แนวทางการดูแลตนเองเมื่อประสบภัยจากหมอกควัน

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 9 เมษายน 2557


(บทความนี้เป็นข้อมูลที่เรียบเรียงขึ้นสำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อการดูแลสุขภาพจากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะในซอยแพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557)


เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมจากหมอกควันในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นหมอกควันที่เกิดจากเพลิงไหม้ ไฟป่า ควันจากการเผาไหม้สารเคมีอุตสาหกรรม หรือการเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดหมอกควันพิษ ลอยตัวเข้าสู่ชุมชนเมืองและเขตพื้นที่พักอาศัย จนเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติการณ์คุณภาพอากาศขึ้นได้ หากพื้นที่พักอาศัยของท่านประสบเหตุการณ์ภัยจากหมอกควันอย่างรุนแรงเข้าแล้ว ควรปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้ในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

  1. ถ้าสามารถย้ายที่พักอาศัยไปอยู่กับญาติในพื้นที่อื่นชั่วคราวได้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รอจนหมอกควันในเขตที่พักอาศัยของท่านน้อยลงแล้วจึงค่อยกลับมา แต่ก็ต้องอย่าลืมปิดล็อกบ้านไว้อย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันโจรขโมยด้วย
  2. ถ้าไม่สามารถย้ายที่พักอาศัยได้ ควรปิดบ้านและอยู่แต่ภายในบ้านเป็นหลัก ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นอย่าออกนอกบ้าน ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาดๆ อุดตามร่องใต้ประตู ใช้แถบพลาสติกและเทปกาวปิดตามขอบหน้าต่าง เพื่อป้องกันหมอกควันเข้ามาภายในบ้าน ใช้เครื่องฟอกอากาศได้ แต่ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศ (โดยเฉพาะแบบที่มีระบบรับอากาศจากภายนอกเข้ามา) คอยติดตามข่าว ถ้ามีคำสั่งอพยพจากเจ้าหน้าที่ราชการ ก็ควรย้ายออกมา
  3. ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้ง
  4. งดการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงนอกบ้านไว้ชั่วคราวก่อน เช่น การวิ่งออกกำลังกายในพื้นที่ที่มีหมอกควัน เพราะเมื่อเราเหนื่อย จะทำให้อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น มีโอกาสได้รับหมอกควันเข้าสู่ร่างกายมากกว่าปกติ
  5. เด็กเล็กถ้าไม่จำเป็นอย่าให้ออกไปเล่นนอกบ้าน
  6. หากหมอกควันลงหนาจนทำให้ทัศนวิศัยไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงการเดินริมถนน หรือต้องพกไฟฉายติดตัว เมื่อขับขี่ยานพาหนะให้เปิดไฟส่องทางทุกครั้ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางจราจร
  7. ประชาชนกลุ่ม เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองอุดตัน เหล่านี้จัดว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะร่างกายมักจะมีความทนต่อหมอกควันได้น้อยกว่าปกติ ถ้าเป็นไปได้ควรให้อพยพไปพักอาศัยอยู่นอกพื้นที่ก่อนเป็นการชั่วคราว
  8. ถ้าร่างกายของท่านหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น อาการระคายเคืองจมูกและลำคอ แสบตา หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด ผื่นคันตามผิวหนัง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจรักษา
  9. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรกินยาอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อไปพบแพทย์ควรนำยาที่กินประจำไปด้วย