เรื่องของอาการเป็นลม

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 21 ธันวาคม 2563


เรื่องของอาการเป็นลม

อาการเป็นลม (Syncope) [อ่านว่า “ซิน-โค-พี”] ในทางการแพทย์หมายถึง อาการหมดสติไปชั่วขณะ มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แล้วได้สติกลับมาเป็นปกติได้เอง [1] อาการนี้มักจะสัมพันธ์กับการที่ร่างกายมีเลือดส่งไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ โดยในบางครั้งอาจเรียกอาการเป็นลมด้วยคำว่า “หน้ามืด (Fainting)” หรือ “สลบ (Passing out)” แทนก็ได้ [2-3]

กรณีที่เกิดอาการ เช่น ตามัว (Blurred vision), มึนศีรษะ (Lightheadedness), เหงื่อออก (Sweating), ผิวซีด (Pale skin), และอ่อนแรง (Weakness) แต่ยังมีสติอยู่บ้าง จะเรียกว่าเกิดอาการ “คล้ายจะเป็นลม (Presyncope)” [อ่านว่า “พรี-ซิน-โค-พี”] โดยเมื่อเกิดอาการคล้ายจะเป็นลมแล้ว อาจเกิดอาการเป็นลมหมดสติตามมา หรือไม่เกิดอาการเป็นลมก็ได้ (คือเมื่อได้พักแล้วกลับมามีสติสมบูรณ์ดังเดิม) ผู้ที่เกิดอาการคล้ายจะเป็นลมนั้น ควรได้รับการประเมินอาการและดูแลเช่นเดียวกันกับผู้ที่มีอาการเป็นลม [4]

อาการเป็นลมจะทำให้ผู้ที่เกิดอาการหมดสติไปเป็นช่วงสั้นๆ มักเพียงไม่กี่วินาที หรืออย่างมากไม่เกิน 1 – 2 นาที และกลับมาฟื้นคืนสติได้เองเสมอ แม้ว่าจะไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ก็ตาม หากหมดสติไปนานหลายๆ นาทีกว่านั้น มักจะเกิดจากสาเหตุอื่น อย่างเป็นลมชัก หรือเกิดอาการโคม่าเนื่องจากสาเหตุต่างๆ (เช่น เลือดออกในสมอง คนเป็นเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำจนเป็นอันตราย พิษจากแอลกอฮอล์) ซึ่งกรณีที่หมดสติไปนาน จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะหากผู้ที่เกิดอาการนั้นไม่หายใจและไม่มีชีพจรด้วย จะถือว่าเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพจากบุคคลรอบข้างที่พบเห็นเหตุการณ์ และการช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน

แม้ว่าอาการเป็นลมมักถูกจัดว่าเป็นอาการที่ไม่อันตรายร้ายแรง เนื่องจากผู้ที่เกิดอาการจะกลับมามีสติได้เอง แต่ในบางครั้งระหว่างที่หมดสติอาจทำให้เกิดการล้มฟาด ซึ่งก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมา (เช่น หัวแตก ดั้งจมูกหัก ใบหน้าฟกช้ำ) หากเกิดอาการบาดเจ็บขึ้น ผู้ที่เกิดอาการก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บนั้น หากอาการเป็นลมเกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ หรือเกิดในคนที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม (อย่างภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ) ก็ควรเข้ารับการตรวจประเมินทางการแพทย์เพื่อหาสาเหตุด้วย เนื่องจากอาการเป็นลมในลักษณะเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

อาการเป็นลมเป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อย เกิดได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง เชื่อกันว่าคนประมาณ 1 ใน 3 จะเคยมีอาการเป็นลมอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต [5] โดยมักจะพบอาการเป็นลมได้บ่อยในกลุ่มคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี และอีกกลุ่มคือคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป [1] แต่เนื่องจากเป็นอาการที่หายได้เอง คนที่มีอาการเป็นลมส่วนมากจึงมักไม่ได้มาพบแพทย์ [1]

อาการเป็นลมนั้นแบ่งตามสาเหตุการเกิดได้เป็นหลายแบบ ที่พบได้บ่อยมีดังนี้

1. เป็นลมจากรีเฟล็กซ์ (Reflex syncope)
“เป็นลมจากรีเฟล็กซ์ (Reflex syncope)” [หรือเรียกว่า “Neurally mediated syncope (NMS)” หรือ “Neurocardiogenic syncope” ก็ได้] [2] เป็นกลุ่มของอาการเป็นลมที่เกิดจากความผิดปกติของปฏิกิริยาตอบสนองของระบบประสาทในการควบคุมระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ จนเกิดอาการเป็นลมขึ้น [1] เป็นลมจากรีเฟล็กซ์สามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 3 แบบ คือ “เป็นลมธรรมดา (Vasovagal syncope)”, “เป็นลมเฉพาะสถานการณ์ (Situational syncope)”, และ “เป็นลมจากการกระตุ้นคาโรติดไซนัส (Carotid sinus syndrome)”

เป็นลมธรรมดา (Vasovagal syncope)
อาการ “เป็นลมธรรมดา (Vasovagal syncope; VVS)” [หรืออาจเรียกว่า “Common faint”] [1] เป็นอาการเป็นลมแบบที่พบได้บ่อยมากที่สุด และมักไม่เป็นอันตราย [6] การเป็นลมชนิดนี้เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองมากเกินต่อตัวกระตุ้น (Trigger) บางอย่าง เช่น การเห็นเลือด มีอารมณ์เครียด หรือความปวด ตัวกระตุ้นทำให้ร่างกายมีความดันโลหิตต่ำและชีพจรช้าลงอย่างฉับพลัน ผลที่ตามมาคือมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงทำให้เป็นลม

ก่อนจะเป็นลมนั้น ผู้ที่เกิดอาการบางรายอาจมีอาการนำมาก่อน เช่น ตามัว (Blurred vision), การมองเห็นมืดลง (Blackout), มึนศีรษะ (Lightheadedness), วิงเวียน (Dizziness), เหงื่อออก (Sweating), ผิวซีด (Pale skin), คลื่นไส้ (Nausea), หรืออ่อนแรง (Weakness) แล้วจึงล้มลงหมดสติไป ในระหว่างที่หมดสติผู้พบเห็นเหตุการณ์อาจพบว่าผู้ที่เกิดอาการมีชีพจรช้าและเบา (Slow and weak pulse), ม่านตาขยาย (Dilated pupils), และร่างกายอาจมีอาการกระตุก (Jerky movements) [6]

