การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของสารเคมีในอุตสาหกรรม
หนังสือเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
ชื่อหนังสือ: การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของสารเคมีในอุตสาหกรรม (Biomarker Testing of Industrial Chemicals)
ชื่อหนังสือ
การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของสารเคมีในอุตสาหกรรม พ.ศ. 2562 (Biomarker Testing of Industrial Chemicals, 2019 Version)
เรียบเรียงโดย
มูลนิธิสัมมาอาชีวะ
ครั้งที่พิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ 2
วันที่เผยแพร่
5 มกราคม พ.ศ. 2562
จำนวนหน้า
118 หน้า
เกี่ยวกับเนื้อหา
การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological marker หรือ Biomarker) เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านอาชีวอนามัยนำมาใช้ในการประเมินการสัมผัส (Exposure) สิ่งคุกคามกลุ่มสารเคมีที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพของคนทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ การตรวจนี้ทำได้โดยการส่งสิ่งส่งตรวจซึ่งเป็นตัวอย่างทางชีวภาพของคนทำงาน เช่น เลือด ปัสสาวะ ไปทำการตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อหาระดับของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่สนใจ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจจะช่วยผู้ประกอบวิชาชีพด้านอาชีวอนามัยในการประเมินการสัมผัสสารเคมีของคนทำงานนั้น หากมีแนวโน้มระดับของการสัมผัสที่สูง จะนำไปสู่การดำเนินการเพื่อลดการสัมผัส และป้องกันการเกิดโรคพิษจากสารเคมีต่อไป
ในทางปฏิบัติของการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านอาชีวอนามัยจะต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนสั่งการตรวจทุกครั้ง เนื่องจากเป็นการตรวจที่มีราคาสูง บางกรณีอาจทำให้คนทำงานต้องเจ็บตัวเพิ่ม (เช่น ถูกเจาะเลือด) อีกทั้งการตรวจนี้ ยังมีโอกาสเกิดผลบวกลวงและผลลบลวงได้จากปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งในขั้นตอนการเตรียมตัวของคนทำงานผู้เข้ารับการตรวจ การเก็บและการขนส่งตัวอย่างทางชีวภาพ ขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และวิธีการนำผลที่ได้มาแปลผล นอกจากนี้ การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพนั้นไม่สามารถใช้ประเมินการสัมผัสสารเคมีในอุตสาหกรรมได้ทุกชนิด โดยในความเป็นจริงแล้ว มีสารเคมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถประเมินการสัมผัสด้วยการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพได้
ในประเทศไทย ยังมีความเข้าใจผิดและการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพอยู่ไม่น้อย ทั้งการสั่งตรวจที่มากเกินจำเป็น การสั่งตรวจผิดชนิด การสั่งตรวจในสารเคมีที่ไม่สามารถประเมินการสัมผัสด้วยการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพได้ การแนะนำการเตรียมตัวให้กับคนทำงานผู้เข้ารับการตรวจอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงความเข้าใจในการแปลผลที่คลาดเคลื่อน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผลการตรวจที่ได้ออกมาผิดพลาด เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่าย เกิดความวิตกกังวลต่อคนทำงานผู้เข้ารับการตรวจ และนำไปสู่การดำเนินการทางด้านอาชีวอนามัยเพื่อป้องกันโรคพิษจากสารเคมีที่มากหรือน้อยกว่าความจำเป็น
จากปัญหาหลายประการที่พบในทางปฏิบัติของการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ มูลนิธิสัมมาอาชีวะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคมในเรื่องนี้ จึงได้จัดทำหนังสือ “การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของสารเคมีในอุตสาหกรรม” เล่มนี้ขึ้น มุ่งหวังเพื่อให้เป็นแนวทางอ้างอิงในการตรวจและแปลผลตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในงานอาชีวอนามัยของประเทศไทยอย่างมีคุณภาพ หนังสือเล่มนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับค่าอ้างอิง Thai Exposure Limits (TEL) และ Thai Biological Markers (TBM) ที่จัดทำโดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ ส่วนในส่วนที่ 2 เป็นบทความชุด “Biomarker น่ารู้” ซึ่งเขียนเป็นตอนๆ โดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ เนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ในการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