กลุ่มอาการกลัวการเกษียณ (The Retirement Syndrome)
บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 7 กุมภาพันธ์ 2560
คนเรานั้นเมื่อยึดติดกับสิ่งใดแล้ว เมื่อถึงคราวจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป บางครั้งก็เป็นการยากที่จะทำใจได้ อย่างเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน แม้ว่าเวลาทำงานอยู่นั้นอาจจะรู้สึกเหนื่อยหรือทุกข์บ้าง หรือสุขปนทุกข์ แต่คนบางคนเมื่อถึงเวลาที่จะต้องหยุดทำงานประจำ เนื่องจากการเกษียณอายุเมื่อมาถึงวัยอันควร กลับเกิดความทุกข์ความเครียดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอีกด้วยเช่นกัน บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มอาการดังที่กล่าวมา ซึ่งเกิดในคนบางคนที่มีความยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างมาก นักวิชาการชาวตะวันตกเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า “กลุ่มอาการกลัวการเกษียณ (The retirement syndrome)”
จริงๆ คำว่า “retirement syndrome” นี้ เป็นคำที่ชาวตะวันตกใช้พูดกันเล่นๆ มานานแล้ว ความหมายของคำนี้ในแต่ละบริบทการใช้ก็อาจจะแตกต่างกันไป แต่โดยรวมมักจะหมายถึงผลกระทบต่อจิตใจที่เกิดขึ้นในคนที่กำลังจะเกษียณอายุหรือเกษียณอายุไปแล้ว การนำคำนี้มาใช้อย่างเป็นการเป็นงานในครั้งแรกๆ เป็นการใช้โดย Robert Jay Lifton นักจิตวิทยาและนักเขียนชาวสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ. 1960 ซึ่งให้ความหมายคำว่า retirement syndrome เป็นลักษณะในกลุ่มนายทหารระดับนายพลที่เกษียณอายุ ว่ามักจะกล้าพูดต่อต้านนโยบายที่ชั่วร้ายก็ต่อเมื่อตนเองลงจากอำนาจหรือเกษียณอายุไปแล้วเท่านั้น [1-2] ความหมายของคำว่า retirement syndrome ที่ใช้โดย Robert Jay Lifton นี้ จึงอาจจะแตกต่างจากความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจไปบ้าง
ความหมายของ retirement syndrome ที่ตรงกับที่คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้น มีการใช้ในบทความวิจัยโดย John S. McNeil และ Martin B. Griffin ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางด้านจิตเวชศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1967 [3] บทความนี้กล่าวถึงความเครียดและอาการป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ ในกลุ่มทหารที่เกษียณและปลดประจำการไปแล้ว
เนื่องจากคำว่า “retirement syndrome” เป็นคำที่มักจะใช้ในภาษาพูดทั่วไป ในมุมมองด้านการแพทย์ การใช้คำว่า “retirement syndrome” วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยจึงอาจจะไม่เหมาะสมนัก หากผู้ป่วยที่แพทย์ดูแลมีลักษณะของ “retirement syndrome” อย่างชัดเจน คำที่แพทย์จะใช้วินิจฉัยได้อย่างเป็นทางการ ตามระบบ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM) ของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา [ขณะที่เรียบเรียงบทความนี้ ฉบับล่าสุดคือ DSM-5 เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2013] และระบบ International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems (ICD) ขององค์การอนามัยโลก [ขณะที่เรียบเรียงบทความนี้ ฉบับล่าสุดคือ ICD-10 เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1992 และกำลังมีการจัดทำฉบับถัดไปคือ ICD-11 อยู่] น่าจะใช้คำว่า “stressor-related disorders” หรือ “adjustment disorders” ดูจะเป็นการเหมาะสมกว่า [4]
ผู้ที่อธิบายความหมายของคำว่า “The retirement syndrome” ไว้อย่างละเอียด ตรงกับความเข้าใจของคนทั่วไป และให้แง่คิดอย่างมากท่านหนึ่ง คือ Manfred F. R. Kets de Vries นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ทางด้านการบริหารแห่งสถาบัน INSEAD ชาวเนเธอร์แลนด์ โดย Manfred F. R. Kets de Vries ได้เขียนบทความไว้ในปี ค.ศ. 2003 ในชื่อว่า “The retirement syndrome: The psychology of letting go” เพื่ออธิบายถึงลักษณะของสภาพจิตใจของผู้นำองค์กรหรือคนทำงานประจำที่กำลังจะเกษียณอายุ แต่ไม่อยากเกษียณ และเมื่อถึงเวลาเกษียณไปแล้วก็เกิดความเครียดขึ้นอย่างมาก [5]