สำหรับกลไกของการเกิดอาการเป็นลมธรรมดานั้นค่อนข้างซับซ้อน สาเหตุเริ่มจากการที่ร่างกายมีเส้นประสาทสมองที่มีชื่อเรียกว่า “เส้นประสาทวากัส (Vagus nerve)” [หรืออาจเรียกว่า “เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Tenth cranial nerve; CN X)”] เส้นประสาทวากัสนี้เป็นเส้นประสาทที่ยาวมาก วิ่งออกจากสมองมาเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั้งที่คอ ในช่องอก (รวมถึงหัวใจและปอด) และในช่องท้อง (รวมถึงระบบทางเดินอาหาร) ในการมาเลี้ยงหัวใจนั้นเส้นประสาทวากัสจะทำหน้าที่สื่อระบบประสาทอัตโนมัติแบบพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic nervous system) ให้กับหัวใจ ซึ่งระบบประสาทพาราซิมพาเทติกนี้เป็นระบบที่สั่งให้ร่างกายผ่อนคลาย เมื่อสื่อสารมาที่หัวใจจะมีผลทำให้หัวใจเต้นช้าลงและลดการบีบตัว เมื่อหัวใจเต้นช้าลงและลดการบีบตัวก็ทำให้ความดันโลหิตต่ำลงด้วย ในสภาวะปกติการกระตุ้นของเส้นประสาทวากัสต่อหัวใจก็จะเป็นปกติ แต่ในสภาวะที่มีตัวกระตุ้นเกิดขึ้น เมื่อสมองประมวลผลตามสัญชาตญาณแล้วตัดสินว่าตัวกระตุ้นนั้นเป็นอันตราย ระบบประสาทอัตโนมัติแบบซิมพาเทติก (Sympathetic nervous system) ซึ่งเป็นระบบประสาทที่สั่งให้ร่างกายเตรียมพร้อมต่อสู้ จะส่งสัญญาณให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและบีบตัวแรงขึ้น แต่เมื่อมีการส่งสัญญาณระบบประสาทซิมพาเทติกรุนแรง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดอันตราย (จากการที่หัวใจเต้นเร็วและแรงไป) ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกจะส่งสัญญาณรุนแรงเพื่อมาต้านการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกบ้าง เรียกว่าเกิด “ปฏิกิริยาเวโซเวกัล (Vasovagal reaction)” ผลจากปฏิกิริยานี้จะทำให้มีการส่งสัญญาณด้วยระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (ผ่านทางเส้นประสาทวากัสมาที่หัวใจ) อย่างรุนแรง ทำให้หัวใจเต้นช้าลง บีบตัวเบาลง ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง และปฏิกิริยานี้ยังทำให้หลอดเลือดในร่างกายเกิดการขยายตัว ซึ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำลงได้อีก เมื่อหัวใจเต้นช้าลง บีบตัวเบาลง และความดันโลหิตต่ำ เลือดจึงไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการเป็นลมขึ้น [7]

ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเป็นลมธรรมดา มักเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราเกิดความเครียด ความกลัว รู้สึกอันตราย หรือตื่นเต้น ตัวกระตุ้นที่พบได้บ่อย เช่น การเห็นเลือด (อย่างเลือดที่ไหลจากแผล หรือเลือดที่ถูกเจาะออกมาอยู่ในหลอดเลือด), การมีสิ่งกระตุ้นอารมณ์เครียดอย่างรุนแรง (อย่างการได้รับข่าวร้าย), การอยู่ในสภาพอากาศร้อนและการขาดน้ำ (อย่างเวลาที่ตากแดดหรือมีไข้), การยืนเป็นเวลานาน (การยืนนานๆ ทำให้เกิดความเครียดต่อทั้งร่างกายและจิตใจ และยังเป็นท่าที่เสี่ยงต่ออาการเป็นลม โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยส่งเสริม อย่างถูกบังคับให้ยืน หรือยืนอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน), ความกลัวร่างกายจะบาดเจ็บ (รวมถึงกลัวเข็มฉีดยาด้วย), ความปวดที่รุนแรง (อย่างมีอาการปวดท้องบิดๆ ที่เกิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกรณีปวดประจำเดือนอย่างมาก), การมีสิ่งกระตุ้นอารมณ์กลัวหรือทำให้ตกใจอย่างรุนแรง (อย่างการถูกแกล้งให้ตกใจ) เหล่านี้เป็นต้น [3,6] ในบางครั้งแม้แต่การได้รับข่าวดีมากจนทำให้หัวใจเต้นแรง ก็ทำให้เกิดอาการเป็นลมตามมาได้เช่นกัน

อาการเป็นลมธรรมดาจะเกิดในเวลาที่อยู่ในท่ายืนได้ง่ายกว่าท่าอื่น เนื่องจากเวลาที่เรายืน สมองจะอยู่ในระดับสูงกว่าหัวใจ หัวใจต้องบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงสมองแบบที่เป็นการต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งจะยากกว่าการที่หัวใจบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงสมองขณะเราอยู่ในท่านอนราบ (ที่สมองกับหัวใจอยู่ในระนาบเดียวกัน) และเมื่อยืนนั้นหลอดเลือดที่ขาจะขยาย ทำให้เลือดไปคั่งอยู่ที่ขาได้มาก (ทำให้เลือดกลับมาที่หัวใจได้น้อย) ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงได้อีก จึงทำให้มีโอกาสเกิดอาการเป็นลมขณะอยู่ในท่ายืนมากกว่าท่าอื่น [6]

