การทดสอบลานสายตาด้วยวิธีหันหน้าเข้าหากัน (Confrontation Testing of the Visual Field)
บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 18 มกราคม 2561
ลานสายตา (Visual field) คือขอบเขตพื้นที่ของการมองเห็นภาพทั้งหมดที่ตามองเห็นได้ [1] เป็นคุณสมบัติหนึ่งของการมองที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ เนื่องจากขอบเขตพื้นที่การมองที่กว้างขวางเพียงพอ ทำให้คนเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งของต่างๆ รอบตัวได้อย่างเหมาะสม ผู้ที่มีขอบเขตพื้นที่การมองผิดปกติ อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานหรือการทำกิจกรรมบางอย่างได้ เช่น การเดินข้ามถนน การเดินในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวาง การเดินหลบสิ่งของที่เคลื่อนไหวไปมา การขับรถ การอ่านหนังสือ
ในการวัดลานสายตานั้น ปกติจะวัดขอบเขตพื้นที่การมองในขณะที่ตาเรามองพุ่งตรงไปข้างหน้า โดยในคนปกติลานสายตาแต่ละข้างจะมีขอบเขตโดยประมาณดังนี้ [1] ด้านจมูก มองได้ถึง 60 องศา จากเส้นศูนย์กลางแนวตั้ง (Vertical meridian) ด้านขมับ มองได้ถึง 100 องศา จากเส้นศูนย์กลางแนวตั้ง ด้านบน มองได้ถึง 60 องศา จากเส้นศูนย์กลางแนวนอน (Horizontal meridian) และด้านล่าง มองได้ถึง 75 องศา จากเส้นศูนย์กลางแนวนอน เมื่อมองด้วย 2 ตาพร้อมกัน ขอบเขตพื้นที่การมองก็จะกว้างยิ่งขึ้น [1]
การทดสอบลานสายตา (Visual field test) เพื่อดูว่าผู้มารับบริการทางสุขภาพนั้นมีปัญหาลานสายตาหรือไม่ มีอยู่หลายวิธี แต่การทดสอบในระดับคัดกรองแบบหนึ่งที่ผู้ให้บริการทางสุขภาพสามารถทำได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือตรวจเป็นพิเศษ คือการทดสอบหันหน้าเข้าหากัน (Confrontation test หรือ Donder’s test [1] ) [หมายเหตุ คำว่า “Confrontation” หากแปลตรงตัวจะแปลว่า “การเผชิญหน้า” หรือ “การประจันหน้า” แต่ในภาษาไทยสองคำนี้มักใช้ในความหมายของผู้ที่เป็นอริกัน ในบทความนี้จึงเลือกใช้คำว่า “การหันหน้าเข้าหากัน” แทน อย่างไรก็ตาม หากแปลคำว่า “Confrontation test” แบบตรงตัวว่า “การทดสอบเผชิญหน้า” หรือ “การทดสอบประจันหน้า” ก็ไม่ถือว่าผิด]
การทดสอบหันหน้าเข้าหากัน (Confrontation test) นี้ เป็นการทดสอบเพื่อค้นหาปัญหาลานสายตาของผู้มารับบริการทางสุขภาพแบบคร่าวๆ ในระดับคัดกรอง (Screening test) แต่ก็เป็นประโยชน์พอสมควร เนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ผู้ให้บริการทางสุขภาพสามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ในหลายกรณี เช่น การตรวจผู้ป่วยข้างเตียง การตรวจในชุมชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล การตรวจในห้องพยาบาลของสถานประกอบการ หรือการตรวจที่สถานบริการปฐมภูมิ (Primary care unit) ซึ่งไม่มีเครื่องมือตรวจพิเศษ การทดสอบนี้ถือว่าเป็นการตรวจคร่าวๆ เบื้องต้น เพื่อค้นหาภาวะลานสายตาผิดปกติในผู้มารับบริการรายที่สงสัย ก่อนที่จะส่งต่อไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันต่อไป