Manfred F. R. Kets de Vries อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า ผู้นำองค์กรหรือคนที่ทำงานประจำที่อยู่ในอำนาจมานานๆ เมื่อถึงเวลาที่ใกล้จะต้องเกษียณอายุ บางคนจะเกิดอาการไม่อยากเกษียณขึ้น หากเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชนที่มีเกณฑ์อายุในการเกษียณชัดเจน ก็จะอยากคงอำนาจไว้ให้นานที่สุด และเมื่อเกษียณอายุไปแล้วก็จะเกิดความเครียดและซึมเศร้าอย่างมาก หากเป็นองค์กรที่เป็นธุรกิจในครอบครัว บางครั้งผู้นำองค์กรนั้นจะทำงานจนอายุมาก โดยไม่ยอมพัก หรือยอมให้ลูกหลานเข้ามาดูแลกิจการแทนเลย การที่เกิดลักษณะของ “The retirement syndrome” นี้ขึ้น เชื่อว่าเกิดจากเหตุหลายประการ ได้แก่ [5]
คนผู้นั้นมุ่งทำงานมาอย่างเดียวตลอดทั้งชีวิต (single-mindedness) โดยอาจจะไม่มีความสนใจในสิ่งอื่นๆ เลย (ใช้ชีวิตตรงกับสำนวนของชาวตะวันตกที่ว่า “put all eggs in one basket”) งานจึงเป็นสิ่งเดียวของชีวิตของเขา เป็นสิ่งที่ทำให้ได้รับความชื่นชม อำนาจ รายได้ ฐานะทางสังคม และทุกๆ อย่าง เมื่อต้องหยุดทำงาน แม้ว่าจะเนื่องจากการเกษียณอายุก็ตาม ก็จะรู้สึกว่าตนเองว่างเปล่า เกิดความเครียดและซึมเศร้า
ความกลัวที่จะสูญเสียฐานะทางสังคม (fear of losing public recognition) ผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารบางคนให้ความสำคัญกับหน้าตาในสังคมอย่างมาก การเป็นผู้นำหรือผู้บริหารทำให้รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ การสูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน จึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองสูญเสียฐานะทางสังคมไป
ความกลัวที่จะสูญเสียอำนาจในการสั่งการและความเป็นคนสำคัญ (loss of control and importance) ผู้นำองค์กร ผู้บริหาร หรือคนทำงานประจำที่มีตำแหน่งหน้าที่ บางคนอาจยึดติดและชื่นชอบการเป็นคนสำคัญ การมีอำนาจในการสั่งการผู้อื่น การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น การเป็นแบบอย่างต่อผู้อื่น รวมถึงการได้รับคำชื่นชมจากผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง การสูญเสียตำแหน่งหน้าที่ไป จึงเหมือนเป็นการสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปด้วย
ความกังวลใจในเรื่องการเงิน (financial concerns) เมื่อเกษียณแล้ว คนส่วนใหญ่รายได้มักจะลดลง ผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารบางคนอาจวางแผนการเงินไว้ในสมัยที่ยังอายุน้อยๆ ได้ไม่ดีนัก บางคนมีรายได้สูงมานาน อาจติดกับลักษณะการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย การเกษียณอายุทำให้รายได้ลดลง จึงทำให้เกิดความเครียด
ความกลัวถูกแก้แค้น (fear of retaliation) ในหนทางของการเติบโตขึ้นเป็นผู้นำองค์กรหรือผู้บริหาร และในระหว่างการทำงานบริหาร บางครั้งต้องมีการตัดสินใจที่ทำให้เกิดการเสียประโยชน์ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องบางกลุ่ม ยิ่งหากผู้นำหรือผู้บริหารผู้นั้นไม่มีศิลปะในการลดความไม่พึงพอใจ หรือทำการบริหารแบบไม่เป็นธรรมด้วยแล้ว บางครั้งอาจทำให้เกิดความแค้นขึ้น และเกิดการเอาคืนแบบตา-ต่อ-ตา ฟัน-ต่อ-ฟัน (talion principle) เมื่อผู้นำหรือผู้บริหารผู้นั้นหมดอำนาจลงแล้ว
ความอยากเป็นตำนาน (wish to leave a legacy) ผู้นำหรือผู้บริหารบางคนมีปมในใจที่อยากให้ตนเองดูเป็นคนยิ่งใหญ่ เรียกว่า “ปมอยากเป็นตำนาน (edifice complex)” เมื่อเข้ามาสู่อำนาจแล้วก็จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่โต หรือก่อสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ เมื่อถึงวัยเกษียณ ก็กังวลว่าทายาทธุรกิจหรือผู้รับช่วงต่อของตนเองจะดูแลสิ่งที่ตนเองทำไว้ได้ไม่ดีพอ หรือแม้แต่ทำให้อาณาจักรที่ตนเองสร้างไว้เสื่อมสลายลง จึงทำให้ยังตัดใจเลิกทำงานไม่ได้
