กลุ่มอาการตอบสนองไวต่อสารเคมี (Multiple Chemical Sensitivity)
บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 3 พฤษภาคม 2552
บทนำ
Multiple Chemical Sensitivity (MCS) เป็นกลุ่มอาการใหม่ที่ยังมีการพูดถึงกันน้อยในประเทศไทย กลุ่มอาการนี้ใช้สำหรับเรียกผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเรื้อรังของหลายระบบ มีอาการเมื่อสัมผัสสารเคมีในระดับต่ำที่อยู่ในงานหรือสิ่งแวดล้อมซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถทนได้ อีกทั้งผลการตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยทั่วไปมักจะปกติดี
เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้มีอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงหนักมาก ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ให้บริการทางสุขภาพและนักวิจัย ในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับกลุ่มอาการนี้ ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก ทั้งในเรื่องคำนิยามและการวินิจฉัย สาเหตุการเกิดโรค วิธีการดูแลรักษา และวิธีการป้องกัน
หวังว่าเนื้อหาในเอกสารความรู้นี้ จะทำให้ผู้อ่านทุกท่านได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในธรรมชาติของกลุ่มอาการ MCS พอสมควร พร้อมทั้งเกิดความตระหนักในความสำคัญของปัญหาหากมีผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย และอาจเกิดความคิดในแง่มุมที่สามารถนำไปสู่การศึกษาหาความจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มอาการนี้ได้
ประวัติเกี่ยวกับ MCS
โรค Multiple Chemical Sensitivity หรือ MCS นี้ได้รับความสนใจครั้งแรก เมื่อ Randolph (1) ได้นำเสนอรายงานกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติเมื่อสัมผัสสารเคมีที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปในปี ค.ศ.1961 ทำให้เกิดการตื่นตัวในหมู่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นได้มีการตีพิมพ์รายงานผู้ป่วยในลักษณะนี้ต่อเนื่องเรื่อยมา โดย Randolph เชื่อว่ากลุ่มอาการนี้เป็นผลมาจาก immunological dysfunction เนื่องจากการรับสารเคมีหรือสารพิษหลากหลายชนิดจากสิ่งแวดล้อม ในปี ค.ศ.1965 เขาได้ก่อตั้ง Society for Human Ecology ขึ้นและมีแพทย์หลายคนเข้าร่วม ภายหลังแพทย์ที่ให้การรักษาคนไข้โดยใช้หลักการนี้มักจะถูกเรียกว่า “Clinical Ecologist” ต่อมาในปี ค.ศ.1985 Society for Human Ecology ได้เปลี่ยนชื่อเป็น American Academy of Environmental Medicine (AAEM) (2) แต่ยังคงทำการรักษาผู้ป่วยโดยใช้หลักการของimmunologic dysfunction เรื่อยมา
นับแต่มีการตีพิมพ์ผลงานของ Randolph และผู้ป่วยกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มีคำถามมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับกลุ่มอาการนี้ เนื่องจากลักษณะอาการที่หลากหลายแทบทุกระบบของร่างกาย และการตรวจร่างกายซึ่งมักจะไม่พบความผิดปกติ ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านมีความสนใจเกี่ยวกับการมีอยู่ของกลุ่มอาการนี้ ทั้งในประเด็นที่ว่ากลุ่มอาการนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีเป็นกลุ่มอาการใหม่ที่เกิดขึ้นหรือเป็นอาการแสดงแบบใหม่ของกลุ่มอาการอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมเช่น Panic disorder (3) หรือ Somatization disorder (4) ประเด็นเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดของกลุ่มอาการนี้ นิยามและการจำแนกผู้ป่วย ระบาดวิทยา การรักษาและการป้องกัน รวมไปถึงประเด็นในแง่กฎหมายและเงินชดเชย ถูกนำมาถกเถียงกันโดยที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ชัดเจน
คำนิยามและเกณฑ์การวินิจฉัย
ปัจจุบันยังไม่มีคำนิยาม (definition) หรือเกณฑ์การวินิจฉัย (criteria for diagnosis) ที่แน่นอนและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคฝ่าย มีหน่วยงานและนักวิจัยหลายท่าน ได้พยายามทำการบัญญัติคำนิยามของกลุ่มอาการ “Multiple Chemical Sensitivity” หรือ MCS นี้ขึ้นมา ในวาระการประชุมต่างๆ หรือในงานวิจัยของตนเอง ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ปี ค.ศ. 1987 Cullen (5) ได้รายงานผู้ป่วยชายวัยกลางคนที่มีอาการผิดปกติในหลายระบบเมื่อสัมผัสสารเคมีหลากหลายชนิดในบ้าน ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นหลังจากเขาได้รับอุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหลในการทำงาน ในรายงานผู้ป่วยนี้ Cullen ได้เสนอให้ใช้คำว่า Multiple Chemical Sensitivity (MCS) เรียกกลุ่มอาการนี้ และให้คำนิยามของ MCS โดยเน้นตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยว่า “เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังกำเนิด (acquired disorder) มีอาการเป็นๆ หายๆ (recurrent symptoms) ในหลายระบบอวัยวะ (multiple organ systems) เกิดขึ้นจากการตอบสนองต่อสารเคมี ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีการสัมผัสจริง แต่สารเคมีที่สัมผัสอยู่ในระดับต่ำกว่าที่จะทำอันตรายต่อคนทั่วไปได้ และสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการนั้นมีได้หลายชนิด โดยไม่มีการตรวจทดสอบทางสรีระวิทยาใดเลยที่สามารถแสดงถึงความผิดปกติที่สัมพันธ์กับอาการได้” คำนิยามของ Cullen นี้ได้รับการยอมรับและกล่าวอ้างถึงต่อมาอีกพอสมควร (6, 7)
รายงานของ Ashford & Miller (8) ในปี ค.ศ.1991 ได้ให้คำนิยามของ MCS ไว้ว่า “ผู้ป่วย MCS สามารถตรวจทดสอบได้โดยนำผู้ป่วยออกจากสารเคมีที่ต้องสงสัยว่าจะทำให้เกิดอาการ (removal) และให้สัมผัสสารนั้นอีก (rechallenge) ภายในช่วงเวลาที่เหมาะสม และสิ่งแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างดี อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นเมื่อหลีกเลี่ยงจากสารเคมี และมีอาการอีกเมื่อกลับไปสัมผัสสารนั้น” ซึ่งเป็นคำนิยามในลักษณะที่ต้องทำการทดลองซึ่งควบคุมอย่างดี จึงทำได้ค่อนข้างยากในทางปฏิบัติ
องค์กร American Academy of Environmental Medicine (AAEM) (2) ของแพทย์กลุ่ม Clinical ecologists ได้ให้ความหมายของ Environmental Illness (EI) ไว้ในปี ค.ศ.1992 ว่า “Ecologic Illness (หมายถึง MCS) เป็นการเจ็บป่วยเรื้อรังที่มีอาการในหลายระบบอวัยวะ มักมีอาการหลายอย่าง มีสาเหตุจากเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นในสิ่งแวดล้อม และมีความแตกต่างในการตอบรับของแต่ละบุคคล (individual susceptibility) ทำให้เกิดการปรับตัวในรูปแบบเฉพาะ โดยสิ่งกระตุ้นนั้นอยู่ในอากาศ น้ำ อาหาร ยา และถิ่นที่อยู่ทั่วไป”
และในปีเดียวกันนั่นเอง National Research Coucil (NRC) ในงานประชุม Workshop on Multiple Chemical Sensitivities, Working Group on Research Protocol for Clinical Evaluation ได้ให้เกณฑ์การวินิจฉัยของ MCS ไว้ดังนี้ (9)
- มีอาการ (symptoms) หรืออาการแสดง (signs) เมื่อสัมผัสสารเคมีในระดับที่คนทั่วไปทนได้ ซึ่งอาการแตกต่างจากปฏิกิริยาภูมิไวเกิน (hypersensitivity reaction) ที่มีการศึกษาและทราบอย่างชัดเจนแล้ว คือ ปฏิกิริยาภูมิไวเกินเฉียบพลันชนิด IgE-mediated immediate hypersensitivity, contact dermatitis และ hypersensitivity pneumonitis
