การแปลผลการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urine Analysis; UA)

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 1 พฤษภาคม 2560

การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urine analysis หรือ Urinalysis หรือ UA) เป็นการตรวจพื้นฐานทางการแพทย์ ที่นิยมใช้ตรวจในการตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากเป็นการตรวจที่ทำได้ค่อนข้างง่าย ไม่ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจเจ็บตัว และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของไตและระบบปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจหลายอย่าง

ไต (Kidney) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าขับของเหลวและของเสียออกจากร่างกาย โดยเมื่อเลือดไหลผ่านไต ไตจะทำหน้าที่เป็นเครื่องกรอง เพื่อกรองของเหลวส่วนเกินและของเสียในเลือด (Fluid and waste material), แร่ธาตุ (Mineral), สารเคมีต่างๆ (Chemical), รวมถึงยา (Drug) ออกไปเป็นน้ำปัสสาวะ (Urine) น้ำปัสสาวะจะไหลออกจากไตผ่านท่อไต (Ureter) ไปสะสมรวมกันที่กระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า Bladder) จากนั้นจะขับออกสู่ร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ (Urethra) [1] การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ จึงเป็นการดูการทำหน้าที่ของไตและระบบปัสสาวะ รวมถึงอาจทำให้ทราบถึงความเจ็บป่วยบางอย่างในร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจได้ด้วย (จากการพิจารณาปริมาณสารเคมีต่างๆ ที่ขับออกมากับปัสสาวะ) การตรวจนี้จึงถือว่าเป็นการตรวจที่ให้ประโยชน์อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะนั้น เป็นการตรวจทางการแพทย์ในระดับการคัดกรองโรค (Screening) คือใช้ตรวจเพื่อคัดกรองหาความผิดปกติของปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจ มากกว่าที่จะเป็นการตรวจเพื่อใช้ยืนยัน (Confirmation) หรือเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติ (Diagnostic) ในการแปลผลการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะนั้น เมื่อแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพพบความผิดปกติจากการตรวจแล้ว เช่น พบว่ามีโปรตีนในปัสสาวะ พบว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ แพทย์ผู้ตรวจสุขภาพจึงมักต้องแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุรแพทย์ทั่วไป (Internist) อายุรแพทย์โรคไต (Nephrologist) หรือศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ (Urologist) เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ รวมถึงทำการรักษาหากเป็นโรคที่จำเป็นต้องทำการรักษาต่อไป [2]

การเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อส่งตรวจที่ถูกต้อง

ในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อใช้ส่งตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะนั้น หากทำการเก็บตัวอย่างปัสสาวะได้อย่างถูกต้องแล้ว จะช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนลงไปในตัวอย่างปัสสาวะ ซึ่งหากเกิดขึ้น อาจทำให้ผลการตรวจวิเคราะห์ผิดไปจากความเป็นจริงได้ คำแนะนำในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เป็นดังนี้

ในประเด็นการเตรียมตัวก่อนตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ โดยทั่วไปผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ เป็นพิเศษ (ไม่ต้องงดน้ำ ไม่ต้องอดอาหาร และไม่ต้องงดยาที่กินอยู่ประจำ) [3]

ในประเด็นขั้นตอนการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ ส่วนใหญ่ทางสถานพยาบาลมักจะมอบกระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะให้แก่ผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อให้นำไปเก็บตัวอย่างปัสสาวะในห้องสุขาด้วยตนเอง กระปุกปัสสาวะนี้โดยทั่วไปจะเป็นกระปุกทรงปากกว้าง ที่แห้ง และสะอาด ผู้เข้ารับการตรวจควรรักษาความสะอาดของกระปุกไว้ อย่าให้มีสิ่งปนเปื้อนใดๆ เช่น อุจจาระ คราบลิปสติก คราบเครื่องสำอาง น้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำเปล่า ปนเปื้อนเพิ่มเติมลงไปภายในกระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะที่ได้มา [3] และเมื่อได้รับกระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะมาแล้ว ต้องอย่าลืมดูด้วยว่าชื่อที่ปรากฏอยู่ข้างกระปุกนั้น ตรงกับชื่อของผู้เข้ารับการตรวจเองหรือไม่ หากชื่อไม่ตรง ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลเพื่อเปลี่ยนให้ถูกต้องทันที ในระหว่างกระบวนการตรวจสุขภาพ หากยังไม่ได้ทำการเก็บปัสสาวะ ผู้เข้ารับการตรวจควรเก็บรักษากระปุกเก็บปัสสาวะไว้กับตัว อย่านำไปตั้งทิ้งไว้ในที่ต่างๆ เพราะอาจทำให้กระปุกของตนเองสลับกับของผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพท่านอื่นโดยไม่ตั้งใจได้