ในการดูแลตนเองของผู้ที่มีอาการคล้ายจะเป็นลมหรือรู้ตัวว่ากำลังจะเป็นลม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้หมดสติหรือล้มฟาด หากอยู่ในสถานที่ที่เอื้ออำนวย ให้นอนราบลง และถ้าทำได้ให้ยกขาขึ้นสูง (เช่น นอนราบแล้วเอาเท้าพาดกับเก้าอี้ไว้) หากอยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถนอนราบได้ ให้นั่งลง แล้วก้มศีรษะลง พยายามให้ศีรษะอยู่ระหว่างเข่าทั้งสองข้าง (คือพยายามก้มศีรษะให้ต่ำไว้) พักจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น สำหรับการดูแลผู้ที่เกิดอาการเป็นลมไปแล้วนั้น ให้นำผู้ที่เกิดอาการมานอนราบ และอาจยกขาขึ้นสูงด้วย จัดให้อยู่ในที่ปลอดภัยและอากาศถ่ายเทดี โดยทั่วไปหากเป็นอาการเป็นลมธรรมดา ผู้ที่เกิดอาการจะกลับมาได้สติภายในไม่กี่วินาที หรืออย่างมากมักไม่ถึง 1 นาที เมื่อได้สติแล้วให้นอนพักต่อสักครู่ จากนั้นค่อยๆ ให้นั่ง ควรให้พักอย่างน้อยสัก 15 – 30 นาที เพราะการให้ยืนหลังจากที่เกิดอาการเป็นลมเร็วเกินไปมีโอกาสทำให้เกิดอาการเป็นลมซ้ำได้อีก [6]

เป็นลมเฉพาะสถานการณ์ (Situational syncope)
อาการ “เป็นลมเฉพาะสถานการณ์ (Situational syncope)” คืออาการเป็นลมจากรีเฟล็กซ์อีกแบบหนึ่ง ที่มีตัวกระตุ้นเป็นสถานการณ์ที่มีความจำเพาะอย่างมาก โดยตัวกระตุ้นจะเป็นการทำกิจกรรมของร่างกาย และอาการเป็นลมจะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมนี้เท่านั้น กิจกรรมที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น การเบ่งปัสสาวะ การขับถ่ายอุจจาระ การไอแรงๆ การกลืน การหัวเราะ การจาม การเป่าเครื่องดนตรีชนิดเครื่องเป่า หรือการยกของหนัก อาการเป็นลมแบบนี้พบได้ไม่บ่อย ผู้ที่เกิดอาการเป็นลมแบบนี้ขึ้นทุกรายควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินโดยละเอียด ผู้ที่เกิดอาการเป็นลมแบบนี้ขึ้นซ้ำๆ มักจะจำได้ว่ากิจกรรมที่เป็นตัวกระตุ้นคืออะไร ซึ่งหากหลีกเลี่ยงกิจกรรมนั้นได้ก็จะทำให้เกิดอาการน้อยลง (แต่บางกิจกรรมอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก)

เป็นลมจากการกระตุ้นคาโรติดไซนัส (Carotid sinus syndrome)
อาการ “เป็นลมจากการกระตุ้นคาโรติดไซนัส (Carotid sinus syndrome)” [อาจเรียกว่า “Carotid sinus syncope)”] [1] จัดอยู่ในกลุ่มอาการเป็นลมจากรีเฟล็กซ์เช่นกัน คืออาการเป็นลมที่เกิดจากการกดกระตุ้นส่วนของหลอดเลือดแดงที่คอบริเวณที่เรียกว่าคาโรติดไซนัส (Carotid sinus) ซึ่งเป็นบริเวณที่ทำหน้าที่รับรู้แรงดันของเลือด เป็นส่วนหนึ่งของกลไกควบคุมระดับความดันโลหิตของร่างกาย โดยตำแหน่งของคาโรติดไซนัสจะอยู่แถวใต้มุมขากรรไกรล่าง การกดกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเป็นลมอาจเกิดจากการกดด้วยนิ้วมือ ซึ่งเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่เรียกว่าการนวดคาโรติดไซนัส (Carotid sinus massage) หรืออาจเกิดจากการกดกระตุ้นที่คอโดยไม่ได้ตั้งใจจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การหันคอ การใส่เสื้อที่ปกคับแน่นเกินไป หรือถูกกดระหว่างการโกนหนวด [3-4,8]

อาการเป็นลมจากการกระตุ้นคาโรติดไซนัสเป็นอาการเป็นลมแบบที่พบได้ไม่บ่อย จะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีภาวะที่เรียกว่าคาโรติดไซนัสตอบสนองไวเกิน (Carotid sinus hypersensitivity) ผู้ที่สงสัยว่าเกิดอาการเป็นลมจากการกระตุ้นคาโรติดไซนัสทุกรายควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินโดยละเอียด การวินิจฉัยอาการเป็นลมแบบนี้ทำได้โดยทำการนวดคาโรติดไซนัสแล้วจะเกิดอาการเป็นลมขึ้น [1] แต่การวินิจฉัยอาการเป็นลมด้วยการนวดคาโรติดไซนัสในผู้ที่สงสัยว่ามีภาวะคาโรติดไซนัสตอบสนองไวเกินนั้น เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่อันตราย (อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและความดันโลหิตต่ำ) ควรทำการตรวจและแปลผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด อย่างอายุรแพทย์โรคหัวใจเท่านั้น

2. เป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจ (Cardiac syncope)
อาการ “เป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจ (Cardiac syncope)” [หรืออาจเรียก “Cardiovascular syncope”] [2] คืออาการเป็นลมที่เกิดจากความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคของโครงสร้างหัวใจ อาการเป็นลมแบบนี้เป็นแบบที่พบได้ไม่บ่อยเท่าอาการเป็นลมธรรมดา แต่ถือว่าเป็นแบบที่อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

สาเหตุที่สำคัญของอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจก็คือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) โดยหากอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจเกิดขึ้นเนื่องมาจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “กลุ่มอาการสโตกส์-อาดัมส์ (Stokes-Adams syndrome)” [หรืออาจเรียก “Adams-Stokes syndrome” หรือ “Stokes-Adams attack” ก็ได้] โดยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายรูปแบบที่สามารถเป็นต้นเหตุของอาการเป็นลม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบที่ทำให้หัวใจเต้นช้าผิดปกติ, ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการบีบตัว), หรือทำให้หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอก็ได้ [2,9]

ตัวอย่างชื่อของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบที่ทำให้เกิดอาการเป็นลมได้ เช่น Long QT syndrome, Sick sinus syndrome, Wolff-Pakinson-White syndrome, Accelerated junctional rhythm, Junctional tachycardia, Second-degree atrioventricular block (ทั้งชนิด Mobitz I และ Mobitz II), Third-degree atrioventricular block, Left bundle branch block, Atrial fibrillation, Atrial flutter, และ Paroxysmal supraventricular tachycardia เป็นต้น การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเหล่านี้สามารถทำได้โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram; ECG)