- มีอาการในหนึ่งหรือหลายระบบอวัยวะ
- มีอาการขึ้นๆ ลงๆ (wax and wane) สัมพันธ์กับการสัมผัส
- ไม่จำเป็นต้องแสดงได้ถึงสารเคมีที่เป็นต้นเหตุ
- ถึงแม้จะมีโรคร่วมเช่น asthma, arthritis, somatization, depression ก็ยังมีโอกาสเป็น MCS ได้
อีกองค์กรหนึ่งที่ได้ให้เกณฑ์การวินิจฉัยของ MCS ไว้ในปี 1992 คือ Association of Occupational and Environmental Clinics (AOEC) จากงานประชุม Workshop on Multiple Chemical Sensitivity, Working Group on Characterizing Patients (10) โดยได้ตั้งเกณฑ์ไว้ดังนี้
- ผู้ป่วยแสดงอาการว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะสุขภาพ (change in health status)
- อาการถูกกระตุ้นได้ทั่วไปโดยตัวกระตุ้นหลายอย่าง
- มีอาการอย่างน้อย 6 เดือน
- กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะ
- มีอาการใน 3 ระบบอวัยวะขึ้นไป
- ไม่จัดว่าเป็นกลุ่มอาการ MCS หากว่ามีโรคอื่นร่วม (ยกเว้นโรคหรืออาการทางจิตเวช)
ในปี ค.ศ. 1993 Nethercott (11) ได้เสนอเกณฑ์การวินิจฉัย MCS จากการสำรวจความคิดเห็นของแพทย์จำนวน 148 คน (ตอบกลับ 60.1 %) ได้เกณฑ์ 5 ข้อซึ่งแพทย์ที่ทำการสำรวจมากกว่าครึ่งเสนอ ดังนี้
- อาการที่เป็นสามารถเกิดซ้ำได้ (reproducible) เมื่อมีการสัมผัสซ้ำ
- เป็นเรื้อรัง
- การสัมผัสในระดับต่ำทำให้เกิดอาการได้
- อาการดีขึ้นหรือหายไปเมื่อมีการกำจัดตัวกระตุ้น
- อาการเกิดได้จากสารเคมีหลายชนิด ซึ่งอาจเป็นสารเคมีที่อยู่คนละกลุ่มกัน (chemically unrelated substances)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1995 Kurt (3) ได้ให้คำนิยามของ MCS ในแนวจิตวิทยา ซึ่งมีความแตกต่างจากนิยามหรือเกณฑ์การวินิจฉัยของคนอื่นๆ ดังนี้ “ ...อาการถูกกระตุ้นด้วย การได้กลิ่น และ ความรู้สึกว่าสัมผัส แม้ในระดับต่ำมาก แล้วทำให้เกิดอาการทางพฤติกรรมผ่านทางระบบประสาท (neurobehavioral symptoms) ซึ่งเข้าได้กับนิยามของโรค Panic disorder ...” จะเห็นได้ว่านิยามของ Kurt มีมุมมองว่า MCS เป็นอาการแสดงแบบหนึ่งของโรค Panic disorder นั่นเอง
เนื่องจากมีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับนิยามหรือเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคนี้ ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ในปี ค.ศ. 1996 จึงมีการจัดประชุม International Program on Chemical Safety (IPCS) (12) ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน การประชุมนี้สนับสนุนโดยองค์กรระดับโลก 3 องค์กรคือ United Nation Environmental Program, International Labor Organization (ILO) และ World Health Organization (WHO) ในการประชุมได้ให้คำนิยามของ MCS ไว้ว่า “MCS เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังการกำเนิด (acquired disorder) ซึ่งมีหลายอาการและเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ (recurrent symptoms) สัมพันธ์กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมซึ่งปกติคนทั่วไปสามารถทนได้ ไม่สามารถอธิบายด้วยหลักการของโรคทางกายหรือทางจิตวิทยาที่ทราบอยู่ในปัจจุบัน”
การให้คำนิยามหรือเกณฑ์การวินิจฉัยของ MCS จากหลายแหล่งที่กล่าวมานี้ ในปัจจุบันยังไม่มีคำนิยามหรือเกณฑ์การวินิจฉัยใดที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป สาเหตุอาจเนื่องมาจากอาการที่หลากหลายในผู้ป่วยแต่ละคน ประกอบกับเกณฑ์การวินิจฉัยนั้นจำเป็นต้องใช้ subjective findings เป็นหลัก เนื่องจากกลุ่มอาการนี้ในปัจจุบัน ยังไม่มีการตรวจที่เป็น objective findings ใดเลยที่สามารถแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติได้ จนมีผู้กล่าวว่า (13) MCS นั้น ในบางครั้งจะทราบได้ว่าใครเป็นโดยอาศัย “ ลักษณะเฉพาะตัวของผู้ป่วย” มากกว่าที่จะอาศัยเกณฑ์การวินิจฉัยเสียด้วยซ้ำ
คำศัพท์อื่นที่มีความหมายเหมือนกัน (Synonyms)
นอกจากคำว่า Multiple Chemical Sensitivity (MCS) แล้ว กลุ่มอาการนี้ยังมีชื่อเรียกอีกหลายคำ ซึ่งมีความหมายเหมือนกันเช่น Ecological Illness (14) , Environmental Illness (EI) (15), Environmental Triggered Illness (2) หรือ Total Allergy Syndrome (15) ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อที่ใช้ในมุมมองว่ากลุ่มอาการเป็นผลมาจากสารเคมีที่สะสมในสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิด immunologic dysfunction ขึ้น
“The 20 th Century Disease” (16) ชื่อนี้ใช้เรียกเนื่องจากกลุ่มอาการนี้เป็นกลุ่มอาการใหม่ที่เริ่มพบในศตวรรษที่ 20 อาจแฝงนัยว่าโลกมีความเจริญมากขึ้น จึงมีสารเคมีสังเคราะห์สะสมเพิ่มขึ้น กลุ่มอาการนี้จึงได้เกิดขึ้นมา “Chemical AIDS” (15) ใช้เรียกเนื่องจากมีมุมมองว่า กลุ่มอาการนี้ทำให้ผู้ที่ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติไป (เหมือนผู้ป่วย AIDS ) อีกคำหนึ่งคือ “Gulf War Syndrome” (17) ใช้เรียกเนื่องจากพบว่าทหารผ่านศึกจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย มี prevalence ของโรคนี้สูง (18)
ชื่อ “Idiopathic Environmental Intolerance” (IEI) (12) ถูกเสนอให้ใช้เรียกกลุ่มอาการนี้แทนคำว่า Multiple Chemical Sensitivity ในการประชุม International Program on Chemical Safety (IPCS) ปี ค.ศ.1996 เนื่องจากเห็นว่ายังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงได้ จึงยังไม่ควรใช้คำว่า “sensitivity” ซึ่งปกติใช้เฉพาะในกรณีอาการเกิดจากภูมิแพ้ แต่อย่างไรก็ตาม คำเรียกนี้ก็ถูกคัดค้าน (19) และยังไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน นอกจากนี้ ชื่อเรียก “Idiopathic Environmental Illness” และ “Multi-organ Dysesthesia” ซึ่งมีลักษณะเป็นกลาง ไม่ได้บ่งชี้ถึงสาเหตุของโรค ก็ไม่ได้รับความนิยมด้วยเหตุผลเดียวกัน
โรคที่มีอาการใกล้เคียงกัน (Overlapping Syndromes)
มีหลายโรคหรือกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการในหลายระบบอวัยวะ แต่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ชัดเจน รวมอาจเรียกว่าโรคในกลุ่ม functional somatic syndrome (20) โรคเหล่านี้เช่น Chronic Fatigue Syndrome (CFS) เป็นโรคที่ผู้ป่วยแสดงอาการอ่อนเพลีย และอาการอื่นในหลายระบบอวัยวะโดยไม่ทราบสาเหตุ, Fibromyalgia ผู้ป่วยจะแสดงอาการปวดเรื้อรัง ในหลายตำแหน่งของร่างกาย, Chronic Food Sensitivity มีอาการคล้าย MCS แต่อาการถูกกระตุ้นจากการกินอาหารซึ่งมีอาหารที่เชื่อว่าเป็นต้นเหตุได้หลายชนิด, Electromagnetic Field Sensitivity (21) อาการคล้าย MCS เช่นกันแต่เกิดอาการเนื่องจากการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า, Dental Amalgam Sensitivity ผู้ป่วยมีอาการหลายอย่างจากการกระตุ้นโดย amalgam ที่ใช้ในการอุดฟัน
อีกโรคหนึ่งที่รู้จักกันดีและถูกจัดอยู่ในกลุ่ม functional somatic syndrome เช่นกันคือ Irritable Bowel Syndrome (IBS) ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก โดยไม่ทราบสาเหตุ และการตรวจร่างกายหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการมักจะปกติ
Candidiasis Hypersensitivity Syndrome ผู้ป่วยมีอาการเหมือน MCS แต่เชื้อว่าเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรังของเชื้อรา Candida spp. แล้วมีอาการแพ้ การอธิบายกลการเกิดโรค เช่นเดียวกับโรค Chronic Lyme Diseaseและ Chronic Epstein-Barr Virus Infection
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาการที่ MCS มักจะมีความสัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องด้วยคือ Sick Building Syndrome (SBS)กลุ่มอาการ MCS หลายราย มักจะพบได้ในอาคารที่มีภาวะ SBS ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อเกิดภาวะ SBS หากทำการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในแล้ว อาการผิดปกติของคนในอาคารส่วนใหญ่มักจะดีขึ้นหรือหายไป แต่ในกรณีผู้ป่วย MCS แม้จะทำการปรับปรุงคุณภาพอากาศในอาคารแล้ว อาการผิดปกติก็ยังมักจะคงอยู่ แตกต่างจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ (13)
นอกจากนี้ เรายังพบว่าภาวะผิดปกติทางจิต เช่นภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล มักจะพบร่วมกับกลุ่มอาการ MCS ได้บ่อย (4) แต่ปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอาการผิดปกติทางจิตเวช เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการ MCS หรือการเป็น MCS ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตเวชตามมา
ระบาดวิทยา
เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดนิยามที่แน่นอนของ MCS ทำให้การศึกษาทางด้านระบาดวิทยาของโรคนี้มีความหลากหลายตามไปด้วย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ทำการวิจัยจะใช้เกณฑ์ใดมาพิจารณาแยกผู้ป่วย
ในปี ค.ศ.1996 Meggs (22) ทำการสำรวจโดยโทรศัพท์สุ่มถาม ประชากรในเขต North Carolina พบว่ามีผู้ตอบถึง 33 % ที่รายงานว่าตนเองมีอาการผิดปกติเมื่อได้รับกลิ่นของสารเคมีบางชนิด การศึกษาโดย Baldwin (23) ในปี 1997 ได้ผลออกมาใกล้เคียงกัน โดยพบว่ากลุ่มลูกจ้างในเขตเมือง รายงานอาการว่าตนเองรู้สึกผิดปกติ เมื่อได้รับกลิ่นสารเคมีสูงถึง 22.7 % แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของการศึกษาสองชิ้นนี้ไม่ได้ระบุว่า ผู้ที่มีอาการผิดปกติเมื่อได้รับกลิ่นสารเคมีนั้นเป็น MCS หรือไม่
ในปี ค.ศ. 2005 Hausteiner (24) ทำการศึกษาในประเทศเยอรมัน อย่างจำเพาะเจาะจงขึ้น เขาพบว่ามีประชากรที่รายงานว่าตนเองเป็นกลุ่มอาการ MCS 9 % และมีประชากรที่รายงานว่าเคยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าตนเองเป็น MCS เพียง 0.5 %
การศึกษาในประชากรบางกลุ่ม พบว่ามีสัดส่วนของผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้มากขึ้นเป็นพิเศษ เช่น การศึกษาในกลุ่มทหารโดย Black (18) พบการเป็นกลุ่มอาการนี้สูงถึง 3.4 % ส่วนการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุโดย Bell (25) พบมีผู้สูงอายุที่รายงานว่าตนเองเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการนี้ สูงถึง 4 %
ผู้ป่วยกลุ่มอาการ MCS นั้นพบได้ทุกวัย เคยมีรายงานว่าพบในเด็กหญิงอายุเพียง 4 ปี (26) พบว่าเป็นเพศหญิงมากถึง 70 – 88 % (27, 28) ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสาย Caucasian จบการศึกษาระดับวิทยาลัย มีฐานะปานกลางค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ย (29) และส่วนใหญ่อยู่ในสถานะว่างงาน โดยผลการสำรวจของ Miller (30) ในปี ค.ศ.1995 พบอัตราการว่างงานในผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้สูงถึง 85 %
อาการและลักษณะของผู้ป่วย (Symptoms & Clinical Presentation)
ผู้ป่วยกลุ่มอาการ MCS มักจะมาด้วยอาการของหลายระบบอวัยวะ โดยอาการนั้นไม่เข้ากับการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ก็มักจะพบว่าปกติ ลักษณะของโรคเป็นเรื้อรัง เมื่อเวลาผ่านไปอาการมักมากขึ้นเรื่อยๆ อาการที่เป็นครั้งแรกที่มาพบแพทย์ อาจเกิดขึ้นตามหลังการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตครอบครัวหรือการทำงาน หรือหลังจากมีประสบการณ์ไม่ดีต่อเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลไม่ว่าจะในระดับอันตรายหรือรับรู้กลิ่นก็ตาม อาการที่หลากหลายของ MCS นั้น สามารถจำแนกได้ดังนี้ (7, 19)
- ระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุ (Respiratory & Mucosa)
- คัดจมูก แน่นจมูก (Nasal Congestion)
- จมูกแห้ง ตาแห้ง ปากแห้ง (Dryness)
- แสบเคืองจมูกและเยื่อบุ (Burning)
- หายใจลำบาก (Breathing Difficulty)
- ระคายเคืองตา, หู, จมูก, คอ (Eye, Ear, Nose, Throat Irritation)
- รู้สึกว่าสามารถรับกลิ่นได้ดีขึ้น (Feeling of Heightened Ability to Detect Odors)
ในเรื่องที่ผู้ป่วย MCS บางคนรู้สึกว่า “การรับรู้กลิ่น” ของตนเองดีขึ้นนี้ อาจไม่ได้มีความสามารถในการรับรู้มากขึ้นจริงๆ Caccappolo (31) ได้ลองทำการพิสูจน์ความสามารถในการรับรู้กลิ่นของผู้ป่วย MCS, Asthma และ Chronic Fatigue Syndrome เปรียบเทียบกับคนธรรมดา เขาพบว่าระดับความสามารถในการรับรู้กลิ่นสารเคมีของทั้ง 4 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน
- ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System)
- สมาธิไม่ดี (Concentration Problems)
- จำไม่ค่อยได้ (Memory Difficulty)
- หลงๆ ลืมๆ (Memory Loss)
- ซึม (Drowsiness)
- สับสนและกระสับกระส่าย (Confusion & Irritability)
- วิงเวียน (Dizziness)
- ทรงตัวไม่อยู่ (Balance Difficulty)
- ปวดหัว (Headache)
- หัวเบาโหวง (Lightheadedness)
- ชา (Paresthesia)
- สั่น (Tremor)
- เป็นอัมพาตชั่วคราว (Intermittent Paralysis)
- ไม่รู้สึกตัว วูบ (Sudden Alteration of Conscious)
- อาการทั่วๆ ไป (Vegetative)
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง (Fatigue)
- นอนไม่หลับ (Insomnia)
- ง่วงเหงาหาวนอน (Somnolence)
- เซื่องซึม ขี้เกียจ (Lethargy)
- ครั่นเนื้อครั่นตัว (Malaise)
- ระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal)
- ท้องอืด (Bloating)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ท้องผูก (Constipation)
- ระบบผิวหนัง (Skin)
- ผื่นขึ้น (Rashes) โดยอาจตรวจพบมีผื่นขึ้นหรือให้ประวัติว่ามีผื่นแต่ยุบแล้วก็ได้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular)
- เจ็บหน้าอก (Chest Pain)
- ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal)
- ปวดข้อ (Arthralgias)
- ปวดกล้ามเนื้อ (Myalgias)
- กล้ามเนื้อกระตุก (Muscle Twists)
- ความผิดปกติทางจิตเวช (Psychiatric)
- วิตกกังวล (Anxiety)
- ซึมเศร้า (Depression)
- ตกใจกลัว (Panic)
- ลักษณะอื่นๆ ที่สามารถพบได้ (Other)
- ผู้ป่วยบางคนอาจมีประวัติปวดท้องหรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือประวัติโรคทางสูตินรีเวชเรื้อรัง ในบางคนอาจเคยได้รับการผ่าตัดมาแล้วด้วย
สารเคมีที่เชื่อว่ากระตุ้นให้เกิดอาการได้
