ประวัติของ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ผู้บุกเบิกวงการอาชีวเวชศาสตร์
บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
เรียบเรียงโดย พญ.ดาริกา วอทอง
วันที่เผยแพร่ 27 พฤศจิกายน 2563
ประวัติของ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ผู้บุกเบิกวงการอาชีวเวชศาสตร์
แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี
(ที่มา: Opera omnia medica & physiologica, Geneva, 1717)
แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี (Bernardino Ramazzini) เป็นแพทย์ชาวอิตาลี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งอาชีวเวชศาสตร์ (Father of occupational medicine)” [1] [หมายเหตุ ชื่อของบุคคลท่านนี้ กรณีเขียนทับศัพท์แบบภาษาอิตาลีจะเป็น “แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี” แต่หากเขียนทับศัพท์แบบภาษาอังกฤษจะเป็น “เบอร์นาร์ดิโน รามาซซินี” ซึ่งในบทความนี้จะใช้ “แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี” เป็นหลัก]
แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี (3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1633 – 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1714) เกิดที่เมืองการ์ปี (Carpi) ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี เขาถือว่าเป็นบุคคลที่เกิดในยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) (ยุคเรืองปัญญาคือยุคในช่วงราวศตวรรษที่ 17 – 18 หรือราวปี ค.ศ. 1601 – 1800) และมีชีวิตอยู่ก่อนการเริ่มยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคือยุคในช่วงราวปี ค.ศ. 1760 – 1840) โดยหากจะเปรียบเทียบก็คือ เมื่อ เจมส์ วัตต์ (James Watt) นักประดิษฐ์ชาวสกอตแลนด์ สร้างเครื่องจักรไอน้ำแบบของเขาขึ้นสำเร็จในปี ค.ศ. 1776 นั้น เป็นเวลาที่ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 60 ปี
แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี จบการศึกษาเป็นแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่งปาร์มา (University of Parma) ในปี ค.ศ. 1659 (เมื่ออายุราว 26 ปี) หลังจากจบการศึกษาเขาได้ไปฝึกงานกับอาจารย์แพทย์ชื่อ อันโตนีโอ มารีอา รอสซี (Antonio Maria Rossi) ที่โรม (Rome) เป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะไปทำงานเป็นแพทย์ชุมชนที่เมืองกานีโน (Canino) และมาร์ตา (Marta) อยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียและมีอาการตัวเหลือง ทำให้ต้องกลับมาพักฟื้นที่เมืองการ์ปีบ้านเกิด [2]
แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี เป็นบุตรของ บาร์โตโลเมโอ รามัซซีนี (Bartolomeo Ramazzini) และ กาเตรีนา เฟแดร์โซนี (Caterina Federzoni) [3]
ในปี ค.ศ. 1665 (เมื่ออายุราว 32 ปี) เขาได้แต่งงานกับ ฟรันเชสกา กวาโตลี (Francesca Guatoli) มีบุตรชาย 2 คนที่เสียชีวิตตั้งแต่วัยทารก และบุตรสาว 2 คน บุตรสาวคนโตนั้นไม่มีบุตร ส่วนบุตรสาวคนเล็กชื่อ จิสมอนดา (Gismonda) มีบุตรหลายคน ในจำนวนหลานๆ เหล่านี้ หลานชาย 3 คนมีบทบาทสำคัญต่อเขา เนื่องจากช่วยทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้กับเขาในช่วงวัยชรา แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ยังเป็นลุงของ บาร์โตโลเมโอ รามัซซีนี (Bartolomeo Ramazzini) [หมายเหตุ ชื่อเหมือนกับปู่] ญาติอีกคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์เช่นกัน และญาติผู้นี้เป็นผู้เขียนชีวประวัติให้กับ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี เมื่อเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว [2-3]