การใช้ยาบางอย่าง (เช่น Digoxin, Theophylline, Beta blocker, Calcium channel blocker) อาจเป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางแบบขึ้นได้ การเจ็บป่วยเป็นโรคบางอย่าง (เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะไทรอยด์ต่ำ) ก็อาจเป็นสาเหตุหรือปัจจัยสนับสนุนให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางแบบขึ้นได้เช่นกัน ในผู้ป่วยที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งได้รับการรักษาโดยการใส่เครื่องมือกลุ่มเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้ในร่างกายแล้ว อย่างเครื่องกำหนดจังหวะการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) หรือเครื่องปรับจังหวะการเต้น-กระตุกหัวใจแบบฝังในร่างกาย (Implantable cardioverter-defibrillator; ICD) เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสเป็นลมหมดสติจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้ป่วยให้น้อยลง แต่แม้จะใส่เครื่องมือเหล่านี้แล้วก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังคงมีโอกาสเกิดอาการเป็นลมหมดสติขึ้นได้ [10-11]

นอกจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว ยังมีความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ ที่สามารถเป็นสาเหตุของอาการเป็นลมได้อีก เช่น โรคของกล้ามเนื้อหัวใจชนิดหนาตัว (Hypertrophic cardiomyopathy), ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction / ischemia), ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure), ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic stenosis), ลิ้นหัวใจพัลโมนารีตีบ (Pulmonary stenosis), ภาวะลิ่มโลหิตอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดเฉียบพลัน (Acute pulmonary embolism) เป็นต้น [2,4,8]

กลไกของการเกิดอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจนั้น เกิดจากการที่ภาวะความผิดปกติของหัวใจทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจลดน้อยลง (อย่างกรณีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย) หรือการส่งเลือดออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายถูกขัดขวาง (อย่างกรณีลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ) ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ จึงเกิดอาการเป็นลมขึ้น ประสิทธิภาพการบีบตัวของหัวใจที่ลดน้อยลงนี้ อาจเกิดร่วมกับการที่กระบวนการแลกเปลี่ยนแก๊สที่ปอดถูกขัดขวางด้วย (อย่างกรณีลิ่มโลหิตอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด) ซึ่งจะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง สมองจึงยิ่งได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จนเกิดอาการเป็นลมขึ้น [4,8,12]

ลักษณะของอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจนั้นมีความใกล้เคียงกับอาการเป็นลมธรรมดา แต่อาการหมดสติมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการคล้ายจะเป็นลมเป็นอาการเตือนนำมาก่อน แต่ในบางรายที่ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดไม่รุนแรง อาจเกิดเพียงอาการคล้ายจะเป็นลม แต่ไม่ทำให้หมดสติก็เป็นได้ ผู้ที่เกิดอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจอาจพบมีอาการเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นร่วมด้วย เช่น ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการใจสั่น (Palpitation) หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นหายไปบางจังหวะ (Skipped heartbeat) ร่วมด้วย, ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน อาจมีอาการเจ็บหน้าอก (Chest pain) ร่วมด้วย, หรือผู้ที่มีภาวะลิ่มโลหิตอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดเฉียบพลัน อาจมีอาการหายใจสั้น (Shortness of breath) หรือไอเป็นเลือด (Bloody cough) ร่วมด้วย [4,8-9] อาจพบชีพจรช้าหรือเร็วกว่าปกติ แล้วแต่ลักษณะความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่เป็น (อย่างกรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีทั้งแบบที่ทำให้ชีพจรช้าและชีพจรเร็ว) ปัจจัยที่บ่งชี้ว่าอาการเป็นลมนั้นมีโอกาสสูงที่จะเป็นอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจ ได้แก่ ผู้ที่เกิดอาการมีอายุมากกว่า 60 ปี, เป็นเพศชาย, มีประวัติเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม (อย่างภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคของลิ้นหัวใจ โรคหัวใจแต่กำเนิด), หมดสติไปทันทีโดยไม่มีอาการนำ หรือมีอาการนำเป็นอาการใจสั่นเพียงช่วงสั้นๆ, เป็นลมขณะอยู่ในท่านอนราบ, เป็นลมขณะกำลังออกแรง, แพทย์ทำการตรวจแล้วพบความผิดปกติของหัวใจ, พึ่งเคยเกิดอาการเป็นลมมาเพียง 1 – 2 ครั้ง (ไม่มีประวัติเป็นลมบ่อยๆ), และมีประวัติคนในครอบครัวเคยเสียชีวิตฉับพลันจากโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย (น้อยกว่า 50 ปี) [2,12-13]

หากมองในแง่ของผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม การเกิดอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจขึ้นนั้น ถือเป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่งว่าอาการของโรคหัวใจที่เป็นมีความรุนแรงมากขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นลมหมดสติได้ ความรุนแรงของโรคหัวใจที่เป็นในอนาคตก็อาจมากขึ้น หรือแม้แต่นำไปสู่การเสียชีวิต จำเป็นต้องดูแลตนเอง ทำการรักษาและติดตามอาการโรคหัวใจกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยที่เชื่อว่าหากพบในผู้ที่เกิดอาการเป็นลมแล้ว จะเป็นเครื่องแสดงถึงความเสี่ยงสูงในการที่จะเกิดอาการโรคหัวใจรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้ในอนาคต เช่น ผู้ที่เกิดอาการมีอายุมาก เป็นเพศชาย มีประวัติเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม มีภาวะหัวใจล้มเหลว คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติ มีอาการใจสั่นนำมาก่อนจะเป็นลม มีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น [1,13]

ผู้ที่เกิดอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจควรได้รับการดูแลทางการแพทย์และตรวจประเมินหาสาเหตุ โดยในการตรวจหาสาเหตุจะมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบที่นิยมทำกันในห้องฉุกเฉินและห้องตรวจผู้ป่วยนอก โดยทั่วไปจะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก (Resting electrocardiogram) นอกจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักแล้ว ในบางรายอาจต้องมีการตรวจประเมินทางระบบหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การทดสอบออกกำลังกาย (Exercise stress test), การตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiogram), การให้ใช้อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบติดตัวต่อเนื่องโฮลเตอร์ (Holter monitor) เป็นต้น การตรวจพิเศษเหล่านี้ควรสั่งการตรวจและแปลผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด อย่างอายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงสูงหรืออาการรุนแรง แพทย์อาจให้พักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในด้วย เมื่อแพทย์ค้นหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของอาการเป็นลมพบแล้ว การรักษาอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจที่ดีที่สุด นั้นก็คือการรักษาความผิดปกติที่เป็นสาเหตุนั่นเอง [2,4]

