ประวัติของ วิลเลียม พี. แย็นต์ ผู้บุกเบิกวงการสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย ดร.สรรพัชญ์ ศิริสวัสดิ์

วันที่เผยแพร่ 12 พฤศจิกายน 2563


ประวัติของ วิลเลียม พี. แย็นต์ ผู้บุกเบิกวงการสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

วิลเลียม พี. แย็นต์
(ที่มา: Am Ind Hyg Assoc J, Volume 24 Number 1, 1963)

  • ศาสตร์ทางด้าน “สุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial hygiene)” หรือที่อาจเรียกว่า “อาชีวสุขศาสตร์ (Occupational hygiene)” เป็นศาสตร์ความรู้ที่ใช้หลักการคาดการณ์ (Anticipation), การตระหนักรู้ (Recognition), การประเมิน (Evaluation), และการควบคุม (Control) สิ่งคุกคามต่อสุขภาพในสถานที่ทำงาน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพให้กับคนทำงานและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

  • ผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม จะเรียกว่า “นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial hygienist)” ซึ่งถือเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน

  • โดยการดำเนินงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมนั้น มีการปฏิบัติมาตั้งแต่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม [1] เช่น ในสหราชอาณาจักร มีการออกกฎหมายแต่งตั้งให้มีผู้ตรวจโรงงาน (Factory inspector) เพื่อทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833, การป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร (Machine guarding) เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ในราวช่วงปี ค.ศ. 1840, หรือการพัฒนาในเรื่องระบบระบายอากาศ (Ventilation) ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ในราวช่วงปี ค.ศ. 1920 [1] แต่การรวมกลุ่มของผู้ที่ทำงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นวิชาชีพนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมอย่างชัดเจนนั้น เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบุคคลผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในยุคบุกเบิกของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือ ดร.วิลเลียม พี. แย็นต์ (Dr. William P. Yant)

  • วิลเลียม พี. แย็นต์ (ค.ศ. 1893 – 1963) เกิดที่รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาจบการศึกษาจากวิทยาลัยแห่งวูสเตอร์ (College of Wooster) ในปี ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 1 (สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดในช่วง ค.ศ. 1914 – 1918) หลังจบการศึกษา เขาได้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการสงครามเคมี (Chemical warfare service) และได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านการพัฒนาวัสดุดูดซับในหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ [2]

  • ต่อมาในราวปี ค.ศ. 1921 เขาได้เข้าทำงานที่สำนักเหมืองแร่แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Bureau of Mine) ในตำแหน่งนักเคมีประจำห้องปฏิบัติการแก๊ส (Gas laboratory) หลังจากนั้นได้เปลี่ยนไปทำงานในตำแหน่งวิศวกรควบคุม (Supervising engineer) และในปี ค.ศ. 1931 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานีทดลองประจำเมืองพิตต์สเบิร์ก (Head of Experiment Station in Pittsburgh) [3]

  • ในช่วงที่ทำงานให้กับสำนักเหมืองแร่แห่งประเทศสหรัฐอเมริกานั้น วิลเลียม พี. แย็นต์ มีผลงานที่สำคัญคือการออกแบบระบบระบายอากาศให้กับอุโมงค์ฮอลแลนด์ (Holland Tunnel) ซึ่งเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำฮัดสัน (Hudson River) ในนครนิวยอร์ก งานนี้เขาได้ทำร่วมกับ จอห์น เจ. บลูมฟิลด์ (John J. Bloomfield) และ ลอเรนซ์ เบอร์เกอร์ (Lawrence Berger) โดยการทำงานนี้ทำให้เกิดเครือข่ายของผู้ที่ทำงานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคเริ่มแรกขึ้น [1] จอห์น เจ. บลูมฟิลด์ นั้นเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ที่ต่อมามีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกวิชาชีพนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเขาได้ร่วมกับ รอยด์ เอส. เซเยอรส์ (Royd S. Sayers) ก่อตั้งองค์กร “ชุมนุมนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐแห่งอเมริกา (American Conference of Governmental Industrial Hygienists หรือ ACGIH)” ขึ้นในปี ค.ศ. 1938 [5] องค์กร ACGIH นี้เป็นองค์กรของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมที่สำคัญองค์กรหนึ่ง

  • วิลเลียม พี. แย็นต์ ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งพิตต์สเบิร์ก (University of Pittsburgh) และเมื่อจบการศึกษาแล้ว เขาได้เป็นอาจารย์รับเชิญสอนที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งพิตตส์เบิร์กอยู่นานถึง 17 ปี [4]