สำหรับขั้นตอนในการทดสอบนั้น ในตำราและเอกสารวิชาการต่างๆ มีการระบุรายละเอียดวิธีการทดสอบไว้อย่างหลากหลาย [2-7] แต่ละวิธีมีความเหมือนกันในหลักการ แต่แตกต่างกันในรายละเอียด [2] โดยวิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก ที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้ คือการทดสอบด้วยการให้ผู้เข้ารับการตรวจนับนิ้ว (Finger counting) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนการทดสอบหันหน้าเข้าหากันด้วยการให้ผู้เข้ารับการตรวจนับนิ้ว (Finger counting)
- ผู้ทำการตรวจจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีประวัติความผิดปกติของลานสายตามาก่อน
- พื้นที่ตรวจควรมีความสว่าง ฉากหลังของผู้ทำการตรวจ (Background) ควรเป็นผนังสีเรียบ ไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจ ไม่มีแหล่งกำเนิดแสงจ้า (Glare) เช่น โคมไฟ กระจก หน้าต่าง ที่ส่องหรือสะท้อนแสงเข้าตาผู้เข้ารับการตรวจโดยตรง [5]
- ถ้าผู้เข้ารับการตรวจใส่แว่นให้ถอดแว่นออกก่อน ถ้าใส่เครื่องแต่งกายอื่นใดที่อาจบดบังลานสายตา เช่น หมวกปีกกว้าง ให้ถอดออกก่อน
- เริ่มการตรวจ ให้ผู้ทำการตรวจกับผู้เข้ารับการตรวจนั่งหันหน้าตรงเข้าหากัน ในระดับความสูงที่ใกล้เคียงกัน โดยให้นั่งห่างกันประมาณ 2/3 เมตร (ประมาณ 66 เซนติเมตรหรือหนึ่งช่วงแขน) [6-7] [หมายเหตุบางตำราบอกให้นั่งห่างกันประมาณ 1 เมตร [2]]
- เนื่องจากจะทำการตรวจตาทีละข้าง ให้ผู้เข้ารับการตรวจเอามือปิดตาข้างที่ไม่ได้ตรวจไว้ ส่วนผู้ทำการตรวจให้หลับตาข้างที่ตรงข้ามกัน (Opposing eye) [6] คือ ถ้าต้องการตรวจ ตาขวาของผู้เข้ารับการตรวจ ให้ผู้ทำการตรวจหลับตาขวาและ ลืมตาซ้าย ถ้าต้องการตรวจ ตาซ้ายของผู้เข้ารับการตรวจ ก็ให้ผู้ทำการตรวจหลับตาซ้ายและ ลืมตาขวา ถ้าทำถูกต้องตาข้างที่ลืมอยู่ของทั้งสองคนจะตรงกันพอดี
- ตาของผู้เข้ารับการตรวจ ให้มองจ้องที่จมูกของผู้ทำการตรวจ ในลักษณะที่มองอยู่จุดเดียว ไม่กลอกตาไปมา (เรียกว่าทำ Fixation) [2, 4-5] [หมายเหตุ บางตำราบอกให้มองจ้องที่ตาของผู้ทำการตรวจ [5-7]]
- ส่วนตาของผู้ทำการตรวจนั้น ให้มองไปที่ตาของผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อดูว่าในระหว่างการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจทำการกลอกตาไปมองหาวัตถุที่ใช้ทดสอบ (ซึ่งในกรณีนี้คือนิ้ว) หรือไม่ หากมีการเผลอกลอกตาไปมองหาวัตถุที่ใช้ทดสอบ (คือไม่ทำ Fixation) ในขั้นตอนการตรวจขั้นนั้นจะต้องทำใหม่
- ผู้ทำการตรวจแบ่งขอบเขตพื้นที่การมองของผู้เข้ารับการตรวจไว้ในใจ โดยจากดวงตาซึ่งเป็นจุดศูนย์กลาง ให้ขีดเส้นศูนย์กลางแนวตั้งและแนวนอนเป็นเส้นสมมติ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน (Quadrant) คือส่วนบนด้านขมับ (Superotemporal), ส่วนล่างด้านขมับ (Inferotemporal), ส่วนบนด้านจมูก (Superonasal), และส่วนล่างด้านจมูก (Inferonasal) [2]