สารเคมีจำนวนมากที่พบได้ทั่วไปในการทำงาน และชีวิตประจำวัน สามารถทำให้ผู้ป่วย MCS เกิดอาการได้ (19) เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuels), น้ำหอม (Perfumes), ผงซักฟอก (Detergents), ยาฆ่าแมลง (Pesticides), ปุ๋ย (Fertilizers), น้ำหอมปรับอากาศ (Air Fresheners), สีและน้ำยาเคลือบเงา (Paints & Vanishes), สารที่เป็นผลผลิตจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ (Products of Incomplete Combustion), เครื่องอุปโภคทั่วไปภายในบ้าน (Household Cleaners), ความรู้สึกว่ามีไรฝุ่น (Perceived Molds), น้ำประปา (Tap Water), แอลกอฮอล์ (Alcohol), ยา (Pharmaceuticals) หรืออาหารบางชนิด (Foods)
การดำเนินโรค
หากจะกล่าวไปแล้วกลุ่มอาการ MCS ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการศึกษาที่ดีพอจะบอกได้อย่างชัดเจนว่ามีธรรมชาติของการดำเนินโรคเป็นอย่างไร (13) แต่ตามข้อมูลที่มีอยู่เราพอจะทราบว่า กลุ่มอาการนี้ไม่ลุกลาม (no progressive) โดยทั่วไปอาการทางด้านร่างกายของผู้ป่วยจะทรงตัวเท่าๆ เดิมตลอด กลุ่มอาการนี้ไม่เคยมีรายงานว่าทำให้เสียชีวิต (no lethal) และยังไม่เคยมีรายงานว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นทำให้ระบบอวัยวะล้มเหลวหรือเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการเรื้อรัง และมักจะรักษาไม่หาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปบางส่วนอาจจะมีอาการดีขึ้น (7)
การซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่สงสัยเป็นกลุ่มอาการ MCS คือต้องแยกโรคที่มีสาเหตุและแนวทางการรักษาชัดเจนออกไปก่อน ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการคล้ายๆ กัน เช่นผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมี แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากได้รับพิษในปริมาณมากก็มักจะมีอาการชัดเจน หรือหากได้รับพิษในปริมาณน้อยก็มักจะมีอาการไม่เรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีอาการเนื่องจากภาวะ Sick Building Syndrome อาจมาด้วยอาการเหมือนกับ MCS ได้ ซึ่งจะแยกกันได้ค่อนข้างยากใน clinical setting แต่ประวัติอาการของผู้ป่วย SBS มักจะสัมพันธ์กับสถานที่ทำงานชัดเจน คืออยู่บ้านไม่มีอาการ แต่เมื่อเข้าไปในอาคารที่ระบบถ่ายเทอากาศไม่ดีจะมีอาการเกิดขึ้น ต่างจากผู้ป่วย MCS ที่มีอาการได้ทุกสถานที่ และผู้ป่วย SBS หากได้มีการปรับปรุงแก้ไขสภาพอากาศภายในอาคาร ส่วนใหญ่มักจะอาการดีขึ้นทันที
ควรให้ความสนใจ เอาใจใส่กับอาการของผู้ป่วยอย่างพอเหมาะ รักษาความสัมพันธ์ (Doctor-Patient Relationship) เอาไว้ให้ดี การซักประวัติอาการและสารเคมีในสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยอย่างละเอียดเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งควรถามถึง functional status และประวัติ social isolation ของผู้ป่วยด้วย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีผลกระทบจากกลุ่มอาการนี้จนไม่สามารถทำงาน ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มีชีวิตครอบครัว หรือเข้าสังคมอย่างปกติได้ ในปี ค.ศ.1999 Miller (32, 33) ได้พัฒนาแบบสอบถามมาตรฐานชื่อ The Quick Environmental Exposure and Sensitivity Inventory (QEESI) แบบสอบถามนี้ สามารถนำมาใช้ในการซักประวัติและติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมดี นอกจากนี้ควรซักประวัติการรักษาเก่า หรือการรักษาจากที่อื่นของผู้ป่วยด้วย บ่อยครั้งที่จะพบว่า ผู้ป่วยทำการเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาไปเรื่อยๆ หรือไปทำการรักษากับสถานบำบัดที่ไม่ได้รับการรับรอง (19)
ดังกล่าวแล้วว่าการตรวจร่างกายในผู้ป่วยกลุ่มอาการ MCS มักจะพบว่าปกติ (19) บางครั้งผู้ป่วยอาจบอกว่ามีผื่นขึ้นแต่ยุบแล้ว รู้สึกว่าหน้า แขน หรือท้องบวมขึ้น แต่มักตรวจไม่พบผิดปกติ ไม่บ่อยครั้งนักอาจตรวจพบความผิดปกติ ที่พบได้ทั่วไปร่วมด้วยเช่นมีผื่นแพ้ หรือตรวจพบว่าเป็นหอบหืด (signs of airways obstruction) ในกรณีนี้ หากโรคที่ตรวจพบไม่สามารถอธิบายอาการทั้งหมดของผู้ป่วยได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการในหลายระบบมาก ก็ยังนับว่ามีโอกาสเป็น MCS ได้อยู่
การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยทั่วไปมีประโยชน์ในแง่ตัดโรคอื่นออก หรือช่วยยืนยันว่าผู้ป่วยปกติดีในกรณีที่ผู้ป่วยวิตกกังวลมาก เช่นการตรวจค่าระดับภูมิคุ้มกันต่างๆ ในเลือด หรือการตรวจระดับโลหะในเลือด แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอควรและคำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้วย
การตรวจ imaging ซึ่งสามารถทำได้สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ชนิดคือ Single Photon Emission Computer Tomography (SPECT) และ Positron Emission Tomography (PET) ในปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า สามารถแยกแยะความผิดปกติระหว่างผู้ป่วยกลุ่มอาการ MCS กับคนปกติได้ การศึกษาของ Bornschein (34) ในปี ค.ศ.2002 นั้นพบว่า PET ไม่มีประโยชน์ในการใช้ตรวจผู้ป่วยกลุ่มอาการ MCS
ทฤษฎีสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการ
ปัจจุบันมีผู้อธิบายทฤษฎีการเกิดกลุ่มอาการ MCS เอาไว้อยากหลากหลาย และมีการถกเถียงกัน แต่ก็ยังไม่มีทฤษฎีใดที่ได้รับการยอมรับหรือสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ทฤษฎีดังกล่าวมีดังนี้
- ทฤษฎีทางภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunological Mechanism)
เสนอโดยกลุ่ม clinical ecologist เนื่องจากเชื่อว่ากลไกการเกิดอาการเป็น immunologic overload จากการได้รับสารเคมีปริมาณน้อยๆ บ่อยๆ ในสิ่งแวดล้อม (35-38) เมื่อรวมกันแล้วจึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติไป จึงเกิดอาการของ MCS ขึ้น ทฤษฎีนี้มีความแตกต่างจากทฤษฎีทาง immunology แบบปกติซึ่งมีการอธิบายในวิชาภูมิคุ้มกันวิทยา
การศึกษาเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ส่วนใหญ่จึงอาศัยผล immunologic parameter เช่น Total white blood cell count, T-cell lymphocyte count, T helper/suppressor ratios, B-cell lymphocyte count, lymphocyte surface markers, interleukin, specific antibodies และ autoantibodies ด้วยความเชื่อว่าผู้ป่วย MCS ที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติไป น่าจะมีความแตกต่างของค่า parameters เหล่านี้เมื่อเทียบกับคนธรรมดา ซึ่งปัจจุบันผลการศึกษายังมีความขัดแย้งกันอยู่มาก เนื่องจากบางรายงานพบว่าผู้ป่วย MCS มีค่า parameters ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป (35-37, 39) แต่บางรายงานพบผลปกติ (40, 41)
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาโดยกลุ่ม clinical ecologist นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจัยบางท่าน (40, 42) ว่าขาดความน่าเชื่อถือของข้อมูล นอกจากนี้ Vinies (43) ยังได้รายงานไว้ว่าเรื่อง diurnal, seasonal, age, sex, stress variation ก็อาจมีผลต่อค่า immunological parameters ต่างๆ ได้เช่นกัน