จากเหตุผลหลายๆ ข้อที่กล่าวมา ทำให้ผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารหลายคนเกิดความเครียดและซึมเศร้าเมื่อต้องเกษียณอายุตนเอง อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดปัญหาไม่ให้มากจนเกินไป Manfred F. R. Kets de Vries ได้เสนอหนทางป้องกันปัญหาไว้ โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือด้านขององค์กร และด้านของตัวผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารที่จะเกษียณเอง
ในด้านขององค์กร การวางแผนการเกษียณของผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารไว้ล่วงหน้าย่อมทำให้เกิดผลดีกับทั้งสองฝ่าย การวางนโยบายอย่างเป็นระบบจะช่วยให้การทำงานขององค์กรยังคงลื่นไหล เช่น การค่อยๆ ลดบทบาทหรือลดเวลาการทำงานของผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารลงก่อนที่จะเกษียณ ก็เป็นวิธีการที่ดีวิธีหนึ่ง นโยบายบางอย่าง เช่น การให้ผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารที่เกษียณไปแล้ว มาเป็นที่ปรึกษาแบบ part time อาจช่วยให้ผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารได้ค่อยๆ ปรับตัว เป็นการแสดงความเอาใจใส่ต่อกัน และองค์กรได้ประโยชน์จากความรู้ในระบบงานของอดีตผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารที่มีอยู่เต็มเปี่ยม
ในด้านของตัวผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารเอง Manfred F. R. Kets de Vries แนะนำว่า เขาควรมองความแก่ว่าเป็นกระบวนการของธรรมชาติ ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะทำให้สภาพร่างกายและขีดความสามารถในบางด้านลดน้อยลง คนทุกคนมีวันที่จะต้องพักและเปิดทางให้คนรุ่นต่อไปได้มาทำงาน หากมีมุมมองเช่นนี้ก็จะช่วยลดความเครียดได้ การวางแผนก่อนการเกษียณเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งด้านการเงิน สังคม และชีวิตส่วนตัวก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะทำให้เกิดความพร้อมเมื่อวันที่ต้องเกษียณอายุมาถึง Manfred F. R. Kets de Vries ยังแนะนำด้วยว่า ผู้ที่กำลังจะเกษียณนั้น ควรพัฒนาความสนใจของตนเองในด้านอื่นนอกเหนือจากเรื่องงานบ้าง และควรหัดสร้างความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นในแบบที่มากกว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือทางการงานเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเกษียณ เพื่อการเกษียณจะได้เป็นไปอย่างสง่างาม ราบรื่น และยังคงได้รับความเคารพจากผู้อื่นอยู่
จริงๆ แล้วการเกษียณนั้น ก็จัดว่าเป็นเหตุการณ์ในชีวิตที่อาจก่อให้เกิดความเครียดได้มากอย่างหนึ่ง ในการจัดอันดับเหตุการณ์ในชีวิตที่ก่อให้เกิดความเครียด ที่เรียกกันว่า Holmes and Rahe stress scale นั้น การเกษียณถือว่าเป็นเหตุการณ์ในชีวิตที่อาจก่อให้เกิดความเครียดได้เป็นอันดับต้นๆ (อันดับที่ 10 จากทั้งหมด 43 เหตุการณ์ในชีวิตที่มักทำให้คนเราเครียด) [6] การเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณ ดังคำแนะนำที่ Manfred F. R. Kets de Vries ได้ให้ไว้ จึงเป็นสิ่งที่มีเหตุผล
การเกษียณที่มีปัญหานั้น ไม่ได้ก่อผลเสียแต่กับตัวผู้ที่เกษียณเองเพียงคนเดียว แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวของผู้ที่เกษียณด้วย ในประเทศญี่ปุ่น มีกลุ่มอาการที่เรียกกันว่า “กลุ่มอาการเบื่อสามีเกษียณ (retired husband syndrome หรือ RHS)” เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากการที่ภรรยาต้องอยู่ด้วยกันกับสามีที่เกษียณแล้วตลอดเวลา แล้วทำให้เกิดความเครียด รวมถึงอาการป่วยทางกาย เช่น ผื่นขึ้น แผลร้อนใน หอบหืดกำเริบ ความดันโลหิตสูง ตามมา [7] นายแพทย์ Nobuo Kurokawa ผู้มีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้มากว่า 10 ปี เชื่อว่ากลุ่มอาการ retired husband syndrome นี้ อาจเกิดขึ้นในคู่สมรสสูงวัยในประเทศญี่ปุ่นมากถึง 60 % เลยทีเดียว [7]