- เลือกพื้นที่หนึ่งจากพื้นที่ 4 ส่วนที่แบ่งไว้ ให้ผู้ทำการตรวจใช้มือยื่นเข้ามาจากทางด้านข้างของขอบเขตการมอง โดยชูนิ้ว “หนึ่งนิ้ว” หรือ “สองนิ้ว” [2, 4] แบบสุ่ม (Random) ที่ระยะห่างประมาณกึ่งกลางระหว่างที่สองคนนั่ง ในตำแหน่งทำมุมประมาณ 20 – 30 องศาจากเส้นศูนย์กลางแนวตั้ง [2] ชูนิ้วแล้วนิ่งค้างไว้ ลักษณะดังแสดงในภาพที่ 1 – 4 สอบถามผู้เข้ารับการตรวจว่าเห็นนิ้วมือกี่นิ้ว แล้วพิจารณาว่าผู้เข้ารับการตรวจตอบได้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าตอบไม่ถูกอาจลองทดสอบซ้ำที่ตำแหน่งอื่นในพื้นที่การมองส่วนนั้นเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ [หมายเหตุ ในเรื่องการชูนิ้วมีการแนะนำไว้หลากหลาย บางตำราจะให้เลือกชูนิ้วได้ 3 แบบ คือ “หนึ่งนิ้ว” “สองนิ้ว” หรือ “ห้านิ้ว” [5] บางตำราให้ชู “หนึ่งนิ้ว” หรือ “สองนิ้ว” แต่ใช้สองมือพร้อมกัน แล้วให้ผู้เข้ารับการตรวจบอกผลรวม เพื่อให้สามารถตรวจพื้นที่การมองได้พร้อมกันทีละ 2 ส่วน เพื่อความรวดเร็ว [5] บางตำราให้ชูนิ้วออกมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วหดนิ้วกลับ ไม่ให้ชูค้างไว้ [2] ส่วนในเรื่องตำแหน่งของมือที่ชูนิ้ว มีคำแนะนำให้มืออยู่ในตำแหน่งทำมุมกับเส้นศูนย์กลางแนวตั้งหลากหลาย ตั้งแต่ 20 องศา [6], 20 – 30 องศา [2], 35 องศา [7], หรือ 40 – 60 องศา [5] ความมุ่งหมายของการทดสอบขั้นตอนนี้ ต้องการตรวจพื้นที่การมองส่วนรอบนอก (Peripheral field) ซึ่งตำแหน่งของการทำมุมที่มากขึ้นนั้น ก็ทำให้เป็นการตรวจส่วนที่ใกล้ขอบของพื้นที่การมองมากขึ้น [2]]
- ทำการตรวจซ้ำแบบเดียวกันในพื้นที่การมองส่วนอื่นไปจนครบทั้ง 4 ส่วน ซึ่งจะทำให้ตาข้างหนึ่ง ต้องสอบถามว่าเห็นกี่นิ้ว 4 ครั้งเป็นอย่างน้อย ถ้าผู้เข้ารับการตรวจตอบได้ถูกต้องทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นปกติ
- หลังจากนั้นให้ทำการตรวจสอบพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field) โดยผู้ทำการตรวจลืมตาทั้งสองข้าง ส่วนผู้เข้ารับการตรวจยังเอามือปิดตาข้างที่ไม่ได้ตรวจไว้ และตาข้างที่ตรวจยังมองจ้องอยู่ที่จมูกของผู้ทำการตรวจ จากนั้นให้ผู้เข้ารับการตรวจดูใบหน้าของผู้ทำการตรวจ ว่ามีส่วนใดหายไป (Missing) เบลอ (Blur) หรือดูบิดเบี้ยว (Distort) บ้างหรือไม่ [2, 5] ถ้ามีส่วนใดของใบหน้าหายไป เบลอ หรือบิดเบี้ยว ผู้เข้ารับการตรวจอาจมีความผิดปกติของพื้นที่การมองส่วนกลางในตาข้างนั้น
- ทำการตรวจตาอีกข้างหนึ่งด้วยวิธีเดียวกัน
ภาพที่ 1 ตรวจตาซ้ายพื้นที่การมองส่วนบนด้านขมับ (Superotemporal)
ภาพที่ 2 ตรวจตาซ้ายพื้นที่การมองส่วนล่างด้านขมับ (Inferotemporal)
