol protocol)
    • ก่อนที่จะเริ่มการทดสอบ จะต้องอธิบายให้คนทำงานรับทราบขั้นตอนในการคัดกรองและการทดสอบทั้งหมดทุกขั้นตอนเสียก่อน
    • การคัดกรองความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold screening) ในขั้นตอนการคัดกรองนี้ให้ดำเนินการโดยคนทำงานยังไม่ต้องใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ จุดประสงค์ของการทำเพื่อประเมินว่าคนทำงานผู้นั้นสามารถรับรู้รสของสารละลาย Saccharin ได้หรือไม่
      1. ระหว่างการคัดกรองความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold screening) และการทดสอบความพอดี (Fit test) คนทำงานจะต้องใส่ถุงคลุมศีรษะ (Test enclosure หรือ Hood) ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงคลุมตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงบริเวณไหล่ ถุงคลุมศีรษะนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 นิ้ว และสูงประมาณ 14 นิ้ว ด้านหน้าต้องมีลักษณะใส และกว้างพอที่จะให้คนทำงานขยับศีรษะได้อย่างอิสระเมื่อสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแล้ว ถุงคลุมศีรษะแบบดังที่กล่าวมา มีลักษณะเทียบเท่าได้กับชุดคลุมศีรษะยี่ห้อ 3M ชิ้นส่วน #FT14 กับ #FT15 ที่เอามาประกอบกัน
      2. ถุงคลุมศีรษะจะต้องมีรูขนาด ¾ นิ้ว (1.9 เซนติเมตร) จำนวน 1 รู อยู่ตรงกับบริเวณใกล้กับจมูกและปากของคนทำงาน เพื่อใช้ในการสอดปลายท่อของที่พ่นละออง (Nebulizer nozzle) เข้าไป
      3. ให้คนทำงานสวมถุงคลุมศีรษะ ตลอดขั้นตอนการคัดกรอง ให้คนทำงานหายใจเข้าออกผ่านทางปากที่อ้าและแลบลิ้นออกมาเล็กน้อย ให้คนทำงานแจ้งผู้ทำการทดสอบทันทีเมื่อรู้สึกได้ถึงรสหวาน
      4. ใช้ที่พ่นละออง (Nebulizer) ยี่ห้อ DeVilbiss Model 40 Inhalation Medication Nebulizer หรือที่เทียบเท่า ให้ผู้ทำการทดสอบฉีดพ่น (Spray) ละอองสารละลายเพื่อตรวจสอบการรับรส (Threshold check solution) เข้าไปในถุงคลุมศีรษะ โดยไม่หันปลายท่อของที่พ่นละอองไปทางจมูกและปากของคนทำงานโดยตรง ที่พ่นละอองอันที่ใช้ในการคัดกรองนี้ จะต้องถูกทำสัญลักษณ์ให้แตกต่างอย่างชัดเจนจากที่พ่นละอองอันที่ใช้ในการทดสอบความพอดี
      5. สารละลายเพื่อตรวจสอบการรับรส (Threshold check solution) สามารถเตรียมได้โดยละลาย Sodium saccharin ปริมาณ 0.83 กรัม ลงในน้ำอุ่น 100 มิลลิลิตร หรืออาจเตรียมโดยใส่สารละลายเพื่อทดสอบความพอดี (Fit test solution) ปริมาณ 1 มิลลิลิตร ลงในน้ำกลั่น 100 มิลลิลิตรก็ได้ (หมายเหตุ ชุดทดสอบความพอดีสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายบางยี่ห้อ อาจทำการเตรียมสารละลายเพื่อตรวจสอบการรับรสบรรจุเสร็จในขวดไว้ให้แล้ว)
      6. ในการทำให้เกิดละออง (Aerosol) ให้ผู้ทำการทดสอบบีบกระเปาะที่พ่นละออง (Nebulizer bulb) อย่างแรงจนกระเปาะแบนสนิท จากนั้นจึงปล่อยจนกระเปาะกลับมาป่องเต็มที่อีกครั้งจึงเริ่มบีบครั้งต่อไป
      7. ให้ผู้ทำการทดสอบบีบกระเปาะที่พ่นละออง 10 ครั้งต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว ระหว่างนั้นให้สอบถามคนทำงานว่ารู้สึกได้ถึงรสหวานหรือไม่ ถ้าคนทำงานแจ้งว่ารู้สึกได้ถึงรสหวานแล้ว ถือว่าการคัดกรองสำเร็จ ให้หยุดบีบกระเปาะที่พ่นละออง แล้วให้ผู้ทำการทดสอบบันทึกระดับความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold) ไว้ว่า “10” ไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วคนทำงานจะสามารถเริ่มรับรู้รสได้ตั้งแต่การบีบกระเปาะครั้งที่เท่าไรก็ตาม