ในปี ค.ศ. 1671 (เมื่ออายุราว 38 ปี) เขาได้ย้ายมาอาศัยที่เมืองโมเดนา (Modena) ซึ่งเป็นเมืองใกล้กับเมืองการ์ปีบ้านเกิด เพื่อมาทำงานให้กับขุนนางตระกูลเอสเต (House of Este) ที่เป็นผู้ปกครองเมืองโมเดนา ในปี ค.ศ. 1678 ดยุคฟรันเซสโกที่ 2 แห่งเอสเต (Duke Francesco II d’Este) เจ้าเมืองโมเดนา ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งโมเดนา (University of Modena) ขึ้น และในปี ค.ศ. 1682 (เมื่ออายุราว 49 ปี) แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีทางการแพทย์ (Professor of the Theory of Medicine) ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ [2]
แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี มักเขียนจดหมายโต้ตอบเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์กับผู้มีความรู้หลายท่าน เช่น มาร์เชลโล มัลปีกี (Marcello Malpighi) แพทย์ชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในยุคนั้น ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งวิชากายวิภาคศาสตร์จุลทรรศน์ (Microscopic anatomy) และ ก็อทฟรีท วิลเฮ็ล์ม ไลบ์นิทซ์ (Gottfried Wilhelm Leibniz) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้คิดค้นวิชาแคลคูลัส (Calculus) [2]
ในปี ค.ศ. 1690 (ขณะที่อายุ 57 ปี) ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นที่เมืองโมเดนา น้ำได้ท่วมพื้นที่การเกษตรในบริเวณชนบทรอบเมืองทั้งหมด ผลของน้ำท่วมทำให้อาหารขาดแคลนและเกิดโรคระบาดไปทั่ว ซึ่งรวมถึงโรคมาลาเรียและท้องร่วง [2] ในช่วงนี้ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยในเขตชนบทเหล่านี้ และรวบรวมความรู้เขียนเป็นตำราขึ้นมา ถือเป็นตำราเล่มแรกของเขา มีชื่อว่า “De constitutione anni M.DC.LXXXX. (Works, 1690)” แปลเป็นไทยคือ “งานของฉัน ปี ค.ศ. 1690” [4] หลังจากนั้น เขาได้เขียนและตีพิมพ์ตำราทางการแพทย์เล่มอื่นๆ ขึ้นมาอีกหลายเล่ม
ช่วงหลายปีหลังของการทำงานที่โมเดนา แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี มีความสนใจเกี่ยวกับโรคของคนทำงานมากขึ้น ในเวลาว่างเขาจะไปที่โรงงานในเมือง เพื่อดูสภาพการทำงานของคนทำงานอาชีพต่างๆ สอบถามคนทำงานเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย รวมถึงส่งจดหมายสอบถามจากผู้มีความรู้ในเรื่องอันตรายจากงานประเภทต่างๆ เนื่องจากเขามีความตั้งใจจะเขียนตำราที่เกี่ยวกับโรคของคนทำงานขึ้น [2]
ความตั้งใจที่จะเขียนตำราที่เกี่ยวกับโรคของคนทำงานนั้น เกิดจากการที่เขาเห็นคนรับจ้างมาทำความสะอาดหลุมปฏิกูล (Cesspit) ที่บ้านของเขา แล้วคิดว่าจะเกิดโรคอะไรในคนทำงานเหล่านี้ได้บ้าง [5] หลังจากศึกษาอาการเจ็บป่วยของคนทำงานประเภทต่างๆ อยู่หลายปี ในปี ค.ศ. 1700 (ขณะอายุ 67 ปี) เขาก็ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับโรคของคนทำงานขึ้นเป็นครั้งแรก ในชื่อ “De morbis artificum diatriba (Diseases of workers)” หรือแปลเป็นไทยคือ “โรคของคนทำงาน”
ในปีเดียวกันนั้นเอง (ค.ศ. 1700) แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้รับเชิญจากสาธารณรัฐเวนิส (Republic of Venice) ให้ไปเป็นศาสตราจารย์ในตำแหน่งประธานด้านเวชปฏิบัติ (Chair of Practical Medicine) ที่มหาวิทยาลัยแห่งปาดัว (University of Padua) ที่เมืองปาดัว (Padua) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์อย่างสูงในยุคนั้น [4] เขาตัดสินใจอยู่นานเนื่องจากขณะนั้นมีอายุมากแล้ว และสุขภาพไม่ค่อยดี แต่หลังจากไตร่ตรองแล้วก็ได้ตัดสินใจย้ายไปทำงานที่เมืองปาดัวในที่สุด [2]
