แรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์

หนังสือเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

ชื่อหนังสือ: แรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (First Step to Occupational Medicine)

คลิกที่ภาพเพื่อดาวน์โหลด

ชื่อหนังสือ

แรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (First Step to Occupational Medicine)

เรียบเรียงโดย

วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, จุฑารัตน์ จิโน, นวพรรณ ผลบุญ

ครั้งที่พิมพ์

พิมพ์ครั้งที่ 3

วันที่เผยแพร่

20 เมษายน พ.ศ. 2562

จำนวนหน้า

124 หน้า

เกี่ยวกับเนื้อหา

ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาได้หลายสิบปีแล้ว เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 นับจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นเวลาได้กว่าครึ่งศตวรรษ การพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิต และการค้า ทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งขึ้นในประเทศมากมาย การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นทำให้สภาพสังคม ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไปทั่วโลก

วิชาอาชีวเวชศาสตร์เป็นวิชาที่พัฒนาขึ้นมาตามปัญหาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดังกล่าว จุดมุ่งหมายของวิชาก็เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้ความเข้าใจ ทำให้สามารถดูแลปัญหาสุขภาพของคนทำงานในโลกยุคใหม่ได้ ความเข้าใจแต่เพียงตัวโรคนั้นอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพแบบองค์รวมในยุคแห่งความสลับซับซ้อนของปัญหาเช่นในยุคปัจจุบัน วิชาอาชีวเวชศาสตร์จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาสุขภาพของคนทำงานอย่างถ่องแท้และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้แก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาได้อย่างตรงจุด

อย่างไรก็ตามเนื้อหาของวิชาอาชีวเวชศาสตร์ทั้งหมดนั้นมีปริมาณมหาศาล เกี่ยวโยงกับศาสตร์ความรู้ด้านต่างๆ อย่างมากมาย ตำราอาชีวเวชศาสตร์มาตรฐานที่จัดพิมพ์ในต่างประเทศนั้น บางเล่มจึงมีความหนาถึงหลายพันหน้า การเริ่มต้นศึกษาวิชานี้จากตำราของต่างประเทศที่มีความหนาหลายพันหน้านั้น อาจทำให้เกิดความท้อใจและความสับสนแก่ผู้เริ่มเรียนรู้ได้ ด้วยเหตุนี้ทางคณะผู้เรียบเรียงจึงได้จัดทำตำราพื้นฐานทางด้านอาชีวเวชศาสตร์เล่มเล็กๆ นี้ขึ้นมาไว้ให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยพยายามย่นย่อเอาแต่หลักทฤษฎีที่สำคัญมารวบรวมไว้ ด้วยหวังจะให้เป็นจุดเริ่มต้นที่เข้าใจง่ายแก่ผู้เริ่มเรียนรู้ อีกทั้งยังมุ่งประสงค์จะแจกจ่ายโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้ความรู้แพร่หลายไปได้มากที่สุดอีกด้วย

ตำรา “แรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์” เล่มนี้ จึงเหมาะกับผู้เริ่มต้นสนใจในวิชาอาชีวเวชศาสตร์ทุกท่าน หวังว่าเนื้อหาที่สั้นกะทัดรัดของตำราเล่มนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจในหลักทฤษฎีพื้นฐานของวิชาอาชีวเวชศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว ในการเรียบเรียงเนื้อหานั้น คณะผู้เรียบเรียงได้พยายามเลือกใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย และตรวจสอบให้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่หากยังมีข้อผิดพลาดประการใดก็ตามเกิดขึ้น ทางคณะผู้เรียบเรียงก็ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วย