      8. ถ้าหลังจากการบีบกระเปาะที่พ่นละออง 10 ครั้งแรก คนทำงานยังไม่สามารถรับรู้ได้ถึงรสหวาน ให้บีบกระเปาะที่พ่นละอองอีก 10 ครั้งต่อเนื่องกัน ร่วมกับสอบถามคนทำงานว่ารับรู้ได้ถึงรสหวานหรือไม่ ถ้าคนทำงานแจ้งว่ารู้สึกได้ถึงรสหวานแล้ว ถือว่าการคัดกรองสำเร็จ ให้หยุดบีบกระเปาะที่พ่นละออง แล้วให้ผู้ทำการทดสอบบันทึกระดับความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold) ไว้ว่า “20” ไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วคนทำงานจะสามารถเริ่มรับรู้รสได้ตั้งแต่การบีบกระเปาะครั้งที่เท่าไรก็ตาม
      9. ถ้าหลังจากบีบกระเปาะที่พ่นละออง 10 ครั้งในรอบที่สอง คนทำงานก็ยังไม่สามารถรับรู้ได้ถึงรสหวาน ให้บีบกระเปาะที่พ่นละอองอีก 10 ครั้งต่อเนื่องกัน ร่วมกับสอบถามคนทำงานว่ารับรู้ได้ถึงรสหวานหรือไม่ ถ้าคนทำงานแจ้งว่ารู้สึกได้ถึงรสหวานแล้ว ถือว่าการคัดกรองสำเร็จ ให้หยุดบีบกระเปาะที่พ่นละออง แล้วให้ผู้ทำการทดสอบบันทึกระดับความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold) ไว้ว่า “30” ไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วคนทำงานจะสามารถเริ่มรับรู้รสได้ตั้งแต่การบีบกระเปาะครั้งที่เท่าไรก็ตาม
      10. ผู้ทำการทดสอบบันทึกตัวเลขจำนวนครั้งของการบีบกระเปาะ (10, 20, หรือ 30 ครั้งแล้วแต่บุคคล) ที่ใช้ในการหาระดับความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold) ของคนทำงานเอาไว้
      11. ถ้าหากหลังจากบีบกระเปาะที่พ่นละอองเป็นจำนวนรวม 30 ครั้งแล้ว คนทำงานยังไม่สามารถรับรู้ได้ถึงรสหวาน จะถือว่าคนทำงานผู้นั้นไม่สามารถรับรู้รสหวานของสาร Saccharin ได้ คนทำงานผู้นั้นไม่สามารถทำการทดสอบความพอดีโดยวิธีการใช้สาร Saccharin ได้ (หมายเหตุ ให้ใช้การทดสอบความพอดีแบบแผนอื่นแทน)
        • ข้อสังเกต หากคนทำงานกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานมาก่อนที่จะทำการคัดกรอง คนทำงานผู้นั้นอาจไม่สามารถรับรู้ได้ถึงรสหวานในสารละลาย Saccharin ที่เจือจางนี้ได้ (หมายเหตุ การสอบถามคนทำงานว่ากินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานมาก่อนหรือไม่ และถ้ากินหรือดื่มมาอาจให้ดื่มน้ำเปล่าก่อนทำการคัดกรอง อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้)
      12. เมื่อคนทำงานแจ้งว่าสามารถรับรู้ได้ถึงรสหวานแล้ว ให้ผู้ทำการทดสอบแจ้งคนทำงานให้จดจำความรู้สึกนี้ไว้ เพื่อใช้สำหรับการทดสอบความพอดีต่อไป
      13. ในการใช้ที่พ่นละอองอย่างถูกต้อง ควรเติมสารละลายลงในที่พ่นละอองเป็นปริมาณครั้งละประมาณ 1 มิลลิลิตร
      14. จะต้องล้างที่พ่นละอองด้วยน้ำเปล่า สลัดให้แห้ง และเติมสารละลายที่ใช้ทดสอบเข้าไปใหม่อย่างน้อยทุกครึ่งวัน หรืออย่างน้อยทุก 4 ชั่วโมง (หมายเหตุ ข้อกำหนดนี้เพื่อป้องกันกรณีที่ทำการทดสอบในคนทำงานจำนวนมาก หากใช้ที่พ่นละอองอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน อาจเกิดการอุดตันภายในที่พ่นละออง ทำให้บีบกระเปาะแล้วไม่เกิดละอองได้ จึงมีการกำหนดให้ล้างแล้วเติมสารละลายใหม่อย่างน้อยทุก 4 ชั่วโมง)