ที่ปาดัว แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้รับเกียรติอย่างสูงในฐานะศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาทางการแพทย์ แม้ว่าสุขภาพของเขาจะแย่ลง เนื่องจากมีปัญหาปวดศีรษะและมีอาการใจสั่น แต่เขาก็ยังทำงานสอนและเขียนตำราออกมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขามีปัญหาตาบอด แต่ยังสามารถทำงานได้โดยอาศัยหลานชาย 3 คนที่มาอยู่ด้วยกัน ช่วยทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้ โดยให้ช่วยเขียนตำราในลักษณะเขียนตามคำบอกเล่าของเขา [2]
ในปี ค.ศ. 1914 แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ในวัย 81 ปี ได้เสียชีวิตลงหลังจากเกิดภาวะหมดสติเฉียบพลัน (Apoplexy) [4]
หนังสือ De morbis artificum diatriba นั้น ต้นฉบับเขียนด้วยภาษาละติน ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1700 (หรือเรียกในภาษาละตินว่าฉบับ Editio princeps) มีเนื้อหาอยู่ทั้งหมด 42 บท (คือกล่าวถึง 42 กลุ่มอาชีพ) [2] ต่อมาในปี ค.ศ. 1713 ซึ่งเป็นปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้ปรับปรุงหนังสือเล่มนี้ใหม่อีกครั้งเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (Second edition) โดยในฉบับปรับปรุงนี้ เขาได้ทำการปรับเนื้อหาในแต่ละบทใหม่ มีการเพิ่มบางข้อความ และตัดทอนบางข้อความเก่าออก รวมถึงตัดเนื้อหาบท “ช่างก่ออิฐ (Masons)” ออกไปทั้งบท เชื่อว่าอาจเนื่องจากเขาเห็นว่าได้กล่าวถึงอันตรายจากยิปซัม (Gypsum) และปูนขาว (Lime) ในบท “คนทำงานกับยิปซัมและปูนขาว (Workers with gypsum and lime)” ไปมากแล้ว [2] และได้แยกเอาบท “โรคของผู้มีการศึกษา (Diseases of learned men)” ออกมาไว้เป็นส่วนแทรก (Dissertation) ในลักษณะเป็นบทพิเศษในส่วนท้าย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มบทใหม่เข้าไปอีกเป็นจำนวน 12 บท (กล่าวถึงอีก 12 กลุ่มอาชีพ) โดยบทใหม่จำนวน 12 บทที่เพิ่มเข้ามานี้มาจากประสบการณ์ชีวิตในช่วงท้ายของเขา และเขียนขึ้นโดยการช่วยเหลือของหลานชาย [2] การเรียงบทในหนังสือ De morbis artificum diatriba ทั้งฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1700 และฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1713 นั้นมีเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือจะเรียงเลขบทโดยข้ามบทที่ 8 ไปทั้งสองฉบับ (หนังสือจะไม่มีบทที่ 8) โดยที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด [2]
สำหรับการแปลหนังสือ De morbis artificum diatriba เป็นภาษาอังกฤษนั้น ถูกแปลครั้งแรกโดยนักแปลนิรนาม (Anonymous translator) ท่านหนึ่ง เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1705 โดยใช้ฉบับปี ค.ศ. 1700 ซึ่งเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นต้นฉบับ แต่การแปลนั้นมีการตัดทอนข้อความหลายส่วนจากต้นฉบับออกไป และแปลผิดค่อนข้างมาก [2] ต่อมานายแพทย์ โรเบิร์ต เจมส์ (Robert James) ได้แปลส่วนเสริมจำนวน 12 บท ที่ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี เขียนเพิ่มขึ้นในฉบับปี ค.ศ. 1713 ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 แล้วได้เอาเนื้อหาส่วนต้นมาจากที่นักแปลนิรนามได้แปลไว้เดิม มารวมเล่มออกพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1746 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1750 ซึ่งการแปลครั้งนี้ทำให้เนื้อหาของหนังสือมาจากต้นฉบับคนละเล่มกัน (คือส่วนต้นมาจากฉบับปี ค.