ในขั้นตอนการเก็บปัสสาวะนั้น นิยมให้ใช้ปัสสาวะช่วงกลาง (Midstream urine) ในการส่งตรวจ โดย “ปัสสาวะช่วงกลาง (Midstream urine)” หมายถึง ปัสสาวะที่ไม่ใช่ช่วงแรกและช่วงท้ายของลำปัสสาวะที่ออกมา ทำการเก็บได้โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปส่วนหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเอากระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปรองเก็บ เมื่อเก็บปัสสาวะได้ปริมาณที่ต้องการแล้ว ก็ให้ปัสสาวะส่วนท้ายทิ้งไป สาเหตุที่นิยมให้ใช้ปัสสาวะช่วงกลางในการส่งตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ เนื่องจากในปัสสาวะส่วนแรก มีโอกาสที่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ที่ติดอยู่ภายในท่อปัสสาวะ รูเปิดท่อปัสสาวะ รวมถึงมือของผู้เข้ารับการตรวจ [4] ส่วนในปัสสาวะช่วงท้าย อาจจะมีสารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมาก (ในเพศชาย) ปนเปื้อนมาด้วยได้

ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจเก็บตัวอย่างปัสสาวะในช่วงเช้าตรู่หลังจากตื่นนอน กรณีที่เก็บเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ มีอีกคำแนะนำหนึ่งคือแนะนำให้ถ่ายปัสสาวะทิ้งไปอย่างน้อย 200 ml เสียก่อน [3] สาเหตุที่แนะนำให้ทำเนื่องจากปัสสาวะแรกในช่วงเช้าหลังตื่นนอน (First morning urine) นั้นจะมีความเข้มข้นของสารเคมีต่างๆ มากกว่าปกติ (เนื่องจากร่างกายสะสมปัสสาวะมาทั้งคืน) จึงแนะนำให้ถ่ายปัสสาวะแรกของวันทิ้งไปก่อน กรณีนี้จะต่างจากการตรวจปัสสาวะเพื่อหาการตั้งครรภ์ (Urine pregnancy test) ซึ่งการเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อตรวจหาการตั้งครรภ์ในระยะแรกนั้น หากใช้ปัสสาวะแรกในช่วงเช้าหลังตื่นนอน (First morning urine) จะมีโอกาสตรวจพบการตั้งครรภ์ในระยะแรกได้มากที่สุด [5]

สำหรับผู้เข้ารับการตรวจเพศหญิง หากช่วงที่เข้ารับการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะเป็นช่วงที่ตรงกับการมีประจำเดือนอยู่ ควรเลื่อนการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะออกไปก่อน จนกว่าประจำเดือนจะหมด แล้วจึงค่อยมาทำการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะในภายหลัง สาเหตุที่ไม่แนะนำให้ทำการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะในช่วงที่มีประจำเดือน เนื่องจากมีโอกาสสูงที่เลือดประจำเดือนจะปนเปื้อนลงไปในตัวอย่างปัสสาวะที่เก็บส่งตรวจ ทำให้ผลการตรวจระดับเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะจะพบขึ้นสูงกว่าความเป็นจริง

ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนการเก็บตัวอย่างปัสสาวะแบบสะอาด (Clean catch urine sample) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะอย่างถูกต้อง ขั้นตอนเป็นดังนี้ [6-7]

ผู้ชาย ผู้เข้ารับการตรวจล้างมือของตนเองให้สะอาด >>> ร่นหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศลง (ในกรณีที่ยังไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ) >>> ทำความสะอาดโดยล้างบริเวณรอบๆ รูเปิดของท่อปัสสาวะด้วยน้ำสะอาด จากนั้นซับให้แห้งด้วยกระดาษชำระ >>> เปิดฝากระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะ >>> ปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปก่อนส่วนหนึ่ง จากนั้นเอากระปุกรองเก็บปัสสาวะช่วงกลาง ให้ได้ปริมาณอย่างน้อย 30 ml [8] ระหว่างที่เก็บอย่านำมือเข้าไปสัมผัสด้านในของกระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะ จากนั้นปัสสาวะช่วงท้ายทิ้งไป >>> ปิดฝากระปุก >>> ล้างมือให้สะอาดอีกครั้ง >>> นำกระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปส่งให้เจ้าหน้าที่โดยเร็ว