    • ขั้นตอนการทดสอบด้วยสารให้ความหวาน (Saccharin solution aerosol fit test procedure)
      1. คนทำงานจะต้องไม่กินอาหาร, ไม่ดื่มเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า), ไม่สูบบุหรี่, และไม่เคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นเวลา 15 นาทีก่อนการทดสอบ
      2. ในการทดสอบความพอดี ใช้ถุงคลุมศีรษะแบบเดียวกับที่ใช้ในขั้นตอนการคัดกรอง
      3. ให้คนทำงานสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอันที่ได้เลือกเอาไว้ แล้วสวมถุงคลุมศีรษะ อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจจะต้องจัดให้เข้าที่มากที่สุด และถ้าเป็นรุ่นที่มีแผ่นกรองอนุภาค (Particulate filter) จะต้องติดเอาไว้ให้ครบถ้วนด้วย
      4. ใช้ที่พ่นละออง (Nebulizer) ยี่ห้อ DeVilbiss Model 40 Inhalation Medication Nebulizer หรือที่เทียบเท่า อีกอันหนึ่งในการฉีดพ่น (Spray) สารละลายเพื่อทดสอบความพอดี (Fit test solution) ที่พ่นละอองอันที่ใช้ในการทดสอบความพอดีนี้ จะต้องถูกทำสัญลักษณ์ให้แตกต่างอย่างชัดเจนจากที่พ่นละอองอันที่ใช้ในการคัดกรอง
      5. สารละลายเพื่อทดสอบความพอดี (Fit test solution) นั้น สามารถเตรียมได้โดยละลาย Sodium saccharin ปริมาณ 83 กรัม ลงในน้ำอุ่น 100 มิลลิลิตร (หมายเหตุ ชุดทดสอบความพอดีสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายบางยี่ห้อ อาจทำการเตรียมสารละลายเพื่อทดสอบความพอดีบรรจุเสร็จในขวดไว้ให้แล้ว)
      6. ในระหว่างการทดสอบความพอดีนั้น ให้คนทำงานหายใจเข้าออกผ่านทางปากที่อ้าและแลบลิ้นออกมาเล็กน้อย เหมือนกับในขั้นตอนการคัดกรอง และให้คนทำงานแจ้งผู้ทำการทดสอบทันทีเมื่อรู้สึกได้ถึงรสหวาน
      7. สอดปลายท่อของที่พ่นละออง (Nebulizer nozzle) เข้าไปในรูที่อยู่ด้านหน้าของถุงคลุมศีรษะ แล้วบีบกระเปาะที่พ่นละออง (Nebulizer bulb) เพื่อให้ละอองของสารละลายกระจายเข้าสู่ภายใน จำนวนครั้งของการบีบกระเปาะที่พ่นละอองในรอบแรกนี้ ให้บีบเท่ากับตัวเลขจำนวนครั้งของการบีบกระเปาะที่ใช้ในการหาระดับความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold) ของคนทำงานที่ได้บันทึกเอาไว้ในขั้นตอนการคัดกรอง (อาจจะ 10, 20, หรือ 30 ครั้งแล้วแต่บุคคล) ถ้าทำถูกต้อง จำนวนการบีบกระเปาะอย่างน้อยที่สุดต้อง 10 ครั้ง
      8. หลังจากพ่นละอองเข้าไปในถุงคลุมศีรษะแล้ว ให้คนทำงานเริ่มทำท่าทางต่างๆ ที่กำหนดให้ทำ (Test exercises) ไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนครบทุกท่า (ดูท่าทางต่างๆ ที่กำหนดให้ทำจากหัวข้อ การจัดเตรียมขั้นพื้นฐาน (General requirements) ข้อที่ 14.
      9. ทุก 30 วินาที ให้ผู้ทำการทดสอบใช้ที่พ่นละอองฉีดพ่นละอองสารละลายเข้าไปในถุงคลุมศีรษะเพิ่มเติม โดยจำนวนครั้งของการบีบกระเปาะในการพ่นละอองเพิ่มเติมนี้ ให้เป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนที่พ่นในครั้งแรก (คือ 5, 10, หรือ 15 ครั้งแล้วแต่บุคคล)
      10. ในระหว่างทำการทดสอบไม่ว่าในเวลาใดก็ตาม หากคนทำงานรู้สึกได้ถึงรสหวานของสารละลาย Saccharin ขึ้นมา (หมายเหตุ รสแบบเดียวกับที่รู้สึกได้ในขั้นตอนการคัดกรองที่ให้จดจำไว้) ให้คนทำงานแจ้งผู้ทำการทดสอบทันที ถ้าทำท่าทางต่างๆ ที่กำหนดให้ทำจนครบแล้ว คนทำงานไม่รู้สึกถึงรสหวานของสารละลาย Saccharin เลย แปลว่าการทดสอบนั้น “ผ่าน (Pass)”