ศ. 1700 แต่ส่วนเพิ่ม 12 บทมาจากฉบับปี ค.ศ. 1713) ทำให้เนื้อหาไม่สอดคล้องกัน [2] การแปลเป็นภาษาอังกฤษฉบับที่มีความสมบูรณ์ทำโดยศาสตราจารย์ วิลเมอร์ เคฟ ไรท์ (Wilmer Cave Wright) โดยใช้เนื้อหาฉบับปี ค.ศ. 1713 ทั้งเล่มเป็นต้นฉบับ (คือฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายที่ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้จัดทำไว้) เธอได้ทำการแปลโดยไม่ตัดทอนข้อความ ตรวจสอบคำผิด และเพิ่มหมายเหตุที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเอาไว้ด้วย ฉบับแปลสมบูรณ์นี้พิมพ์ออกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1940 [2]
นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว De morbis artificum diatriba ยังได้ถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษา เช่น ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี และภาษาดัตช์ [2]
เนื้อหาของหนังสือ De morbis artificum diatriba นั้น แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้ทำการเรียบเรียงไว้อย่างดี มีการกล่าวอ้างอิงถึงองค์ความรู้ในอดีต และข้อมูลที่ได้มาจากการสังเกตหรือองค์ความรู้ของเขาเอง การกล่าวถึงโรคของคนทำงานนั้นจะครอบคลุมทั้งจากสาเหตุที่มาจากการทำงานกับแร่ธาตุและโลหะ การสูดดมสิ่งที่เป็นพิษในอากาศ การทำงานสัมผัสกับของเหลว และการทำงานออกแรงหรืออยู่ในท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ [5] มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันโรค เสนอหนทางในการรักษา การแนะนำให้คนที่เจ็บป่วยเปลี่ยนอาชีพ มีการกล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย โดยเขาสนับสนุนให้คนในชนชั้นแรงงานนั้นได้มีสิทธิของพลเมือง (Rights of citizenship) [5]
ตัวอย่างของกลุ่มอาชีพที่มีการกล่าวถึงในหนังสือ De morbis artificum diatriba เช่น คนงานเหมืองโลหะ (Miners of metals), นักเคมี (Chemists), ช่างปั้นหม้อ (Potters), ช่างตีเหล็ก (Blacksmiths), คนทำงานกับยิปซัมและปูนขาว (Workers with gypsum and lime), คนงานทำยาสูบ (Tobacco-workers), คนทำศพ (Corpse-bearers), หมอตำแย (Midwives), แม่นม (Wet-nurses), คนทำขนมปังและคนโม่แป้ง (Bakers and millers), คนงานตัดหิน (Stone-cutters), คนทำเกลือ (Salt-makers), คนทำงานที่ยืนทำงาน (Workers who stand), คนทำงานนั่งอยู่กับที่ (Sedentary workers), นักกีฬา (Athletes), ชาวนา (Farmers), ชาวประมง (Fishermen), โรคในค่ายทหาร (Diseases in camps), โรคของผู้มีการศึกษา (Diseases of learned men), ช่างพิมพ์ (Printers), คนทอผ้า (Weavers), คนขุดบ่อน้ำ (Well-diggers), คนทำสบู่ (Soap-makers) [2] จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงกลุ่มอาชีพต่างๆ ไว้อย่างหลากหลายมาก
หนังสือ De morbis artificum diatriba ทำให้แพทย์ทั่วโลกรู้จัก แบร์นาร์ดิโน รามัซซีนี มากขึ้น และเป็นตัวจุดประกายให้แพทย์หันมาให้ความสนใจปัญหาโรคของคนทำงาน คำถามหนึ่งที่ แบร์นาร์ดิโน รามัซซีนี เสนอให้แพทย์ถามกับผู้ป่วยของตนเอง เพื่อเป็นการหาสาเหตุของโรคก็คือคำถามว่า “What is your occupation?” หรือแปลเป็นไทยคือ “คุณทำงานอะไร?” [6]