- ทฤษฎีทางพิษวิทยา (Toxicological Mechanism)
ทฤษฎีกลไกทางพิษวิทยา หรือทฤษฎีกลไกความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจนี้ เชื่อว่ากลุ่มอาการ MCS เป็นผลมาจากการอักเสบ (inflammation mechanism) ของเยื่อบุทางเดินหายใจ (27, 44) เมื่อหายใจเอาสารเคมีในสิ่งแวดล้อมเข้าไป ทำให้เกิด chronic irritation และส่งสัญญาณบางอย่าง (เช่น cytokines หรือ neuropeptides) ไปให้สมองแปรผลอย่างผิดปกติ จึงทำให้เกิดอาการต่างๆ ของ MCS ขึ้นมา
Meggs (45) ได้เสนอทฤษฎีว่าการอักเสบ ที่ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจผิดปกติไปนั้น อาจเกิดตามหลังการสัมผัสสารเคมีในปริมาณมาก เช่นเดียวกับ Reactive Airway Dysfunction Syndrome (RADS) แต่ควรเรียกว่า Reactive Upper Airway Dysfunction Syndrome (RUDS) เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ เขาได้ทำการศึกษาโดยใช้ Fiberoptic rhinolaryngoscopic examination (6) ตรวจผู้ป่วย MCS 10 ราย พบว่ามีร่องรอยความผิดปกติเช่น edema, cobblestone appearance, excessive mucous ในผู้ป่วยทุกราย และในปี ค.ศ.1997 (46) เขายังได้รายงานเพิ่มเติมว่าพบความผิดปกติจากการทำ tissue biopsy ในผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ด้วย เช่น defects in tight junctions between cells, desquamation of the respiratory epithelium, glandular hyperplasia, lymphocytic infiltrates, และ peripheral nerve fiber proliferation ผลจากความผิดปกตินี้ Meggs เชื่อว่าทำให้เกิดการส่งสัญญาณไปที่สมองอย่างผิดปกติ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกว่าสัญญาณผิดปกติที่เยื่อบุทางเดินหายใจส่งไปที่สมองนั้นคือสารอะไร
- ทฤษฎีทางระบบประสาท (Olfactory-Limbic Mechanism)
ทฤษฎีทาง neurophysiologic mechanism ถูกเสนอขึ้นโดย Bell (47) ในปี ค.ศ.1992 โดยเรียกชื่อว่า olfactory-limbic model หรือ neural sensitization model ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่าง olfactory system กับสมองส่วน limbic ซึ่งควบคุม cognitive และ emotion มีผลทำให้เกิดกลุ่มอาการ MCS โดยการกระตุ้นกระแสประสาทซ้ำแล้วซ้ำอีกผ่านทาง olfactory nerve ทำให้สมองส่วน limbic เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแปลสัญญาณและนำไปสู่อาการของ MCS ในที่สุด ซึ่งทฤษฎีนี้จะสามารถอธิบายอาการทาง central nervous system และ psychiatric symptoms ได้ด้วย
เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ Bell และคณะ ได้ทำการศึกษาหลายชิ้น ในปี ค.ศ.1996 (48) การศึกษาในนักศึกษาที่มีอาการผิดปกติเมื่อได้รับกลิ่นสารเคมี (Bell เรียกว่าอาการ cacosmia) เทียบกับนักศึกษาที่ไม่มีอาการนี้ พบว่ากลุ่มที่มีอาการ cacosmia มี psychological distress และการใช้ยามากกว่า ซึ่ง Bell เชื่อว่าเป็นผลพวงมาจากการทำงานของสมองส่วน limbic ที่ผิดปกติ การศึกษาอีกชิ้น (49) ที่ทำในผู้ที่เกษียณอายุพบการตอบสนองต่องานที่ต้องใช้สมาธิช้าลงในกลุ่มที่มีผิดปกติเมื่อได้รับกลิ่น
ในปี ค.ศ. 1997 (50) เธอได้ทำการศึกษาในทหารผ่านศึกสูงอายุ พบว่ากลุ่มที่มีอาการผิดปกติเมื่อได้รับกลิ่นจะมีคะแนนความจำน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีกหลายชิ้น (51-53) ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของสมองเช่นระดับ endorphin level, ความดันโลหิต และการหลับ – ตื่น ของผู้ที่มีอาการผิดปกติเมื่อได้รับกลิ่นสารเคมี แต่ปัญหาอย่างหนึ่งในการพิจารณานำการศึกษาของ Bell มาวิเคราะห์คือมักจะใช้ผู้ที่รายงานว่าตนเองมีอาการผิดปกติ เมื่อได้รับกลิ่นสารเคมี (cacosmia) มาเป็น subject ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้เป็น MCS ก็ได้ ซึ่งการศึกษาเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ยังคงต้องทำเพิ่มเติมต่อไป
การพิสูจน์ทฤษฎีในแง่การตรวจการทำงานของสมองที่ผิดปกติด้วย imaging technique เช่น PET, SPECT หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ในคนทั่วไปกับผู้ป่วย MCS ได้อย่างชัดเจน (54)
- ทฤษฎีทางจิตวิทยา (Psychological Mechanism)
ทฤษฎีนี้เริ่มมาจากการสังเกตที่ว่า ผู้ป่วย MCS มักจะพบอาการทางจิตเวชร่วมด้วย (41) ซึ่งยังไม่ทราบว่าอาการทางจิตเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการ MCS หรือเป็นผลที่เกิดตามมา แต่ในมุมมองของนักวิจัยหลายท่านเชื่อว่า MCS เป็นกลุ่มอาการที่มีความสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวช โดย Kurt (3) เชื่อว่า MCS เป็นอาการแสดงรูปแบบหนึ่งของ panic disorder ส่วน Dager (55) ก็ได้รายงานผู้ป่วย 3 รายที่มีอาการของ MCS ต่อ solvent ในที่ทำงาน พบมีอาการเข้าได้กับ panic disorder เช่นกัน
Rosenberg (4) รายงานผู้ป่วยที่เป็น MCS มีอาการร่วมเข้าได้กับเกณฑ์ของ somatization disorder นักวิจัยบางท่านมีความเชื่อว่า MCS อาจมีความสัมพันธ์กับ childhood abuse หรือ adult psychological trauma เช่น Katon (56) เป็นต้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการศึกษาของ Strudenmeyer (57) ซึ่งทำการศึกษาในผู้ป่วย MCS 63 ราย เปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความผิดปกติทางจิตอื่นๆ 64 ราย ทำ long-term psychotherapy และเก็บข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยหญิงที่เป็น MCS มีประวัติ childhood physical or sexual abuse มากกว่ากลุ่ม control อย่างมีนัยสำคัญ
การทดลองของ Strudenmeyer ที่น่าสนใจอีกชิ้น (58) ทำโดยวิธี double-blind provocation challenges test โดยให้ผู้ป่วยที่มีอาการของ MCS และ controls อยู่ใน chamber ที่มีการควบคุมสิ่งแวดล้อมอย่างดี แล้วทำการปล่อยกลิ่นสารเคมีหลายชนิดสลับกับ masking placebo โดย subjects หนึ่งจะถูกทำการ challenge 5-10 ครั้ง จากนั้นให้ทำการแจ้งอาการ ซึ่งพบว่าผู้ป่วย MCS นั้นสามารถแจ้งอาการเมื่อได้รับสารเคมีมี sensitivity เพียง 33.3% และ specificity 64.7% ตามลำดับ ซึ่งผลการทดลองนี้สนับสนุนไปทางความเชื่อที่ว่า MCS เป็นผลมาจากจิตใจมากกว่าร่างกาย
Miller (59) ได้เสนอแนวคิดอีกแบบที่ต่างออกไป คือเชื่อว่า MCS อาจเป็นการติดยารูปแบบหนึ่ง เพราะมีทั้ง craving และ withdrawal symptoms แต่ความคิดนี้ค้านกับความรู้พื้นฐานที่ว่า การติดยาจะเกิดในผู้ที่ tolerance ไม่ใช่ในคนที่ intolerance (60)
อีกท่านหนึ่งที่มีแนวคิดต่างออกไปคือ Gots (61) เขาเชื่อว่า multiorgan system symptoms ของ MCS สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการพื้นฐานทางพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Van de Bergh (62) ซึ่งทำการศึกษาโดยให้ subject ดมกลิ่น ammonia เจือจาง หรืออากาศที่ไม่มีกลิ่นสลับกัน พบว่าการได้รับกลิ่น ammonia เจือจางมีผลทำให้ เกิดอาการทาง somatic เมื่ออยู่ในอากาศที่ไม่มีกลิ่นด้วย ตามทฤษฎีของ Pavlov
การดูแลรักษา