      11. ถ้าคนทำงานรู้สึกได้ถึงรสหวานของสารละลาย Saccharin แปลว่าความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจนั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ และถือว่าการทดสอบนั้น “ไม่ผ่าน (Fail)” ให้คนทำงานลองเลือกอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอันอื่น แล้วนำมาทำการทดสอบความพอดีตามแบบแผนตั้งแต่ต้นใหม่ (คือทำการคัดกรองความสามารถขั้นต่ำในการรับรส ต่อด้วยทำการทดสอบความพอดี)
      12. เนื่องจากที่พ่นละอองอาจอุดตันได้ในระหว่างการใช้งาน ผู้ทำการทดสอบควรตรวจสอบเป็นระยะว่าที่พ่นละอองนั้นไม่ได้อุดตันในระหว่างทำการทดสอบ ถ้าพบว่ามีการอุดตันของที่พ่นละอองหลังจากทำการทดสอบเสร็จแล้ว จะถือว่าการทดสอบนั้นไม่น่าเชื่อถือและเป็นโมฆะ
  3. แบบแผนการทดสอบด้วยสารให้ความขม (Bitrex ® solution aerosol qualitative fit test protocol) แบบแผนการทดสอบด้วยสารให้ความขม (Bitrex ® solution aerosol qualitative fit test protocol) นั้น มีการดำเนินการเช่นเดียวกับแบบแผนการทดสอบด้วยสารให้ความหวาน (Saccharin solution aerosol protocol) ซึ่งเป็นแบบแผนที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างอยู่เดิมแล้ว
    • สาร Bitrex ® หรือชื่อทางเคมีคือ Denatonium benzoate เป็นสารที่มีรสขมอย่างมาก แต่ไม่มีความเป็นอันตราย ปกติจะนำมาใช้ประโยชน์ในการเติมลงในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านที่เป็นของเหลวเพื่อป้องกันเด็กกินโดยไม่ตั้งใจ การใช้สารนี้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้รับการรับรองจากสมาคมแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Medical Association), สภาความปลอดภัยแห่งชาติ (National Safety Council), และสมาคมศูนย์ควบคุมพิษแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Association of Poison Control Centers) [5]
    • ก่อนที่จะเริ่มการทดสอบ จะต้องอธิบายให้คนทำงานรับทราบขั้นตอนในการคัดกรองความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold screening) และการทดสอบความพอดี (Fit test) ทั้งหมดทุกขั้นตอนเสียก่อน
    • ขั้นตอนในการคัดกรองความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold screening) และการทดสอบความพอดี (Fit test) ให้ทำเหมือนแบบแผนการทดสอบด้วยสารให้ความหวาน (Saccharin solution aerosol protocol) ทุกประการ ยกเว้นจุดที่แตกต่างกันดังนี้
      1. ในขั้นตอนทั้งหมด เปลี่ยนคำว่า “รสหวาน” เป็น “รสขม” และเปลี่ยนคำว่า “Saccharin” เป็น “Bitrex ®”
      2. การเตรียมสารละลายเพื่อตรวจสอบการรับรส (Threshold check solution) เตรียมโดยเติม Bitrex ® ปริมาณ 13.5 มิลลิกรัม ลงในน้ำเกลือความเข้มข้น 5 % (5 % Sodium chloride solution in water) ปริมาณ 100 มิลลิลิตร
      3. การเตรียมสารละลายเพื่อทดสอบความพอดี (Fit test solution) เตรียมโดยเติม Bitrex ® ปริมาณ 337.5 มิลลิกรัม ลงในน้ำเกลือความเข้มข้น 5 % (5 % Sodium chloride solution in water) ปริมาณ 200 มิลลิลิตร