เนื้อหาของหนังสือ De morbis artificum diatriba นั้นยังถูกนำไปพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือรวมผลงานที่เรียกว่าหนังสือจำพวก “Opera omnia (Complete works)” หรือแปลเป็นไทยคือ “รวมผลงาน” ของ แบร์นาร์ดิโน รามัซซีนี ซึ่งมีการจัดพิมพ์ขึ้นหลายครั้งในหลายเมือง เช่น Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เจนีวา (Geneva) ปี ค.ศ. 1717, Opera omnia medica et physiologica ฉบับพิมพ์ที่ลอนดอน (London) ปี ค.ศ. 1718, Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เนเปิลส์ (Naples) ปี ค.ศ. 1739 เป็นต้น [2] ในหนังสือ Opera omnia บางฉบับ เช่น Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เจนีวา ปี ค.ศ. 1717 นั้นจะมีเนื้อหาส่วนชีวประวัติ (เรียกเป็นภาษาละตินว่าส่วน Vita) ของ แบร์นาร์ดิโน รามัซซีนี รวมอยู่ด้วย [7] โดยผู้เขียนชีวประวัติให้กับเขาก็คือนายแพทย์ บาร์โตโลเมโอ รามัซซีนี หลานชายของเขา [2]
สำหรับรูปลักษณ์ของ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี นั้น คนรุ่นหลังจะทราบได้จากภาพวาดของเขา ซึ่งปรากฏเป็นครั้งแรกอยู่ในหนังสือ Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เจนีวา ปี ค.ศ. 1717 [7] โดยเป็นรูปของเขาในวัยชราและสวมวิก จากชีวประวัติที่เขียนโดยนายแพทย์ บาร์โตโลเมโอ รามัซซีนี หลานชายของเขานั้น บรรยายไว้ว่าเขามีตาและผมสีดำ และใบหน้ามีตุ่มนูน (Protuberance) อยู่ที่แก้มข้างขวา [2] ภาพวาดในหนังสือ Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เจนีวา ปี ค.ศ. 1717 นี้ เป็นต้นแบบให้กับรูปภาพและรูปสลักของเขาที่ทำขึ้นในยุคหลังๆ ต่อมา
ในปี ค.ศ. 1982 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก นำโดย นายแพทย์ เออร์วิง เซลิคอฟฟ์ (Irving Selikoff) จากโรงพยาบาลเมาท์ไซนาย (Mount Sinai Hospital) แห่งเมืองนิวยอร์ค (New York) ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรนานาชาติเพื่อการพัฒนางานด้านอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยให้ชื่อว่าองค์กร “สมาคมรามัซซีนี (Collegium Ramazzini)” เพื่อเป็นเกียรติให้กับ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ในทุกปีองค์กรนี้จะจัดการประชุมที่เมืองการ์ปีบ้านเกิดของ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี และเมืองการ์ปีจะมอบรางวัลที่ชื่อว่า “รางวัลรามัซซีนี (Ramazzini Award)” ให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการของ Collegium Ramazzini ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นทางด้านสาธารณสุข [4]
เอกสารอ้างอิง
Franco G, Franco F. Bernardino Ramazzini: The father of occupational medicine. Am J Public Health 2001;91(9):1382.
Ramazzini B. De morbis artificum diatriba (from the Latin text of 1713 – revised, with translation and notes by Wilmer Cave Wright). Chicago: University of Chicago Press; 1940.
Carnevale F, Mendini M, Moriani G. Bernardino Ramazzini: Works (translated in English from Italian by Christina Cawthra). Verona: Cierre Edizioni; 2009.
Whonamedit? - A dictionary of medical eponyms. Bernardino Ramazzini [Internet]. 2020 [cited 2020 Nov 19]. Available from: https://www.whonamedit.com/doctor.cfm/428.html.
Carnevale F, Iavicoli S. Bernardino Ramazzini (1633-1714): a visionary physician, scientist and communicator. Occup Environ Med 2015;72(1):2-3.
Gochfeld M. Chronologic history of occupational medicine. J Occup Environ Med 2005;47(2):96-114.
Ramazzini B. Opera Omnia Medica & Physiologica. Geneva: Cramer & Perachon; 1717.