ปัจจุบันนี้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย ยังมีไม่มากพอที่จะบอกได้ว่าการรักษา MCS โดยวิธีใดบ้างที่ได้ผล (19) การรักษาโดยทั่วไปควรทำโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย รักษาสัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วยให้ดี ผู้ป่วย MCS มักจะมาเล่าอาการให้ฟังซึ่งบางครั้งยาวมาก ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาเวลาในการตรวจแต่ละครั้งให้พอเหมาะ ไม่ยาวนานเกินไป เนื่องจากโรคเป็นเรื้อรังจึงควรนัดมาตรวจเป็นระยะๆ ควรถามประวัติการรักษาก่อนหน้าให้ละเอียด บ่อยครั้งจะพบว่าผู้ป่วยเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อยๆ จากรายงานของ Miller (30) พบว่าผู้ป่วยใน series ของเขาประมาณ 40 % ทำการรักษากับแพทย์มาแล้วมากกว่า 10 คน
การแนะนำให้ผู้ป่วย “หลีกเลี่ยง” สารเคมีที่กระตุ้นอาการ เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบอย่างมาก ควรทำเฉพาะในกรณีที่ระบุสารเคมีที่กระตุ้นอาการได้อย่างชัดเจน และสารนั้นอยู่ในที่เฉพาะ เนื่องจากหากแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสารเคมีทุกชนิดที่เกิดอาการ จะจำกัดการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง บางคนอาจลาออกจากงาน หรือไม่ออกจากบ้านเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงสารเคมีที่กระตุ้นอาการ ซึ่งการทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ และยิ่งรู้สึกท้อแท้หมดหวัง
การรักษาจึงควรเน้นไปในทางสนับสนุนให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ (19) ควรติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทนต่อสารเคมีได้มากขึ้นทีละเล็กละน้อย อาจให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยด้วยว่ากลุ่มอาการ MCS นี้ไม่เคยมีรายงานว่าทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้ พยายามช่วยเหลือให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่สังคมได้มากขึ้น เช่นกลับไปใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัว กลับไปทำงาน หรือทำกิจวัตรประจำวันให้ได้ แม้ว่าการรักษาจะต้องใช้ความอดทนและเวลานาน หากพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาทางจิตเวชด้วย ควรส่งตัวไปประเมินทางจิตวิทยาและทำการบำบัดรักษา
แพทย์บางกลุ่มทำการรักษาแบบ un-conventional methods (19) โดยเชื่อในหลักการที่ว่า MCS เกิดจาก immunological dysfunction การรักษาจึงเน้นไปในทางเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายและกำจัดสารพิษออก (desensitization) ซึ่งมีลักษณะหลากหลาย ทั้งการให้กินวิตามินเสริมปริมาณมาก การจำกัดอาหารบางชนิด การหมุนเวียนเปลี่ยนอาหารไปเรื่อยๆ การให้กินสารต้านอนุมูลอิสระ การทำ chelation โดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน (ทั้งแบบกินและแบบฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ) การให้ oxygen เสริม การทำ hyperbaric oxygen therapy การทำ sauna การทำ detoxification enema การรักษาเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมอยู่ในระบบประกันสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง มีราคาแพง และจากรายงานของ Somerville (63) ให้ความเห็นว่าการรักษาเหล่านี้ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากยังขาดหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน
ผลกระทบต่อสังคมและเชิงนโยบาย
แม้ว่า MCS จะเป็นโรคที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่บางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถให้เบิกเงินทดแทนได้ (worker’s compensation claims) เช่น California, Louisiana, Minnesota, Ohio, Oregon, และPennsylvania (14) การให้ผู้ป่วยเบิกเงินชดเชยได้นี้ อาจทำให้เกิดปัญหาในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ เนื่องจากกลุ่มอาการนี้ยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชัดเจน และอาจเป็นปัญหาในการรักษา เพราะทำให้ผู้ป่วยที่ขอเบิกเงินทดแทนยิ่งไม่อยากกลับไปทำงาน ทำให้ป่วยเรื้อรังนานขึ้น
ในบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น Florida มีการให้ลงทะเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็น MCS เพื่อจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อจะมีการพ่นยาฆ่าแมลง และอาจรวมถึงการพ่นสี ซ่อมหรือก่อสร้างอาคารด้วย
กลุ่มผู้ป่วย MCS ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือเยอรมัน มีการตั้งกลุ่มองค์กรชัดเจน และมีการรวมตัวเป็นองค์กรระดับโลก เช่นองค์กร MCS International Coalition of Allied Groups and Organizations (MICAGO) (64) ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการจัดตั้งเว็บไซต์ ทำการสนทนา พูดคุยเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตนเอง สมัครสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น
บทวิจารณ์และสรุป
จะเห็นว่า MCS เป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง นับตั้งแต่การให้คำจำกัดความ การวินิจฉัย การตรวจทดสอบ ทฤษฎีการเกิด การดูแลรักษา รวมถึงประเด็นในแง่กฎหมายและนโยบายด้วย บางครั้งการถกเถียงและขัดแย้งกันทางความคิด มีความรุนแรงถึงกับทำให้เกิดการสอบสวนและการฟ้องร้องดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในอนาคตการศึกษาวิจัยที่มีมาตรฐาน และได้รับการออกแบบมาอย่างดี น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ได้ทราบความจริงเกี่ยวกับกลุ่มอาการนี้มากขึ้น
แต่ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพเกี่ยวกับกลุ่มอาการ MCS นี้จะยังมีไม่มากนัก รวมทั้งยังไม่สามารถอธิบายกลไกการเกิดโรคได้ชัดเจน ในแง่มุมของการดูแลรักษาผู้ป่วย ก็ควรจะต้องให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ผู้ป่วยกลุ่มนี้เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคอื่น พยายามดูแลให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเอง มีอาการที่ดีขึ้น และกลับไปสู่สังคมอย่างปกติสุข
สำหรับประเทศไทย ความจริงกลุ่มอาการ functional somatic syndrome นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ บางกลุ่มอาการเช่น Fibromyalgia (65) หรือ IBS (66) นั้นมีผู้ป่วยและมีการรักษาในประเทศไทยมาพอสมควรแล้ว หากสมมติฐานของ Wessely (20) เป็นความจริง ที่ว่า functional somatic syndrome นั้นเป็นกลุ่มอาการเดียวแต่ผู้ป่วยมา present ได้หลายแบบ ในอนาคตประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยกลุ่มอาการ MCS ได้ แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้อย่างเป็นทางการก็ตาม แต่จากแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ MCS อาจจะกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขปัญหาหนึ่งดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแล้วในปัจจุบันก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
- Randolph TG. Human ecology and susceptibility to the chemical environment. Ann Allergy. 1961 Jul; 19:779-99.