สาเหตุที่เกิดปัญหา retired husband syndrome ขึ้นนั้น เชื่อว่าเนื่องจากวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น จะให้ฝ่ายชายเป็นคนทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนฝ่ายหญิงเป็นแม่บ้าน เมื่อสามียังทำงานอยู่ คู่สามีภรรยาก็จะพบกันแต่ในช่วงค่ำและในวันหยุด แต่เมื่อฝ่ายชายเกษียณแล้ว ทำให้มาอยู่บ้านด้วยกันตลอดเวลา รายได้ของฝ่ายชายก็ลดลง หากฝ่ายชายไม่ปรับตัว เช่น สั่งงานฝ่ายหญิงให้ทำงานต่างๆ หมดทุกอย่าง เกรี้ยวกราดใส่ มองฝ่ายหญิงเหมือนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ก็จะทำให้เกิดความเครียดในครอบครัวขึ้น หากปัญหารุนแรงก็จะทำให้เกิดการหย่าร้างเมื่อสูงอายุขึ้นตามมาได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาทางสังคมมากขึ้นไปอีก [7] นอกจากที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ในประเทศอื่นๆ ก็อาจเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นได้เช่นกัน [8]
หากมองในมุมมองของพระพุทธศาสนา ปัญหาที่เกิดจากการเกษียณนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความยึดติดในตำแหน่งหน้าที่การงาน รวมถึง อำนาจ รายได้ และหน้าตาทางสังคม การได้รับตำแหน่งต่างๆ นั้นเป็นหัวโขนที่สังคมหยิบยื่นให้กับคน เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรม 8 (คือธรรมชาติของโลก 8 ประการที่มนุษย์มีโอกาสพบเจอ อันได้แก่ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา และสุข-ทุกข์) การยึดติดกับโลกธรรมในฝ่ายที่ทำให้พึงพอใจมากจนเกินไป เมื่อต้องสูญเสียหรือกำลังจะสูญเสียสิ่งที่ตนพึงพอใจไปแล้ว สุดท้ายกลับกลายเป็นว่ามันย้อนกลับมาทำให้เกิดความทุกข์ในคนบางคนได้
การป้องกันอาการเครียดและซึมเศร้าที่เกิดจากการเกษียณนี้ จึงเป็นสิ่งที่คนทำงานทั้งหลายควรพึงระลึกไว้ เมื่อใกล้ถึงเวลาเกษียณ การปฏิบัติตามคำแนะนำของ Manfred F. R. Kets de Vries ดังที่ได้กล่าวมาแล้วก็เป็นรูปแบบที่ดีอย่างหนึ่ง การเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ ศึกษาธรรมะเพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติของชีวิต เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปตามอายุ การไม่ยึดติดกับหัวโขนต่างๆ ที่ได้รับมา การไม่ใช้อำนาจทำร้ายผู้อื่นในระหว่างที่กำลังมีอำนาจหน้าที่ การถนอมรักษาน้ำใจกัลยาณมิตร การหากิจกรรมที่จะทำหลังจากการเกษียณ การเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องการเงิน สุขภาพ ครอบครัว ฝึกหัดการใช้จ่ายแบบพอเพียง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เหมาะสม ที่คนทำงานควรฝึกไว้เพื่อจะได้ไม่ต้องประสบกับกลุ่มอาการกลัวการเกษียณในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
Mitchell G. The 'general' uproar: Talking to author Robert Jay Lifton about military 'retirement syndrome' [Internet]. 2017 [cited 2017 Feb 7]. Available from: http://warisacrime.org/node/9925.
Carroll J. Boston Globe – Retirement syndrome [Internet]. 2007 [cited 2017 Feb 7]. Available from: http://www.commondreams.org/views/2007/02/05/retirement-syndrome.
McNeil JS, Giffen MB. Military retirement: the retirement syndrome. Am J Psychiatry 1967; 123(7):848-54.
Traumadissociation.com. Adjustment disorders [Internet]. 2017 [cited 2017 Feb 7]. Available from: http://traumadissociation.com/adjustment#.
de Vries MK. The retirement syndrome: The psychology of letting go. Fontainebleau: INSEAD; 2003.
Holmes TH, Rahe RH. The Social Readjustment Rating Scale. J Psychosom Res 1967; 11(2):213-8.
Kenyon P. BBC News, This World – Retired husband syndrome [Internet]. 2006 [cited 2017 Feb 7]. Available from: http://news.bbc.co.uk/2/hi/programmes/this_world/6143010.stm.
Johnson CC. The retired husband syndrome. West J Med 1984;141(4):542–5.