ภาพที่ 3 การคัดกรองความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold screening)

ภาพที่ 4 การทดสอบท่าที่ 1 หายใจปกติ (Normal breathing)

ภาพที่ 5 การทดสอบท่าที่ 2 หายใจลึกๆ (Deep breathing)

ภาพที่ 6 การทดสอบท่าที่ 3 หันหน้าไปทางซ้าย- ขวา (Turning head side-to-side)

ภาพที่ 7 การทดสอบท่าที่ 4 เงยหน้าขึ้นลง (Moving head up and down)

ภาพที่ 8 การทดสอบท่าที่ 5 พูด (Talking)

ภาพที่ 9 การทดสอบท่าที่ 6 ก้มเอว (Bending over)

ภาพที่ 10 การทดสอบท่าที่ 7 หายใจปกติ (Normal breathing)

เอกสารอ้างอิง

  1. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนที่ 113 ก. (ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2556).
  2. Occupational Safety and Health Administration (OSHA). 29 CFR 1910.134 – Respiratory protection [Internet]. 2017 [cited 2017 Dec 30]. Available from: https://www.osha.gov/pls/oshaweb/owadisp.show_document?p_table=STANDARDS&p_id=12716.
  3. Zhuang Z, Bergman M, Brochu E, Palmiero A, Niezgoda G, He X, et. al. Temporal changes in filtering-facepiece respirator fit. J Occup Environ Hyg 2016;13(4):265-74.
  4. National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH). Infographic – Why are annual fit tests required? [Internet]. 2017 [cited 2017 Dec 30]. Available from: https://www.cdc.gov/niosh/npptl/pdfs/Fit-test-10.508_FNL.pdf.
  5. Occupational Safety and Health Administration (OSHA). 29 CFR 1910.134 Appendix A – Fit testing procedures (mandatory) [Internet]. 2017 [cited 2017 Dec 30]. Available from: https://www.osha.gov/pls/oshaweb/owadisp.show_document?p_table=standards&p_id=9780.
  6. Health and Safety Executive (HSE). Respiratory protective equipment at work, 4th ed. [Internet]. 2013 [cited 2017 Dec 30]. Available from: http://www.hse.gov.uk/pUbns/priced/hsg53.pdf.
  7. Occupational Safety and Health Administration (OSHA). 29 CFR 1910.134 Appendix B-1 – User seal check procedures (mandatory) [Internet]. 2017 [cited 2017 Dec 31]. Available from: https://www.osha.gov/pls/oshaweb/owadisp.show_document?p_table=STANDARDS&p_id=9781.