ภาพที่ 3 ตรวจตาซ้ายพื้นที่การมองส่วนบนด้านจมูก (Superonasal)
ภาพที่ 4 ตรวจตาซ้ายพื้นที่การมองส่วนล่างด้านจมูก (Inferonasal)
ขั้นตอนการตรวจดังที่กล่าวมานี้ สามารถนำมาใช้กับวิธีการตรวจแบบอื่นๆ ได้ด้วย โดยเปลี่ยนวัตถุที่ใช้ทดสอบ จากการนับนิ้ว (Finger counting) เป็นสิ่งอื่น [2, 6] ได้แก่ (1) การโบกมือไปมา (Hand motion) แล้วสอบถามว่าผู้เข้ารับการตรวจเห็นการโบกมือหรือไม่ (2) การกระดิกนิ้วไปมา (Finger wiggle) แล้วสอบถามว่าผู้เข้ารับการตรวจเห็นนิ้วที่กระดิกหรือไม่ (3) การนับนิ้ว (Finger counting) ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว (4) การเคลื่อนที่ของนิ้ว (Kinetic to finger) โดยใช้นิ้วชี้ของผู้ทำการตรวจเคลื่อนที่ โดยเริ่มจากด้านนอกขอบเขตภาพเข้ามา แล้วให้ผู้เข้ารับการตรวจแจ้งทันทีเมื่อเริ่มเห็นนิ้ว ทำการตรวจในพื้นที่การมองทั้ง 4 ส่วน (5) การเคลื่อนที่ของวัตถุสีแดงสด (Kinetic to red target) ทำการตรวจเหมือนวิธีการเคลื่อนที่ของนิ้ว แต่เปลี่ยนเป็นการเคลื่อนที่ของวัตถุสีแดงสดที่เห็นได้ชัด ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร เช่น ฝาของขวดยาหยอดตา (6) เปรียบเทียบมือ (Hand comparison) ให้ผู้ทำการตรวจใช้ฝ่ามือทั้งสองข้าง ชูขึ้นให้ผู้เข้ารับการตรวจมอง ในพื้นที่การมอง 2 ส่วนพร้อมกัน แล้วเปรียบเทียบว่ามีฝ่ามือข้างใดที่สีจางลงหรือเห็นได้ไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับอีกข้างหนึ่งหรือไม่ (7) เปรียบเทียบวัตถุสีแดงสด (Red color comparison) ทำการตรวจเหมือนวิธีการเปรียบเทียบมือ แต่เปลี่ยนเป็นใช้วัตถุสีแดงสด ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร จำนวน 2 อันที่มีสีสดเท่ากัน ชูขึ้นในพื้นที่การมอง 2 ส่วนพร้อมกัน แล้วสอบถามว่ามีวัตถุอันใดที่ดูสีซีดลงกว่าอีกอันหรือเห็นไม่ชัดเจนหรือไม่ (8) ทดสอบด้วยวัตถุสีแดงสดเฉพาะพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field test to red target) ใช้วัตถุสีแดงสดขนาด 5 มิลลิเมตร ชูไว้ในตำแหน่งต่างๆ ภายในพื้นที่การมองส่วนกลาง ซึ่งหมายถึงตำแหน่งที่ทำมุมออกไปไม่เกิน 20 องศาจากเส้นศูนย์กลางแนวตั้งและแนวนอน แล้วสอบถามผู้เข้ารับการตรวจว่ามองเห็นวัตถุสีแดงสดนี้ชัดเจนหรือไม่ในแต่ละตำแหน่ง
เชื่อกันว่าการตรวจโดยใช้วัตถุที่ใช้ทดสอบ (Stimuli) ที่แตกต่างกันแต่ละวิธีนี้ ทำให้มีความหลากหลายต่อผลการทดสอบ และบางครั้งการใช้หลายวิธีร่วมกันสามารถประเมินความรุนแรงของรอยโรคได้ [2] เช่น วัตถุที่ใช้ทดสอบที่มีความหยาบอย่างวิธีการโบกมือไปมา (Hand motion) หรือกระดิกนิ้วไปมา (Finger wiggle) นั้น จะสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ก็ต่อเมื่อรอยโรคนั้นมีความลึก (Deep) คือเป็นลักษณะของการสูญเสียการมองเห็นในบริเวณนั้นไปเลย (Absolute scotoma) แต่วัตถุทดสอบที่มีความละเอียดอย่างวิธีเปรียบเทียบมือ (Hand