- American Academy of Environmental Medicine. An overview of the philosophy of the American Academy of Environmental Medicine. Denver 1992.
- Kurt TL. Multiple chemical sensitivities--a syndrome of pseudotoxicity manifest as exposure perceived symptoms. J Toxicol Clin Toxicol. 1995; 33(2):101-5.
- Rosenberg SJ, Freedman MR, Schmaling KB, Rose C. Personality styles of patients asserting environmental illness. J Occup Med. 1990 Aug; 32(8):678-81.
- Cullen MR. The worker with multiple chemical sensitivities: an overview. Occup Med. 1987 Oct-Dec; 2(4):655-61.
- Meggs WJ, Cleveland CH, Jr. Rhinolaryngoscopic examination of patients with the multiple chemical sensitivity syndrome. Arch Environ Health. 1993 Jan-Feb; 48(1):14-8.
- Harrison RJ. Multiple-chemical sensitivity. In: Ladou J, ed. Current occupational & environmental medicine. 4th ed. New York: McGraw-Hill 2007:749 - 56.
- Ashford NA, Miller CS. Chemical exposures: low levels and high stakes. New York: Van Nostrand Reinhold 1991.
- National Research Council. Multiple chemical sensitivities: a workshop. Washington, DC: National Academy Press 1992.
- Association of Occupational and Environmental Clinics. Advancing the Understanding of Multiple Chemical Sensitivity: Proceedings of the AOEC Workshop on Multiple Chemical Sensitivity. Toxicol Ind Health. 1992; 8(4).
- Nethercott JR, Davidoff LL, Curbow B, Abbey H. Multiple chemical sensitivities syndrome: toward a working case definition. Arch Environ Health. 1993 Jan-Feb; 48(1):19-26.
- International Programme On Chemical Safety (IPCS). Report of Multiple Chemical Sensitivities (MCS) Workshop. Berlin 1996.
- Cullen MR. Multiple chemical sensitivities. ILO encyclopaedia of occupational health and safety. 4th ed. Geneva 1998.
- Environmental Health Policy Committee. A report on multiple chemical sensitivity (MCS) predecisional draft. 1998 [cited 18 September 2008]; Available from: http://web.health.gov/environment/mcs/toc.htm
- (15) Occupational Sefety & Health Administration. Multiple chemical sensitivities. Safety and health topics [cited 18 September 2008]; Available from: http://www.osha.gov/SLTC/multiplechemicalsensitivities/index.html
- Black DW, Rathe A, Goldstein RB. Environmental illness. A controlled study of 26 subjects with ' 20th century disease'. Jama. 1990 Dec 26; 264(24):3166-70.
- Kilshaw S. Gulf war syndrome: a reaction to psychiatry's invasion of the military? Cult Med Psychiatry. 2008 Jun; 32(2):219-37.
- Black DW, Doebbeling BN, Voelker MD, Clarke WR, Woolson RF, Barrett DH, et al. Quality of life and health-services utilization in a population-based sample of military personnel reporting multiple chemical sensitivities. J Occup Environ Med. 1999 Oct; 41(10):928-33.
- Ducatman AM. Multiple chemical sensitivity. In: Rom WN, ed. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins 2007:867 - 81
- Wessely S, Nimnuan C, Sharpe M. Functional somatic syndromes: one or many? Lancet. 1999 Sep 11; 354(9182):936-9.
- Andersson B, Berg M, Arnetz BB, Melin L, Langlet I, Liden S. A cognitive-behavioral treatment of patients suffering from "electric hypersensitivity". Subjective effects and reactions in a double-blind provocation study. J Occup Environ Med. 1996 Aug; 38(8):752-8.
- Meggs WJ, Dunn KA, Bloch RM, Goodman PE, Davidoff AL. Prevalence and nature of allergy and chemical sensitivity in a general population. Arch Environ Health. 1996 Jul-Aug; 51(4):275-82.
- Baldwin CM, Bell IR, O'Rourke MK, Lebowitz MD. The association of respiratory problems in a community sample with self-reported chemical intolerance. Eur J Epidemiol. 1997 Jul; 13(5):547-52.
- Hausteiner C, Bornschein S, Hansen J, Zilker T, Forstl H. Self-reported chemical sensitivity in Germany: a population-based survey. Int J Hyg Environ Health. 2005; 208(4):271-8.
- Bell IR, Schwartz GE, Amend D, Peterson JM, Stini WA. Sensitization to early life stress and response to chemical odors in older adults. Biol Psychiatry. 1994 Jun 1; 35(11):857-63.
- Woolf A. A 4-year-old girl with manifestations of multiple chemical sensitivities. Environ Health Perspect. 2000 Dec; 108(12):1219-23.
- Sparks PJ, Daniell W, Black DW, Kipen HM, Altman LC, Simon GE, et al. Multiple chemical sensitivity syndrome: a clinical perspective. I. Case definition, theories of pathogenesis, and research needs. J Occup Med. 1994 Jul; 36(7):718-30.
- Kipen HM, Hallman W, Kelly-McNeil K, Fiedler N. Measuring chemical sensitivity prevalence: a questionnaire for population studies. Am J Public Health. 1995 Apr; 85(4):574-7.
- Cullen MR, Pace PE, Redlich CA. The experience of the Yale Occupational and Environmental Medicine Clinics with multiple chemical sensitivities, 1986-1991. Toxicol Ind Health. 1992 Jul-Aug; 8(4):15-9.
- Miller CS, Mitzel HC. Chemical sensitivity attributed to pesticide exposure versus remodeling. Arch Environ Health. 1995 Mar-Apr; 50(2):119-29.
- Caccappolo E, Kipen H, Kelly-McNeil K, Knasko S, Hamer RM, Natelson B, et al. Odor perception: multiple chemical sensitivities, chronic fatigue, and asthma. J Occup Environ Med. 2000 Jun; 42(6):629-38.