3. เป็นลมจากการเปลี่ยนท่า (Postural syncope)
“เป็นลมจากการเปลี่ยนท่า (Postural syncope)” [หรืออาจเรียก “เป็นลมจากการอยู่ในท่ายืน (Orthostatic syncope)”] [3] เป็นอาการเป็นลมอีกแบบที่พบได้บ่อย อาการเป็นลมแบบนี้จะเกิดขึ้นหลังจากร่างกายมีการเปลี่ยนท่า โดยเป็นการเปลี่ยนท่าแบบลุกขึ้นยืน คือจากการที่ร่างกายอยู่ใน “ท่านอนราบ” หรือ “ท่านั่ง” แล้วเปลี่ยนท่ามาเป็น “ท่ายืน” การลุกขึ้นยืนนั้นทำให้ความดันโลหิตต่ำลง เลือดจึงไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนเกิดอาการเป็นลมขึ้น [3] ภาวะที่ร่างกายมีความดันโลหิตต่ำลงหลังจากการลุกขึ้นยืน เรียกว่าภาวะ “ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Postural hypotension)” [หรืออาจเรียก “ความดันโลหิตต่ำจากการอยู่ในท่ายืน (Orthostatic hypotension; OH)” ก็ได้] [14]

ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่านั้นพบได้ค่อนข้างบ่อย เมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสพบได้มากขึ้น โดยคาดว่าผู้สูงอายุราว 10 – 30 % อาจมีภาวะนี้ [15] ความเร็วของการลุกขึ้นยืนมีผลต่อความดันโลหิตที่ต่ำลง โดยเชื่อว่ายิ่งลุกขึ้นยืนเร็ว ก็จะยิ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำลงได้มาก [16] ความดันโลหิตที่ต่ำลง โดยทั่วไปจะเกิดอย่างรวดเร็วหลังจากที่ลุกขึ้นยืน โดยอาจต่ำลงแทบจะในทันที (ภายใน 15 วินาที) หรือค่อนข้างเร็ว (ภายใน 3 นาที) แต่ในผู้ที่เกิดอาการบางราย ก็อาจเกิดความดันโลหิตต่ำลงหลังจากลุกขึ้นยืนไปนานระยะหนึ่งแล้วก็ได้ (นานกว่า 3 นาที) [13] อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่านั้น ไม่ได้เกิดอาการเป็นลมขึ้นทุกราย โดยอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่าจะมีโอกาสพบได้บ่อย ในกรณีที่บุคคลนั้นลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว และเกิดความดันโลหิตต่ำลงแทบจะในทันที (ภายใน 15 วินาที) [17]

สำหรับกลไกของการเกิดอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่า โดยปกติเมื่อคนเราลุกขึ้นยืน แรงโน้มถ่วงจะทำให้เลือดตกไปกองที่ขาและท้องมากขึ้น ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง เนื่องจากมีเลือดกลับมาที่หัวใจได้น้อยลง [17] แต่ร่างกายจะรับรู้สภาวะนี้ได้ จากเซลล์ที่ทำหน้าที่รับรู้แรงดัน ซึ่งอยู่ในหลอดเลือดแดงใกล้หัวใจบริเวณที่เรียกว่าส่วนโค้งเอออร์ตา (Aortic arch) และหลอดเลือดแดงที่คอบริเวณที่เรียกว่าคาโรติดไซนัส (Carotid sinus) เซลล์ที่ทำหน้าที่รับรู้แรงดันจะส่งสัญญาณไปที่สมอง เพื่อให้สมองส่งสัญญาณผ่านระบบประสาทอัตโนมัติแบบซิมพาเทติกมากระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย รวมถึงกระตุ้นให้หลอดเลือดในร่างกายหดตัวเพื่อบีบเลือดกลับมาที่หัวใจให้มากขึ้น เป็นผลทำให้ความดันโลหิตไม่ลดต่ำลง [14] ในการบีบตัวของหลอดเลือดที่ขาเพื่อส่งเลือดกลับมาที่หัวใจนั้น กล้ามเนื้อลาย (Skeletal muscle) ที่อยู่โดยรอบหลอดเลือดก็จะทำการบีบตัวเพื่อช่วยในการส่งเลือดด้วย [17] ปัจจัยใดๆ ก็ตามที่ขัดขวางกลไกดังกล่าวนี้ให้ทำงานล้มเหลว จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า และหากความดันโลหิตต่ำนั้นมีความรุนแรงจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่าขึ้น

ตัวอย่างของปัจจัยที่เป็นสาเหตุของอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่า เช่น ระดับของเหลวในร่างกายลดลง (Volume depletion) ซึ่งอาจเกิดจากอาการขาดน้ำเมื่อออกกำลังกายอย่างหนัก มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย และยิ่งหากร่วมกับอยู่ในที่อากาศร้อน และไม่ได้ดื่มน้ำ ก็จะยิ่งสนับสนุนให้ขาดน้ำมากขึ้น เมื่อร่างกายขาดน้ำจะส่งผลให้ปริมาณของเลือดลดลง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่หัวใจจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ ภาวะเสียเลือดในปริมาณมากทำให้ปริมาณของเลือดลดลงโดยตรง อย่างเลือดออกจากแผล หรือหลังบริจาคเลือด ก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน, การกินอาหาร (Eating meals) จะทำให้เลือดไปเลี้ยงทางเดินอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นอาหารมื้อหนัก อย่างอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอเมื่อลุกขึ้นยืนหลังกินอาหาร ยิ่งหากดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จะทำให้หลอดเลือดในร่างกายขยายตัว (รวมถึงหลอดเลือดที่ขา) เพิ่มความเสี่ยงที่เลือดจะสูบฉีดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ, การเป็นโรคบางอย่างที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease), โรคระบบประสาทอัตโนมัติล้มเหลว (Pure autonomic failure), โรคระบบประสาทหลายส่วนเสื่อมถอย (Multiple system atrophy), โรคเบาหวาน (Diabetes), โรคอะไมลอยโดซิส (Amyloidosis) โรคเหล่านี้ทำให้กลไกการตอบสนองของร่างกายในการรักษาระดับความดันโลหิตถูกขัดขวาง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นลมเมื่อลุกขึ้นยืน, การใช้ยาบางอย่างก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ (ทำให้ระดับของเหลวในร่างกายลดลง), ยาลดความดันโลหิต (ทำให้ระดับความดันโลหิตต่ำลง), ยาขยายหลอดเลือด อย่างยากลุ่ม Nitrates (ทำให้หลอดเลือดในร่างกายขยายตัว), ยารักษาโรคพาร์กินสัน อย่างยา Levodopa (ทำให้ระดับความดันโลหิตต่ำลง), ยาต้านซึมเศร้า อย่างยากลุ่ม Tricyclic antidepressants (ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ), ยารักษาอาการทางจิตเวช อย่างยากลุ่ม Phenothiazines (ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ) เหล่านี้เป็นต้น [1,14,17]