ผู้หญิง ผู้เข้ารับการตรวจล้างมือของตนเองให้สะอาด >>> ทำความสะอาดบริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะ โดยใช้มือข้างหนึ่งถ่างแคม (Labia) ให้เห็นท่อปัสสาวะ และใช้มืออีกข้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษชำระ โดยการเช็ดต้องเช็ดจากบนไปล่าง (คือเช็ดจากท่อปัสสาวะไปทางทวารหนัก) เท่านั้น และไม่ใช้กระดาษชำระซ้ำ สาเหตุที่ให้ทำเช่นนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารคัดหลั่งจากช่องคลอดและอุจจาระปนเปื้อนมาที่บริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะ [3] >>> เปิดฝากระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะ >>> ปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปก่อนส่วนหนึ่ง จากนั้นเอากระปุกรองเก็บปัสสาวะช่วงกลาง ให้ได้ปริมาณอย่างน้อย 30 ml [8] ระหว่างที่เก็บอย่านำมือเข้าไปสัมผัสด้านในของกระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะ จากนั้นปัสสาวะช่วงท้ายทิ้งไป >>> ปิดฝากระปุก >>> ล้างมือให้สะอาดอีกครั้ง >>> นำกระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปส่งให้เจ้าหน้าที่โดยเร็ว

การแปลผลการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ

ในการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะนั้น ห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลจะทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีการ 3 อย่าง ได้แก่ การมองด้วยสายตา (Visual examination), การตรวจวิเคราะห์ทางเคมี (Chemical examination), และการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic examination) [8] รายละเอียดการแปลผลค่าพารามิเตอร์แต่ละรายการของการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะนั้น เป็นดังนี้

การมองด้วยสายตา (Visual examination)

ในการมองด้วยสายตา นักเทคนิคการแพทย์จะพิจารณาลักษณะปรากฏ (Appearance) ของตัวอย่างปัสสาวะ โดยดูสี (Color) และความใส (Clarity) ของตัวอย่างปัสสาวะที่ได้มาเป็นหลัก ซึ่งสีและความใส อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างได้ ดังนี้