- Miller CS, Prihoda TJ. A controlled comparison of symptoms and chemical intolerances reported by Gulf War veterans, implant recipients and persons with multiple chemical sensitivity. Toxicol Ind Health. 1999 Apr-Jun; 15(3-4):386-97.
- Miller CS, Prihoda TJ. The Environmental Exposure and Sensitivity Inventory (EESI): a standardized approach for measuring chemical intolerances for research and clinical applications. Toxicol Ind Health. 1999 Apr-Jun; 15(3-4):370-85.
- Bornschein S, Hausteiner C, Drzezga A, Bartenstein P, Schwaiger M, Forstl H, et al . PET in patients with clear-cut multiple chemical sensitivity (MCS). Nuklearmedizin. 2002 Dec; 41(6):233-9.
- Thrasher JD, Broughton A, Madison R. Immune activation and autoantibodies in humans with long-term inhalation exposure to formaldehyde. Arch Environ Health. 1990 Jul-Aug; 45(4):217-23.
- Levin AS, Byers VS. Multiple chemical sensitivities: a practicing clinician's point of view. Clinical and immunologic research findings. Toxicol Ind Health. 1992 Jul-Aug; 8(4):95-109.
- Rea WJ, Johnson AR, Ross GH, Butler JR, Fenyves EJ, Griffiths B. Considerations for the diagnosis of chemical sensitivity. In: Multiple Chemical Sensitivities. Washington DC: National Academy Press 1992.
- Ross GH. Treatment options in multiple chemical sensitivity. Toxicol Ind Health. 1992 Jul-Aug; 8(4):87-94.
- Heuser G, Wojdani A, Heuser S. Diagnostic markers of multiple chemical sensitivity. Multiple chemical sensitivities: addendum to biologic markers in immunotoxicology. Washington, DC: National Academy Press 1992.
- Terr AI. Environmental illness. A clinical review of 50 cases. Arch Intern Med. 1986 Jan; 146(1):145-9.
- Simon GE, Daniell W, Stockbridge H, Claypoole K, Rosenstock L. Immunologic, psychological, and neuropsychological factors in multiple chemical sensitivity. A controlled study. Ann Intern Med. 1993 Jul 15; 119(2):97-103.
- Albright JF, Goldstein RA. Is there evidence of an immunologic basis for multiple chemical sensitivity? Toxicol Ind Health. 1992 Jul-Aug; 8(4):215-9.
- Vineis P, Schulte PA, Vogt RF. Technical variability in laboratory data. In: Schulte PA, Perera F, eds. Molecular epidemiology: principles and practices. New York: Academic Press 1993.
- Bascom R. Differential responsiveness to irritant mixtures. Possible mechanisms. Ann N Y Acad Sci. 1992 Apr 30; 641:225-47.
- Meggs WJ. Multiple chemical sensitivities--chemical sensitivity as a symptom of airway inflammation. J Toxicol Clin Toxicol. 1995; 33(2):107-10.
- Meggs WJ. Hypothesis for induction and propagation of chemical sensitivity based on biopsy studies. Environ Health Perspect. 1997 Mar; 105 Suppl 2:473-8.
- Bell IR, Miller CS, Schwartz GE. An olfactory-limbic model of multiple chemical sensitivity syndrome: possible relationships to kindling and affective spectrum disorders. Biol Psychiatry. 1992 Aug 1; 32(3):218-42.
- Bell IR, Miller CS, Schwartz GE, Peterson JM, Amend D. Neuropsychiatric and somatic characteristics of young adults with and without self-reported chemical odor intolerance and chemical sensitivity. Arch Environ Health. 1996 Jan-Feb; 51(1):9-21.
- Bell IR, Wyatt JK, Bootzin RR, Schwartz GE. Slowed reaction time performance on a divided attention task in elderly with environmental chemical odor intolerance. Int J Neurosci. 1996 Feb; 84(1-4):127-34.
- Bell IR, Walsh ME, Goss A, Gersmeyer J, Schwartz GE, Kanof P. Cognitive dysfunction and disability in geriatric veterans with self-reported intolerance to environmental chemicals. J Chronic Fatigue Syndrome 1997; 3(3):5 - 42.
- Bell IR, Bootzin RR, Davis TP, Hau V, Ritenbaugh C, Johnson KA, et al. Time-dependent sensitization of plasma beta-endorphin in community elderly with self-reported environmental chemical odor intolerance. Biol Psychiatry. 1996 Jul 15; 40(2):134-43.
- Bell IR, Bootzin RR, Ritenbaugh C, Wyatt JK, DeGiovanni G, Kulinovich T, et al. A polysomnographic study of sleep disturbance in community elderly with self-reported environmental chemical odor intolerance. Biol Psychiatry. 1996 Jul 15; 40(2):123-33.
- Bell IR, Schwartz GE, Bootzin RR, Wyatt JK. Time-dependent sensitization of heart rate and blood pressure over multiple laboratory sessions in elderly individuals with chemical odor intolerance. Arch Environ Health. 1997 Jan-Feb; 52(1):6-17.
- Mayberg H. Critique: SPECT studies of multiple chemical sensitivity. Toxicol Ind Health. 1994 Jul-Oct; 10(4-5):661-6.
- Dager SR, Holland JP, Cowley DS, Dunner DL. Panic disorder precipitated by exposure to organic solvents in the work place. Am J Psychiatry. 1987 Aug; 144(8):1056-8.
- Katon W, Sullivan M, Walker E. Medical symptoms without identified pathology: relationship to psychiatric disorders, childhood and adult trauma, and personality traits. Ann Intern Med. 2001 May 1; 134(9 Pt 2):917-25.
- Staudenmayer H, Selner ME, Selner JC. Adult sequelae of childhood abuse presenting as environmental illness. Ann Allergy. 1993 Dec; 71(6):538-46.
- Staudenmayer H, Selner JC, Buhr MP. Double-blind provocation chamber challenges in 20 patients presenting with "multiple chemical sensitivity". Regul Toxicol Pharmacol. 1993 Aug; 18(1):44-53.
- Miller CS. The compelling anomaly of chemical intolerance. Ann N Y Acad Sci. 2001 Mar; 933:1-23.
- Scholz H, Franz M, Heberlein U. The hangover gene defines a stress pathway required for ethanol tolerance development. Nature. 2005 Aug 11; 436(7052):845-7.
- Gots RE. Multiple chemical sensitivities: distinguishing between psychogenic and toxicodynamic. Regul Toxicol Pharmacol. 1996 Aug; 24(1 Pt 2):S 8-15.
- Van den Bergh O, Stegen K, Van Diest I, Raes C, Stulens P, Eelen P, et al. Acquisition and extinction of somatic symptoms in response to odours: a Pavlovian paradigm relevant to multiple chemical sensitivity. Occup Environ Med. 1999 May; 56(5):295-301.
- Somerville M. Effect of desensitization treatments and clinical ecology for multiple chemical sensitivity and related disorders. In: Foxcroft D, Mutho V, eds. STEER: succinct and timely evaluated evidence reviews. University of Southhampton, England: Wessex Institute for Health Research and Development 2001.
- MCS International Coalition of Allied Groups and Organizations (MICAGO). 2008 [cited 18 September 2008]; Available from: http://www.mcs-international.org
- Arshad A, Kong KO. Awareness and perceptions of fibromyalgia syndrome: a survey of southeast asian rheumatologists. J Clin Rheumatol. 2007 Apr; 13(2):59-62.
- Gonlachanvit S, Mahayosnond A, Kullavanijaya P. Effects of chili on postprandial gastrointestinal symptoms in diarrhoea predominant irritable bowel syndrome: evidence for capsaicin-sensitive visceral nociception hypersensitivity. Neurogastroenterol Motil. 2008 Jul 17; 17:17.