comparison) หรือวิธีเปรียบเทียบวัตถุสีแดงสด (Red color comparison) สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่รอยโรคยังตื้น (Shallow) คือเป็นลักษณะที่ยังมองเห็นภาพแต่บิดเบี้ยว (Relative scotoma) ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่ทดสอบด้วยวิธีกระดิกนิ้วแล้วยังมองเห็นนิ้วที่กระดิกได้ แต่เมื่อทดสอบด้วยวิธีเปรียบเทียบวัตถุสีแดงสดแล้วเห็นความแตกต่างของสี มีความเป็นไปได้ว่ารอยโรคของลานสายตาในจุดนั้นจะเป็นรอยโรคแบบที่ยังมองเห็นภาพแต่บิดเบี้ยว (Relative scotoma) มากกว่าแบบที่มองไม่เห็นภาพเลย (Absolute scotoma) [2] ดังนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิธีที่ใช้วัตถุทดสอบที่มีความละเอียดมากขึ้น ก็มักจะใช้เวลาในการตรวจนานขึ้น แม้จะทำให้มีโอกาสตรวจพบรอยโรคได้มากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มในการเกิดผลบวกลวงได้มากกว่า เช่นวิธีเปรียบเทียบมือ (Hand comparison) หรือวิธีเปรียบเทียบวัตถุสีแดงสด (Red color comparison) นั้น บางครั้งการที่ผู้เข้ารับการตรวจมองเห็นสีของมือหรือวัตถุสีแดงสดที่ต่างกัน อาจเกิดขึ้นจากแสงไฟในห้องตรวจที่สว่างไม่เท่ากัน หรือฉากหลังที่มีลวดลายจนทำให้เกิดความสับสนก็ได้ [2]
แม้ว่าการทดสอบหันหน้าเข้าหากันนั้นจะทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามการตรวจนี้ยังมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการตรวจคัดกรองทางการแพทย์อื่นๆ ทั่วไป ซึ่งผู้ให้บริการทางสุขภาพที่นำการทดสอบนี้มาใช้จำเป็นต้องระลึกไว้อยู่เสมอ ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างแรกของการทดสอบหันหน้าเข้าหากันก็คือมีความไวต่ำ (Low sensitivity) โดยข้อมูลจากการวิจัยที่ทำการทดสอบหันหน้าเข้าหากันในผู้ป่วยที่มีปัญหาลานสายตา เปรียบเทียบโดยเอาการทดสอบลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Automated perimetry) เป็นมาตรฐานอ้างอิง (Gold standard) [6-7] พบว่าการทดสอบหันหน้าเข้าหากันมีความไวในการคัดกรองปัญหาลานสายตารวมทุกชนิดในประชากรกลุ่มตัวอย่างเพียง 35 – 73 % โดยวิธีการที่นิยมนำมาใช้ในทางปฏิบัติล้วนแต่มีความไวค่อนข้างต่ำมาก [6-7] เช่น ความไวของวิธีการนับนิ้ว (Finger counting) 35 %, วิธีการกระดิกนิ้วไปมา (Finger wiggle) 37 %, วิธีการเคลื่อนที่ของนิ้ว (Kinetic to finger) 40 % วิธีการตรวจที่มีความไวสูงที่สุดคือวิธีทดสอบด้วยวัตถุสีแดงสดเฉพาะพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field test to red target) ซึ่งมีความไว 73 % [6] ซึ่งก็ถือว่าไม่สูงมากนัก