  • สี (Color) มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อสีของปัสสาวะ เช่น ความเข้มข้นของปัสสาวะ อาหารที่กิน ยาที่กิน และการป่วยเป็นโรค [1] ปัสสาวะโดยปกติจะมีสีโทนเหลือง โดยทั่วไปก็จะเป็นสีเหลืองปกติ (Yellow) แต่ถ้าปัสสาวะเจือจางมาก เช่น ในคนที่ดื่มน้ำมามากๆ อาจจะใสไม่มีสี (Colorless) หรือมีสีเหลืองอ่อน (Pale yellow) ถ้าปัสสาวะเข้มข้นมาก เช่น ในคนที่ร่างกายขาดน้ำ อาจจะมีสีเหลืองเข้ม (Dark yellow) ส้ม (Orange) ไปจนถึงสีเหลืองอำพัน (Dark amber) ปัสสาวะที่มีสีต่างออกไปจากโทนสีเหลือง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัสสาวะเป็นสีเหลืองสว่าง (Bright yellow) อาจเกิดจากการกินวิตามินรวม (Multivitamin) หรือวิตามินบีรวม (B complex) [1], ปัสสาวะสีแดง (Red) อาจเกิดจากการกินหัวบีทรูท (Beetroot) หรือแก้วมังกรแดง (Red dragon fruit) จำนวนมาก [9] หรือเกิดจากการได้รับยาสลบ (Propofal) หรือยาแก้โรคจิตเวช (Chlorpromazine) [3] การมีเลือดปนในปัสสาวะ (Hematuria) เช่น จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) นิ่วในไต (Nephrolithiasis หรือ Renal calculi) นิ่วในท่อไต (Ureterolithiasis หรือ Ureteral calculi) ภาวะฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis) ภาวะไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria) เนื่องจากกล้ามเนื้อสูญสลาย (Rhabdomyolysis) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy) ภาวะเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนัก (Exercise-induced hematuria) ภาวะเหล่านี้ก็ทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดง (Red) หรือแดงออกน้ำตาล (Red brown) หรือสีน้ำตาล (Brown) ได้เช่นกัน [3], ปัสสาวะสีส้ม (Orange) อาจเกิดจากขาดน้ำ หรือกินแครอท (Carrot) หรือวิตามินซีอัดเม็ด (Vitamin C) จำนวนมาก หรือกินยา เช่น ยารักษาวัณโรค (Rifampicin หรือ Rifampin) ยาลดการระคายเคืองทางเดินปัสสาวะ (Phenazopyridine หรือ Pyridium) ก็ได้ [3], ปัสสาวะสีฟ้า (Blue) อาจเกิดจากกินยา เช่น สีเมทิลีนบลู (Methylene blue) ซึ่งนิยมผสมอยู่ในยาที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ยาล้างไต” (แต่จริงๆ ยานี้ไม่ได้ทำหน้าที่ล้างไต บางสูตรอาจมีคุณสมบัติช่วยขับปัสสาวะและบรรเทาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะเสียมากกว่า) การกินยาต้านซึมเศร้า (Amitriptyline) และยาแก้ปวด (Indometacin) [3], ปัสสาวะสีเขียว (Green) อาจเกิดจากการกินอาหาร เช่น หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) จำนวนมาก การได้รับยา เช่น ยาสลบ (Propofal) สีเมทิลีนบลู (Methylene blue) ยาต้านซึมเศร้า (Amitriptyline) หรือยาแก้ปวด (Indometacin) [2-3], ปัสสาวะสีน้ำตาล (Brown) หรือน้ำตาลเข้ม (Dark brown) หรือสีเหมือนโคล่า (Cola-colored) อาจเกิดจากการกินถั่วปากอ้า (Fava bean) ในปริมาณมาก การมีเลือดปนในปัสสาวะจากสาเหตุต่างๆ (Hematuria) การกินยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Levodopa) ยาฆ่าเชื้อ (Metronidazole หรือ Flagyl) ยาฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Nitrofurantoin) ยาระบาย (Senna) ยารักษามาลาเรีย (Primaquine และ Chloroquine) [2-3] การมีรงควัตถุน้ำดี (Bile pigment) อยู่ในปัสสาวะ [10], ปัสสาวะสีดำ (Black) พบในโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ไม่บ่อยซึ่งมีชื่อว่า Alkaptonuria [3], ปัสสาวะสีขาว (White) อาจเกิดได้จาก มีหนองปนในปัสสาวะ (Pyuria) คือมีเซลล์เม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ปนอยู่ในปัสสาวะจำนวนมาก มักเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) หรือในคนไข้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Sepsis) หรือคนที่ติดเชื้อหนองใน (Gonorrhea) มีน้ำเหลืองปนไขมันปนในปัสสาวะ (Chyluria) เกิดจากการที่ระบบน้ำเหลืองถูกอุดกั้นเนื่องจากการติดเชื้อพยาธิเท้าช้าง (Filariasis) การมีผลึกฟอสเฟต (Phosphate crystal) ในปัสสาวะจำนวนมาก ก็ทำให้ปัสสาวะขุ่นจนดูเป็นสีขาวได้ [3]
  • ความใส (Clarity) เป็นการดูว่าปัสสาวะนั้นมีความใสหรือขุ่นเพียงใด โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ [3, 8] ได้แก่ ใส (Clear), ขุ่นเล็กน้อย (Mildly cloudy), ขุ่น (Cloudy), และขุ่นข้น (Turbid) ความใสของปัสสาวะจะลดลงถ้ามีการปนเปื้อนของสิ่งต่างๆ อยู่ในปัสสาวะ ซึ่งปัสสาวะปกติ (Normal urine) นั้น อาจจะใสหรือขุ่นก็ได้ การปนเปื้อนของสารบางอย่างที่พบได้ในคนปกติทั่วไป เช่น เมือก (Mucus) สเปิร์ม (Sperm) สารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมาก (Prostatic secretion) สารคัดหลั่งจากช่องคลอด (Vaginal discharge) เศษเซลล์เยื่อบุ (Cellular debris) ผลึกที่พบได้ทั่วไปในปัสสาวะ (Urine crystal) ไปจนถึงสิ่งปนเปื้อน (Contaminant) เช่น โลชั่นทาผิว (Body lotion) และแป้ง (Powder) ล้วนแต่ทำให้ตัวอย่างปัสสาวะขุ่นขึ้นได้ [8] การปนเปื้อนของสิ่งผิดปกติ เช่น เม็ดเลือดขาว (White blood cell) เม็ดเลือดแดง (Red blood cell) แบคทีเรีย (Bacteria) หรือโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) ก็ทำให้ปัสสาวะขุ่นขึ้นได้เช่นกัน [3, 8]
  • ส่วนในเรื่องกลิ่น (Odor) ของปัสสาวะนั้น กลิ่นที่แรงมักจะสัมพันธ์กับความเข้มข้นของปัสสาวะที่เข้มข้น มากกว่าที่จะเป็นการบอกความผิดปกติ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ [10] ดังนั้น ส่วนใหญ่ในการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ จะไม่มีการรายงานเรื่องกลิ่นของปัสสาวะไว้

การตรวจวิเคราะห์ทางเคมี (Chemical examination)

ในการตรวจวิเคราะห์ทางเคมีนั้น ห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลส่วนใหญ่จะใช้แผ่นตรวจสำเร็จรูปในการตรวจ แผ่นตรวจสำเร็จรูป (Test strip หรือ Dipstick) คือแผ่นพลาสติกที่มีลักษณะเป็นแท่ง บนแผ่นพลาสติกในแต่ละส่วนจะมีการเคลือบสารเคมีเอาไว้ ในการตรวจนักเทคนิคการแพทย์จะใช้แผ่นตรวจสำเร็จรูปนี้จุ่มลงในน้ำปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นตัวทดสอบก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนสี จากนั้นนำแผ่นตรวจสำเร็จรูปที่เปลี่ยนสีแล้วมาอ่านผล จะทำให้ทราบได้ว่าในปัสสาวะนั้นมีสารเคมีชนิดใดอยู่บ้าง ในการอ่านผลนั้น เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรง (ลดความแปรปรวนจากการอ่านด้วยสายตาของมนุษย์) ห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลมักจะใช้เครื่องอ่านผลแผ่นตรวจสำเร็จรูปแบบอัตโนมัติ (Automated instrument) แทนการอ่านด้วยสายตามนุษย์ [8]

ในการรายงานผล เนื่องจากการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะเป็นการตรวจคัดกรอง ผลที่ตรวจได้จะเป็นเพียงระดับเชิงคุณภาพ (Qualitative test) หรือระดับเชิงกึ่งปริมาณ (Semi-quantitative test) เท่านั้น [11] ขึ้นอยู่กับชนิดของแผ่นตรวจสำเร็จรูปที่ใช้ ผลเชิงคุณภาพ (Qualitative) คือจะบอกได้เพียงว่าสารเคมีที่พิจารณา มี (Positive) หรือไม่มี (Negative) อยู่ในตัวอย่างปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจ ส่วนผลเชิงกึ่งปริมาณ (Semi-quantitative) คือจะบอกได้ว่ามี (Positive) หรือไม่มี (Negative) และถ้ามี (Positive) จะสามารถบอกได้คร่าวๆ ด้วยว่า มีอยู่ในปริมาณสูงหรือไม่ โดยการบอกมักจะใช้ระบบเกรด (Grading) เช่น พบเล็กน้อย (Trace), น้อย (1+), ปานกลาง (2+), มาก (3+), และมากที่สุด (4+) ปริมาณที่มากหรือน้อยนั้น ก็ได้จากการพิจารณาการเปลี่ยนสีของสารเคมีที่เป็นตัวทดสอบ (ที่เคลือบไว้บนแผ่นทดสอบสำเร็จรูป) ว่าเปลี่ยนสีไปเข้มมากหรือน้อยนั่นเอง การบอกในระดับเชิงกึ่งปริมาณนั้นบอกได้แต่เพียงคร่าวๆ ว่ามีสารเคมีที่พิจารณาอยู่ในตัวอย่างปัสสาวะมากหรือน้อย แต่ไม่สามารถบอกแบบยืนยันผลได้ว่ามีอยู่ในปริมาณเท่าใด (ในบางกรณี เราอาจพอเทียบเคียงผลที่รายงานในระบบเกรดกับปริมาณสารเคมีที่พิจารณาได้ เช่น ระดับโปรตีนในตัวอย่างปัสสาวะ ระดับ Trace จะประมาณเท่ากับโปรตีน 5 – 10 mg/dL, ระดับ 1+ จะประมาณเท่ากับโปรตีน 30 mg/dL, ระดับ 2+ จะประมาณเท่ากับโปรตีน 100 mg/dL, ระดับ 3+ จะประมาณเท่ากับโปรตีน 300 mg/dL, และระดับ 4+ จะประมาณเท่ากับโปรตีน 1,000 mg/dL [10] แต่การทำแบบนี้ไม่สามารถบอกตัวเลขที่แม่นยำชัดเจนได้) หากสารเคมีที่พิจารณาเป็นสารที่มีผลต่อสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจ และแพทย์ต้องการทราบระดับของสารเคมีนั้นในปัสสาวะอย่างชัดเจนแล้ว จะต้องส่งตรวจวิเคราะห์ระดับของสารเคมีที่พิจารณาในแบบเชิงปริมาณ (Quantitative test) เพิ่มเติม

สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบในน้ำปัสสาวะที่สามารถตรวจด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูปนั้นมีมากกว่า 100 ชนิด [1] แต่ในการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะโดยทั่วๆ ไป จะมีสารเคมีที่นิยมทำการตรวจและรายงานผลอยู่ดังนี้

  • ความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity หรือ SpGr หรือ SG) การตรวจความถ่วงจำเพาะเป็นการหาความเข้มข้นของปัสสาวะ (Concentration) โดยเปรียบเทียบปริมาณสารเคมีที่ละลายอยู่ในตัวอย่างปัสสาวะเทียบกับน้ำบริสุทธิ์ (ถ้าปัสสาวะนั้นไม่มีสารเคมีใดๆ ละลายอยู่เลย จะมีค่าความถ่วงจำเพาะ = 1.000 แต่เป็นไปได้ยากมากในความเป็นจริง [8]) ความถ่วงจำเพาะมักจะสัมพันธ์กับการขาดน้ำ ในผู้ที่ดื่มน้ำปริมาณมากๆ ก่อนตรวจ หรือได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำในปริมาณมากๆ ปัสสาวะจะมีความเจือจางมาก โดยในคนทั่วไปจะเจอจางได้มากที่สุดจนถึงค่าความถ่วงจำเพาะที่ประมาณ 1.003 [3] ส่วนผู้ที่ขาดน้ำ ปัสสาวะจะมีความเข้มข้นขึ้น ค่าสูงสุดที่ยอมรับได้จะอยู่ที่ประมาณ 1.035 [8] ช่วงอ้างอิงของค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะจึงอยู่ที่ 1.003 – 1.035 โดยประมาณ [3, 8] การตรวจความถ่วงจำเพาะจะทำให้แพทย์ประเมินความเข้มข้นของปัสสาวะได้ ปัสสาวะที่มีความเข้มข้นสูง ก็มีโอกาสที่จะตรวจพบสารเคมีชนิดต่างๆ ได้มาก ส่วนปัสสาวะที่มีความเจือจาง ก็มีโอกาสตรวจพบสารเคมีต่างๆ ได้น้อย การตรวจความถ่วงจำเพาะนี้ นอกจากตรวจโดยใช้แผ่นตรวจสำเร็จรูปแล้ว ยังอาจทำการตรวจด้วยกล้องส่องตรวจที่เรียกว่า Refractometer ก็ได้เช่นกัน ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะที่ต่ำ อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretic use), โรคเบาจืด (Diabetes insipidus), ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ (Adrenal insufficiency) ค่าความถ่วงจำเพาะที่สูง อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติบางอย่างได้เช่นกัน เช่น พบน้ำตาลในปัสสาวะ (Glucosuria) [10] ในทางอาชีวอนามัย การตรวจความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ ถือว่ามีความสำคัญ หากต้องการส่งตัวอย่างปัสสาวะนั้นไปทำการตรวจหาระดับของสารเคมีทางอุตสาหกรรมในร่างกายคนทำงาน หรือที่นิยมเรียกว่าการตรวจหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) โดยตัวอย่างปัสสาวะที่จะนำไปใช้ตรวจหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพได้ จะต้องมีความถ่วงจำเพาะอยู่ในช่วงมากกว่า 1.010 และน้อยกว่า 1.030 เท่านั้น [12]
  • ความเป็นกรด-ด่าง (pH) เป็นการตรวจหาว่าตัวอย่างปัสสาวะนั้น มีความเป็นกรดหรือด่างมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปปัสสาวะจะมีความเป็นกรดอยู่เล็กน้อย (ประมาณ pH = 6) แต่อาจเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อยก็ได้ ช่วงอ้างอิงของค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของปัสสาวะจะอยู่ที่ 4.5 – 8.0 [8, 10] สาเหตุที่ปัสสาวะปกติเป็นกรดเล็กน้อย เนื่องจากร่างกายขับไฮโดรเจนไออน (H+ ion) ออกมาทางน้ำปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุลของกรด-ด่างในร่างกาย มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การกินอาหาร โดยอาหารกลุ่มโปรตีน (Protein) และอาหารที่มีความเป็นกรด