ปัจจัยบางอย่างอาจเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่าได้ง่ายขึ้น เช่น อายุมาก (มีโอกาสพบภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าได้มากขึ้น), การมีโรคหัวใจอยู่เดิม (ทำให้หัวใจมีปัญหาในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง), การตั้งครรภ์ (เนื่องจากเกิดภาวะหลอดเลือดขยายตัวระหว่างที่ตั้งครรภ์), การนอนป่วยติดเตียงเป็นเวลานาน (ทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดอ่อนแอ กล้ามเนื้อขาฝ่อลีบ), การอยู่ในที่อากาศร้อน (ทำให้สูญเสียของเหลวในร่างกาย), หรือการดื่มแอลกอฮอล์ (ทำให้หลอดเลือดในร่างกายขยายตัว) [14]

การตรวจภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า แพทย์สามารถทำได้เบื้องต้นโดยการวัดความดันโลหิตในท่านั่งและท่ายืนเปรียบเทียบกัน โดยให้ทำการวัดความดันโลหิตในท่านั่งก่อน หลังจากนั้นให้ลุกขึ้นยืนราว 3 นาที แล้วทำการวัดความดันโลหิตในท่ายืน นำค่าความดันโลหิตในท่านั่งและในท่ายืนมาเปรียบเทียบกัน หากค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure; SBP) ในท่ายืนต่ำกว่าท่านั่ง ≥ 20 มิลลิเมตรปรอท หรือ ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic blood pressure; DBP) ในท่ายืนต่ำกว่าท่านั่ง ≥ 10 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าบุคคลนั้นมีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า [หมายเหตุ (1.) หากใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิทัลที่แสดงค่าชีพจรได้ ควรบันทึกค่าชีพจรเอาไว้ด้วย (2.) หากผู้เข้ารับการตรวจมีอาการคล้ายจะเป็นลมหลังจากลุกขึ้นยืน เช่น ตามัว มึนศีรษะ ควรทำการบันทึกเอาไว้ด้วย (3.) การวัดความดันโลหิตในท่ายืน เพื่อความละเอียดอาจทำการวัด 2 ครั้ง คือหลังจากที่ลุกขึ้นยืนราว 1 นาทีและ 3 นาที หากทำได้จะเป็นการดี เนื่องจากในผู้ที่เกิดอาการบางรายอาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำลงแทบจะในทันที (เช่น ภายใน 15 วินาที) แล้วความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน (เช่น ภายใน 1 นาที) โดยในการแปลผลหากทำการวัดค่าความดันโลหิตในท่ายืน 2 ครั้ง ให้นำค่าความดันโลหิตในท่านั่งมาเปรียบเทียบกับท่ายืนแต่ละครั้ง ตามเกณฑ์ SBP ≥ 20 มิลลิเมตรปรอท หรือ DBP ≥ 10 มิลลิเมตรปรอท หากมีเพียงครั้งใดครั้งหนึ่งพบค่าเกินเกณฑ์ ก็จะถือว่าบุคคลผู้นั้นมีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (4.) กรณีผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะความดันโลหิตต่ำลงแทบจะในทันทีหลังจากลุกขึ้นยืน (เช่น ภายใน 15 วินาที) แล้วความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน (เช่น ภายใน 1 นาที) หากใช้วิธีวัดความดันโลหิตแบบที่เรียกว่า “การวัดความดันโลหิตแบบต่อเนื่องในแต่ละจังหวะชีพจรโดยไม่ทำให้เจ็บตัว (Continuous beat-to-beat non-invasive blood pressure measurement)” จะสามารถตรวจค้นหาโรคได้ดีขึ้น แต่การวัดแบบนี้ต้องใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบพิเศษ เช่น เครื่องที่ชื่อว่าฟิโนมิเตอร์ (Finometer) ซึ่งมักไม่ได้มีการใช้อยู่ในห้องตรวจผู้ป่วยนอกโดยทั่วไป (5.) อาจทำการวัดความดันโลหิตในท่านอนราบแทนท่านั่งก็ได้ โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนราบก่อนนานราว 5 นาที แล้ววัดความดันโลหิตในท่านอนราบ จากนั้นให้ลุกขึ้นยืน แล้ววัดความดันโลหิตในท่ายืน การแปลผลให้นำค่าความดันโลหิตในท่านอนราบกับท่ายืนมาเปรียบเทียบกัน โดยใช้เกณฑ์ SBP ≥ 20 มิลลิเมตรปรอท หรือ DBP ≥ 10 มิลลิเมตรปรอท เช่นเดียวกันกับกรณีที่เปรียบเทียบท่านั่งกับท่ายืน] [1,13,17-18]

การตรวจเพื่อศึกษาภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าอีกแบบที่มีความละเอียดมากขึ้น คือการตรวจด้วยเตียงปรับเอียง (Tilt table test) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเตียงให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนราบ แล้วสามารถปรับให้เตียงเอียงขึ้นคล้ายกับเวลาลุกขึ้นยืนได้ ในระหว่างการตรวจจะมีการวัดความดันโลหิตและชีพจรของผู้เข้ารับการตรวจอย่างต่อเนื่อง การตรวจนี้จะมีประโยชน์มากในหลายกรณี เช่น ใช้ตรวจในผู้ที่มีอาการเป็นลมซึ่งยังหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด หรือใช้ตรวจในผู้ที่สงสัยว่ามีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าหลังจากที่ลุกขึ้นยืนแล้วเป็นเวลานาน (นานกว่า 3 นาที) [1] การตรวจด้วยเตียงปรับเอียงนี้ ควรสั่งการตรวจและแปลผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด อย่างอายุรแพทย์โรคหัวใจ