  • ในปี ค.ศ. 1936 วิลเลียม พี. แย็นต์ ได้เริ่มทำงานที่บริษัทไมน์เซฟตี้แอพพลายแอนซ์ (Mine Safety Appliances Company) หรือเรียกโดยย่อว่าบริษัทเอ็มเอสเอ (MSA Company) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ในตำแหน่งผู้อำนวยการวิจัย (Director of research) เขาทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งนี้อย่างยาวนานจนถึงปี ค.ศ. 1961 รวมเป็นเวลาถึง 25 ปี และเมื่อไม่ได้ทำงานประจำที่บริษัทแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิจัย (Research consultant) ให้กับประธานของบริษัทต่อด้วย [3-4]

  • ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดในช่วง ค.ศ. 1939 – 1945) วิลเลียม พี. แย็นต์ ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาลให้ปฏิบัติงานด้านภารกิจพิเศษ (Special mission) ให้กับสำนักงานการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ (Office of Scientific Research and Development) ในสังกัดคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู (Atomic Energy Commission) ก่อนที่จะกลับมาทำงานประจำต่อเมื่อสิ้นสุดสงคราม

  • วิลเลียม พี. แย็นต์ เป็นเจ้าของสิทธิบัตรอุปกรณ์และเครื่องมือทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานมากถึง 38 สิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกา และ 28 สิทธิบัตรในต่างประเทศ [3-4] มีผลงานวิชาการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานเผยแพร่มากถึง 150 เรื่อง [3]

  • ในปี ค.ศ. 1939 “สมาคมนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งอเมริกา (American Industrial Hygiene Association หรือ AIHA)” ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถือกำเนิดขึ้น และในปี ค.ศ. 1940 เมื่อมีการเลือกตั้งผู้บริหารสมาคม วิลเลียม พี. แย็นต์ ก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาคมคนแรก [3,6]

  • ในปี ค.ศ. 1942 วิลเลียม พี. แย็นต์ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิทยาศาสตร์ (Honorary doctor of science degree) จากวิทยาลัยแห่งวูสเตอร์ [3]

  • ชีวิตส่วนตัวของ วิลเลียม พี. แย็นต์ เขาสมรสกับนาง เอลิซาเบธ กรอสแมน แย็นต์ (Elizabeth Grossman Yant) มีบุตรชาย 1 คน คือนาย วิลเลียม จูเนียร์ (William Jr.) และบุตรสาว 2 คน คือนาง เกร็ตเชน โรบินสัน (Gretchen Robinson) และนาง ซูซาน เจน (Susan Jane) [4]

  • ในปี ค.ศ. 1963 วิลเลียม พี. แย็นต์ เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm) ในวัย 69 ปี [3-4]

  • วิลเลียม พี. แย็นต์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลผู้หนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกวิชาชีพนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาคม AIHA คนแรกอีกด้วย เพื่อเป็นการให้เกียรติการทำงานของเขา สมาคม AIHA จึงได้ตั้ง รางวัล วิลเลียม พี. แย็นต์ (William P. Yant Award) หรือเรียกอย่างย่อว่า รางวัลแย็นต์ (Yant Award) ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 โดยในทุกปี จะมอบให้กับนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมหรือนักวิชาการสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เป็นผู้ทำผลงานสร้างประโยชน์ให้กับวงการสุขศาสตร์อุตสาหกรรมอย่างเป็นที่ประจักษ์ [7-8]

เอกสารอ้างอิง

  1. Luxon SG. 1984 Yant Memorial Lecture. A history of industrial hygiene. Am Ind Hyg Assoc J 1984;45(11):731-9.

  2. Noted chemist will speak here tonight. The Altoona Tribune (Pennsylvania). 1937 Oct 20; Engineers’ speaker: page 14.

  3. William P. Yant. Am Ind Hyg Assoc J 1963;24(1):95.

  4. Dr. Yant dies – Rites set for expert in industrial safety. The Pittsburgh Press. 1963 Jan 30; Obituaries: page 34.

  5. American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH). About us – History [Internet]. 2020 [cited 2020 Nov 11]. Available from: https://www.acgih.org/about-us/history.

  6. American Industrial Hygiene Association (AIHA). AIHA History [Internet]. 2020 [cited 2020 Nov 11]. Available from: https://www.aiha.org/about-aiha/aiha-history.

  7. American Industrial Hygiene Association (AIHA). AIHA Awards and Nominations [Internet]. 2020 [cited 2020 Nov 11]. Available from: https://www.aiha.org/about-aiha/awards-and-opportunities.

  8. Burdorf A. 2006 William P. Yant Award Lecture. The contribution of occupational hygiene to public health: New opportunities to demonstrate its importance. J Occup Environ Hyg 2006;3(11):D120-D125.