หากแยกชนิดของความผิดปกติของลานสายตาแล้ว พบว่าการทดสอบหันหน้าเข้าหากันนั้นจะสามารถตรวจพบบางชนิดของความผิดปกติได้ดี เช่น ชนิดที่พื้นที่การมองครึ่งบนหรือครึ่งล่างหายไป (Altitudinal visual field defect) เช่นที่พบในโรค Ischemic optic neuropathy กับชนิดที่ภาพส่วนกลางผิดปกติ (Central scotoma) เช่นที่พบในโรค Optic neuritis จะตรวจพบได้ประมาณ 80 – 100 % [2, 7], ชนิดที่พื้นที่การมองครึ่งซ้ายหรือครึ่งขวาในด้านเดียวกันหายไปทั้งสองตา (Homonymous heminopsia) เช่นที่พบในหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือเนื้องอกในสมอง (Brain tumor) จะตรวจพบได้ประมาณ 76 % [7] แต่จะตรวจพบบางชนิดของความผิดปกติได้ไม่ดี เช่น ชนิดที่พื้นที่การมองครึ่งด้านขมับหายไปทั้งสองตา (Bitemporal heminopsia) เช่นที่พบในโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary tumor) จะตรวจพบได้เพียงประมาณ 50 % [2, 7] ชนิดที่พื้นที่การมองหายไปเป็นรูปวงโค้ง (Arcuate visual field defect) เช่นที่พบในโรคต้อหิน (Glaucoma) จะตรวจพบได้เพียงประมาณ 19 % [7] ชนิดที่ภาพบริเวณรอบส่วนกลางผิดปกติ (Paracentral scotoma) ตรวจพบได้เพียง 33 % [7] ชนิดที่วงภาพแคบลง (Constriction visual field defect) ตรวจพบได้เพียง 50 % [7] จะเห็นว่ารอยโรคชนิดที่มีขนาดเล็ก ตื้น หรือไม่ชัดเจนนั้นส่วนใหญ่มีความไวในการตรวจพบที่ต่ำมาก [6]
ด้วยเหตุนี้ผู้ให้บริการทางสุขภาพที่ใช้การทดสอบหันหน้าเข้าหากันในการคัดกรองโรค จะต้องระลึกถึงข้อจำกัดนี้ไว้เสมอ ผู้เข้ารับการตรวจที่ผลการทดสอบออกมาไม่พบความผิดปกติ อาจมีความผิดปกติอยู่จริงก็ได้ แต่การทดสอบนี้มีความไวไม่เพียงพอที่จะตรวจพบ หากผู้เข้ารับการตรวจให้ประวัติการมองภาพที่ทำให้สงสัยถึงความผิดปกติของลานสายตา แม้ผลการตรวจคัดกรองด้วยการทดสอบหันหน้าเข้าหากันจะเป็นปกติ ก็ควรส่งต่อไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจละเอียดทุกราย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความไวต่ำ แต่การทดสอบหันหน้าเข้าหากันก็มีความจำเพาะที่สูง (High sensitivity) หมายถึง ถ้าตรวจพบผลเป็นบวกแล้ว เมื่อส่งไปตรวจยืนยันมักจะมีความผิดปกติอยู่จริงๆ โดยในการศึกษาวิจัยที่ทำการเปรียบเทียบการทดสอบหันหน้าเข้าหากัน กับการทดสอบลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ [6-7] พบว่าการทดสอบหันหน้าเข้าหากันมีความจำเพาะสูงมากถึง 93.4 – 100.0 % ด้วยเหตุที่มีความจำเพาะสูงนี้ หากทำการตรวจคัดกรองด้วยการทดสอบหันหน้าเข้าหากันแล้วพบผลเป็นบวก คือสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติของลานสายตา ผู้ให้บริการทางสุขภาพจะต้องส่งตัวผู้เข้ารับการตรวจไปพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วยเครื่องมือที่มีความละเอียดมากขึ้น เช่น ทำการทดสอบลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Automated perimetry) ทุกครั้ง
ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งของการทดสอบหันหน้าเข้าหากัน คือมักจะไม่สามารถค้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field) ได้ดีนัก แต่ปัญหาลานสายตาที่เกิดขึ้นนั้น บ่อยครั้งจะเกิดปัญหาขึ้นที่บริเวณพื้นที่การมองส่วนกลาง [6] อย่างเช่นปัญหาลานสายตาที่เกิดในผู้ที่เป็นต้อหิน (Glaucoma) หรือโรคจอประสาทตาเสื่อม (Macular degeneration) เป็นต้น ในการทดสอบหันหน้าเข้าหากันโดยทั่วไปจะเน้นการตรวจที่พื้นที่การมองรอบนอก (Peripheral field) เป็นหลัก แต่ก็สามารถตรวจพื้นที่การมองส่วนกลางด้วยได้ โดยการให้มองใบหน้าของผู้ทำการตรวจ (ดังที่ได้ระบุไว้แล้วในส่วนขั้นตอนการตรวจ) [2] ซึ่งการตรวจโดยการให้มองใบหน้าของผู้ทำการตรวจว่ามีส่วนใดหายไป ไม่ชัดเจน หรือบิดเบี้ยวนี้ เป็นการตรวจพื้นที่การมองส่วนกลางที่ง่ายและรวดเร็ว แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะตรวจไม่พบความผิดปกติได้ เนื่องจากผู้ที่มีปัญหาการมองบริเวณพื้นที่การมองส่วนกลางบางราย อาจเกิดการปรับตัวเมื่อให้มองสิ่งที่คาดเดาได้ง่ายอย่างใบหน้าคน ทำให้มีความรู้สึกว่ามองเห็นได้ครบถ้วนแม้ว่าในความเป็นจริงจะมองไม่เห็นในบางส่วน (เรียกว่ามีภาวะ Filling in หรือ Completion effect) [2] ผลการศึกษาวิจัยพบว่าวิธีการมองใบหน้าผู้ทำการตรวจนี้ มีความไวในการค้นหาความผิดปกติของลานสายตารวมทุกชนิดได้ค่อนข้างต่ำเช่นกัน คือมีความไวอยู่ที่ 44 % [6] นอกจากวิธีการทดสอบโดยให้มองใบหน้าของผู้ทำการตรวจแล้ว การตรวจพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field) ยังอาจทำได้โดยใช้การทดสอบหันหน้าเข้าหากันวิธีอื่น เช่น วิธีทดสอบด้วยวัตถุสีแดงสดเฉพาะพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field test to red target) ซึ่งจะมีความไวในการตรวจหาความผิดปกติที่สูงขึ้น คืออยู่ที่ประมาณ 73 % แต่อาจใช้เวลาในการตรวจมากกว่า
วิธีการตรวจอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นการคัดกรองความผิดปกติบริเวณพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field) ที่ทำได้ไม่ยาก และอาจนำมาใช้เสริมกับการทดสอบหันหน้าเข้าหากันได้ คือการใช้แผ่นทดสอบแอมสเลอร์ (Amsler grid ) [1-2] ซึ่งมีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายช่องซึ่งเกิดจากเส้นแนวตั้งและแนวนอนตัดกัน และมีจุดอยู่ตรงกึ่งกลางตาราง ดังแสดงในภาพที่ 5 ทำการทดสอบโดยให้ผู้เข้ารับการตรวจใส่แว่น (ถ้าปกติต้องใช้แว่นในการอ่านหนังสือ) ทำการทดสอบตาทีละข้าง โดยให้ปิดตาข้างที่ยังไม่ได้ทดสอบไว้ ถือแผ่นทดสอบแอมสเลอร์ห่างจากตัวประมาณ 14 นิ้ว (เท่ากับระยะปกติเวลาอ่านหนังสือ) โดยตาข้างที่ทดสอบให้มองจ้องที่จุดตรงกลางตาราง (ทำ Fixation) ถ้าเห็นเส้นตารางทุกเส้นชัดเจนดีและเป็นเส้นตรง (Straight) ถือว่าผลตรวจปกติ แต่ถ้าเห็นเส้นตารางหายไป (Missing) โค้ง (Bent) บิดเบี้ยว (Distort) เบลอ (Blur) หรือช่องตารางเบี้ยวไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยม ถือว่าผลตรวจผิดปกติ ตาข้างที่ทดสอบนั้นอาจมีความผิดปกติบริเวณพื้นที่การมองส่วนกลางได้ [1] จำเป็นต้องส่งต่อผู้เข้ารับการตรวจไปทำการตรวจยืนยันกับจักษุแพทย์ การทดสอบด้วยแผ่นทดสอบแอมสเลอร์นี้ แม้จะมีความไวในการตรวจพบความผิดปกติไม่มาก [8] คือมีความไวในการตรวจพบความผิดปกติบริเวณพื้นที่การมองส่วนกลางได้เพียงประมาณ 56 % [8] แต่ก็เป็นการตรวจทำได้ง่าย สามารถนำมาใช้เป็นการตรวจเบื้องต้นแบบคร่าวๆ ได้เช่นเดียวกับการทดสอบหันหน้าเข้าหากัน
ภาพที่ 5 ตรวจพื้นที่การมองส่วนกลางด้วยแผ่นทดสอบแอมสเลอร์ (Amsler grid)
โดยสรุป การทดสอบหันหน้าเข้าหากัน (Confrontation test) เป็นการทดสอบลานสายตาในระดับการคัดกรองคร่าวๆ ในเบื้องต้น ที่มีข้อดีคือทำได้ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ มีความไวต่ำ (Low sensitivity) ทำให้อาจตรวจไม่พบความผิดปกติในผู้ที่มีความผิดปกติหลายราย แต่ก็มีความจำเพาะสูง (High specificity) ซึ่งทำให้ผู้ที่ทำการทดสอบแล้วพบผลบวก เมื่อส่งไปตรวจยืนยันแล้วมักจะพบว่ามีความผิดปกติของลานสายตาอยู่จริง การเลือกนำการทดสอบนี้มาใช้ในทางปฏิบัติ ผู้ให้บริการทางสุขภาพจะต้องระลึกถึงข้อจำกัดของการตรวจนี้เอาไว้ด้วยเสมอ การทดสอบหันหน้าเข้าหากันนี้ ไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจยืนยันด้วยเครื่องมือพิเศษที่มีความละเอียดกว่า อย่างการทดสอบลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Automated perimetry) ได้
เอกสารอ้างอิง
- Šidlová JS, Benes P, Holoubková Z. Visual field. Coll Antropol 2013;37 Suppl 1:111-5.
- Barton JJS, Sexton B. Examination of the visual field (Chapter 279). In: Albert DM, Miller JW, Azar DT, Blodi BA, editors. Albert & Jakobiec's principles & practice of ophthalmology. 3rd ed. Philadelphia: Saunders Elsevier; 2008. p. 9817-38.
- Schiefer U, Schiller J, Hart W. Perimetry (Chapter 4). In: Schiefer U, Wilhelm H, Hart W, editors. Clinical neuro-ophthalmology: A practical guide. Berlin: Springer; 2007. p. 29-53.
- Welsh RC. Finger counting in the four quadrants as a method of visual field gross screening. Arch Ophthalmol 1961;66:678-9.
- Anderson AJ, Shuey NH, Wall M. Rapid confrontation screening for peripheral visual field defects and extinction. Clin Exp Optom 2009;92(1):45-8.
- Pandit RJ, Gales K, Griffiths PG. Effectiveness of testing visual fields by confrontation. Lancet 2001;358(9290):1339-40.
- Johnson LN, Baloh FG. The accuracy of confrontation visual field test in comparison with automated perimetry. J Natl Med Assoc 1991;83(10):895-8.
- Crossland M, Rubin G. The Amsler chart: absence of evidence is not evidence of absence. Br J Ophthalmol 2007; 91(3):391-3.