การอยู่ในท่ายืนนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าหรืออาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่า แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างอื่นได้ในบางคน เช่น อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เรียกว่า “ภาวะหัวใจเต้นเร็วจากการอยู่ในท่ายืน (Orthostatic tachycardia)” [หรืออาจเรียก “Postural orthostatic tachycardia syndrome (POTS)”] นิยามของภาวะนี้คือภาวะที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ≥ 30 ครั้งต่อนาที ภายใน 10 นาทีหลังจากที่ลุกขึ้นยืน (กรณีของผู้ที่อายุ 12 – 19 ปี จะใช้เกณฑ์อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ≥ 40 ครั้งต่อนาที) โดยภาวะนี้มักทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นจนอยู่ที่ระดับ ≥ 120 ครั้งต่อนาที โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าหรืออาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่าร่วมด้วย เมื่อได้นอนราบอาการก็จะดีขึ้น ภาวะนี้มักเกิดขึ้นในผู้หญิงอายุน้อย และสัมพันธ์กับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) [1,13,17]

อีกภาวะหนึ่งที่พบได้คือ “ภาวะทนการอยู่ในท่ายืนไม่ได้ (Orthostatic intolerance)” นิยามของภาวะนี้ คือการเกิดอาการผิดปกติที่คาดว่าเกี่ยวเนื่องกับระบบหัวใจและหลอดเลือดขึ้นอย่างน้อย 1 อาการเมื่อผู้ป่วยอยู่ในท่ายืน โดยที่อาจจะมีหรือไม่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วจากการอยู่ในท่ายืน ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า และอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่าร่วมด้วยก็ได้ อาการที่พบได้ เช่น มึนศีรษะ วิงเวียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ตัวสั่น อ่อนแรงทั้งร่างกาย ตามัว ทนการออกกำลังกายไม่ได้ อ่อนเพลีย เป็นต้น [1,13]

อาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่านั้นจะจัดว่าเป็นอาการที่อันตรายหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากอาการเป็นลมเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น อาการขาดน้ำเนื่องจากดื่มน้ำน้อย เมื่อได้พักและดื่มน้ำอย่างเพียงพอแล้ว ก็มักจะไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดจากสาเหตุอย่างการเป็นโรค (เช่น โรคทางระบบประสาท โรคเบาหวาน) หรือการใช้ยา (เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขยายหลอดเลือด) จะถือว่าเป็นอาการที่ค่อนข้างอันตราย จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโรค (กรณีเกิดจากการเป็นโรค) หรือทำการปรับยา (กรณีเกิดจากการใช้ยา) ต่อไป

การดูแลตนเองของผู้ที่เกิดอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่านั้นก็ขึ้นกับสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเช่นกัน ในผู้ที่เกิดอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่าขึ้นบ่อยทุกราย เมื่อต้องการจะลุกขึ้นยืน ควรค่อยๆ ลุกขึ้นอย่างช้าๆ ทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดอาการ และเมื่อรู้สึกว่ากำลังจะเกิดอาการควรรีบนั่งลง (หรือนอนราบ), หากอาการที่เกิดสัมพันธ์กับอาการขาดน้ำ ควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศร้อนเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น, หากอาการสัมพันธ์กับมื้ออาหารหรือการดื่มแอลกอฮอล์ ควรงดเว้นอาหารมื้อหนัก อาจแบ่งกินเป็นมื้อย่อยๆ ในปริมาณไม่มาก งดกินอาหารคาร์โบไฮเดรตสูงครั้งละปริมาณมากๆ และงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์, หากอาการสัมพันธ์กับการเป็นโรค (เช่น โรคทางระบบประสาท โรคเบาหวาน) หรือการใช้ยา (เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขยายหลอดเลือด) ทางแก้ที่ดีที่สุดคือแจ้งอาการให้แพทย์ผู้ทำการรักษาของตนเองทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้ทบทวนการรักษา ตรวจหาสาเหตุอาการเป็นลมให้แน่ชัด ทำการปรับยา (โดยแพทย์อาจให้งดหรือปรับลดขนาดยาที่น่าจะเป็นสาเหตุ) และรวมถึงให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ผู้ป่วยได้

นอกจากอาการเป็นลมทั้ง 3 แบบที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอาการที่คล้ายคลึงกับอาการเป็นลมอีกแบบหนึ่งที่สามารถพบได้ คืออาการ “แกล้งเป็นลม (Psychogenic pseudosyncope; PPS)” [อ่านว่า “ไซ-โค-เจ-นิก-ซู-โด-ซิน-โค-พี”] เป็นอาการที่ผู้เกิดอาการทำท่าเหมือนหมดสติไป โดยที่ไม่ได้หมดสติไปจริงๆ และไม่ได้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนขึ้น อาการแกล้งเป็นลมจะสัมพันธ์กับความเครียดทางจิตใจ และอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการแกล้งชัก ลักษณะที่มักพบในผู้ที่มีอาการแกล้งเป็นลม คือเกิดในผู้หญิงอายุน้อย อาจมีประวัติเคยเป็นลมธรรมดามาก่อน อาจเคยถูกทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายทางเพศ อาการหมดสติที่เกิดมักจะยาวนานกว่าอาการเป็นลมโดยทั่วไป (มักราว 5 – 20 นาที) และเกิดบ่อย ขณะที่ล้มลงมักจะหลับตา (อาการเป็นลมแบบอื่นผู้ที่เกิดอาการมักจะลืมตาขณะที่กำลังหมดสติ) ไม่มีอาการหน้าซีดหรือเหงื่อออก ไม่ค่อยมีอาการบาดเจ็บจากการล้มลง ระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติ เหล่านี้เป็นต้น ผู้ที่เกิดอาการแกล้งเป็นลมควรได้รับการช่วยเหลือดูแลทางด้านจิตใจ [1,4,13]

ภาวะของร่างกายอย่างหนึ่งที่อาจมีผลกับอาการเป็นลมคือภาวะโลหิตจาง (Anemia) ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางน่าจะเกิดอาการเป็นลมขึ้นได้ง่าย เนื่องจากความเข้มข้นเลือดต่ำ (มีปริมาณเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนน้อย) จึงน่าจะมีโอกาสทำให้สมองขาดออกซิเจนได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่อาจเนื่องจากร่างกายของผู้ที่มีภาวะโลหิตจางนั้นมีการปรับตัวเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปที่สมองมากขึ้น [19] และภาวะโลหิตจางไม่ได้ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ทำให้มีโอกาสพบได้น้อยที่ภาวะโลหิตจางเพียงอย่างเดียวจะเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดอาการเป็นลมขึ้นได้ [13] ซึ่งจะแตกต่างจากการเสียเลือดแบบเฉียบพลัน (อย่างเลือดออกจากแผล หรือหลังบริจาคเลือด) ที่สามารถเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเป็นลมจากการเปลี่ยนท่า หรือการมองเห็นเลือดที่เป็นตัวกระตุ้นของอาการเป็นลมธรรมดา ภาวะโลหิตจางอาจทำให้เกิดอาการเป็นลมได้โดยทางอ้อม อย่างในผู้ที่เป็นโรคเบต้าทาลัสซีเมียชนิดรุนแรง (Beta thalassemia major) ซึ่งมีภาวะโลหิตจางรุนแรง และมีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจชนิดขยายตัว (Dilated cardiomyopathy) จะเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเป็นลมได้ [13] แม้ว่าภาวะโลหิตจางมักไม่ก่อให้เกิดอาการเป็นลมหมดสติโดยตรง แต่ภาวะโลหิตจางก็ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับอาการคล้ายจะเป็นลม และในผู้ที่เกิดอาการเป็นลมหากมีภาวะโลหิตจางร่วมด้วย ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการเป็นลมเป็นอันตรายมากขึ้นได้ [1,13]

กล่าวโดยสรุป อาการเป็นลมนั้นแม้จะเป็นอาการที่หายได้เอง และส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นอาการที่นำไปสู่อันตรายร้ายแรงได้ (อย่างกรณีอาการเป็นลมจากสาเหตุโรคหัวใจ) ผู้ที่มีอาการเป็นลมในลักษณะที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นบ่อยโดยไม่มีสาเหตุหรือตัวกระตุ้นที่แน่ชัด อาการเป็นลมในผู้สูงอายุ อาการเป็นลมในผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม (อย่างโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด) อาการเป็นลมที่เกิดขณะอยู่ในท่านอนราบหรือขณะกำลังออกแรง ผู้ที่มีอาการเป็นลมในลักษณะเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและรักษาจะเป็นการดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Task Force for the Diagnosis and Management of Syncope of the European Society of Cardiology (ESC). Guidelines for the diagnosis and management of syncope (version 2009). Eur Heart J 2009;30(21):2631-71.

  2. American Heart Association (AHA). Syncope (Fainting) [Internet]. 2017 [cited 2020 Dec 4]. Available from: https://www.heart.org/en/health-topics/arrhythmia/symptoms-diagnosis--monitoring-of-arrhythmia/syncope-fainting.

  3. Cleveland Clinic. Syncope [Internet]. 2019 [cited 2020 Dec 4]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17536-syncope.

  4. Runser LA, Gauer RL, Houser A. Syncope: Evaluation and differential diagnosis. Am Fam Physician 2017;95(5):303-12.

  5. UpToDate. Patient education: Syncope (fainting) (Beyond the Basics) [Internet]. 2019 [cited 2020 Dec 9]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/syncope-fainting-beyond-the-basics.

  6. Mayo Clinic. Vasovagal syncope – Symptoms and causes [Internet]. 2018 [cited 2020 Dec 9]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vasovagal-syncope/symptoms-causes/syc-20350527.

  7. Alboni P, Alboni M. Vasovagal syncope as a manifestation of an evolutionary selected trait. J Atr Fibrillation 2014;7(2):1035.

  8. Gauer RL. Evaluation of syncope. Am Fam Physician 2011;84(6):640-50.

  9. O'Rourke RA. The Stokes-Adams syndrome. Calif Med 1972;117(1):96-9.

  10. Sutton R. Syncope in patients with pacemakers. Arrhythm Electrophysiol Rev 2015;4(3): 189-92.

  11. Bänsch D, Brunn J, Castrucci M, Weber M, Gietzen F, Borggrefe M, et. al. Syncope in patients with an implantable cardioverter-defibrillator: Incidence, prediction and implications for driving restrictions. J Am Coll Cardiol 1998;31(3):608-15.

  12. StatPearls. Cardiac syncope [Internet]. 2020 [cited 2020 Dec 15]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK526027/.

  13. Shen WK, Sheldon RS, Benditt DG, Cohen MI, Forman DE, Goldberger ZD, et. al. 2017 ACC/AHA/HRS Guideline for the evaluation and management of Patients with Syncope: A report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines and the Heart Rhythm Society. Circulation 2017;136(5):e60-e122.

  14. Mayo Clinic. Orthostatic hypotension (Postural hypotension) – Symptoms and causes [Internet]. 2020 [cited 2020 Dec 16]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/orthostatic-hypotension/symptoms-causes/syc-20352548.

  15. Low PA, Tomalia VA. Orthostatic hypotension: Mechanisms, causes, management. J Clin Neurol 2015;11(3):220-6.

  16. O'Connor JD, O'Connell MDL, Nolan H, Newman L, Knight SP, Kenny RA. Impact of standing speed on the peripheral and central hemodynamic response to orthostasis: Evidence from the Irish Longitudinal Study on Ageing. Hypertension 2020;75(2):524-31.

  17. Freeman R, Wieling W, Axelrod FB, Benditt DG, Benarroch E, Biaggioni I, et. al. Consensus statement on the definition of orthostatic hypotension, neurally mediated syncope and the postural tachycardia syndrome. Clin Auton Res 2011;21(2):69-72.

  18. Unger T, Borghi C, Charchar F, Khan NA, Poulter NR, Prabhakaran D, et al. 2020 International Society of Hypertension global hypertension practice guidelines. J Hypertens 2020;38(6): 982-1004.

  19. Hare GM. Anaemia and the brain. Curr Opin Anaesthesiol 2004;17(5):363-9.