เช่น แครนเบอร์รี่ (Cranberry) จะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรดมากขึ้น ส่วนอาหารที่มีซิเตรต (Citrate) สูง อย่างผลไม้กลุ่มซิตรัส (Citrus fruit) เช่น ส้ม ส้มโอ มะนาว หรือการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low carbohydrate) และการกินผักมากๆ เช่น คนที่เป็นมังสวิรัติ (Vegetarian) จะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้น [3, 13] ผู้ที่เป็นโรคท่อหน่วยไตมีความผิดปกติในการขับกรด (Renal tubular acidosis; RTA) หากเป็นชนิด Type I (Distal) คือท่อหน่วยไตไม่สามารถขับไฮโดนเจนไออน (H+ ion) ได้ เลือดจะเป็นกรดรุนแรง แต่ปัสสาวะจะเป็นด่าง หากเป็นชนิด Type II (Proximal) คือท่อหน่วยไตไม่สามารถดูดซึมไบคาร์บอเนต (HCO3-) กลับเข้าสู่กระแสเลือด เลือดจะเป็นกรด และในช่วงแรกปัสสาวะจะเป็นด่าง แต่ในระยะต่อมาปัสสาวะอาจจะเป็นกรดได้ ความเจ็บป่วยบางอย่างทำให้ปัสสาวะเป็นกรดมากขึ้น เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบเมตาบอลิก (Metabolic acidosis), ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ (Respiratory acidosis), เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ (Uncontrolled diabetes mellitus), ภาวะอดอาหารและขาดน้ำ (Starvation and dehydration), และท้องเสีย (Diarrhea) ความเจ็บป่วยบางอย่างทำให้ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น เช่น โรคท่อหน่วยไตมีความผิดปกติในการขับกรด (Renal tubular acidosis; RTA) ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว, ทางเดินปัสสาวะอุดตัน (Urinary tract obstruction), ไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure หรือ Chronic kidney disease), พิษจากยากลุ่มซาลิซิเลต (Salicylate poisoning), ภาวะหายใจเร็ว (Hyperventilation) [13] การติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ (Bacterial urinary tract infection) ส่วนใหญ่มักจะทำให้ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น เนื่องจากแบคทีเรียอย่างโปรเตียส (Proteus) และเครปซีลลา (Klebsiella) จะแตกโมเลกุลของยูเรีย (Urea) ในปัสสาวะเป็นโมเลกุลแอมโมเนีย (Ammonia) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง [3, 13] ยารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะบางชนิด เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin), นีโอมัยซิน (Neomycin), และกานามัยซิน (Kanamycin) จะออกฤทธิ์ได้ผลดี เมื่อปัสสาวะมีความเป็นด่าง [13] นอกจากใช้บ่งชี้ความผิดปกติของภาวะร่างกายและอาหารที่กินแล้ว ค่าความเป็นกรด-ด่างในปัสสาวะ ยังมีความสำคัญในเรื่องการทำให้เกิดนิ่วด้วย เนื่องจากสารเคมีในปัสสาวะบางอย่าง จะตกตะกอนเป็นผลึก (Crystal) จนสะสมเกิดเป็นนิ่วได้ดี ในสภาวะที่ปัสสาวะมีความเป็นกรด-ด่างเหมาะสม เช่น ผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate), แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate), แมกนีเซียม-แอมโมเนียม ฟอสเฟต (Magnesium-ammonium phosphate), และนิ่วเขากวาง (Staghorn calculi) จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อปัสสาวะมีความเป็นด่าง (Alkaline) ส่วนผลึกกรดยูริค (Uric) และนิ่วซิสทีน (Cystine calculi) จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อปัสสาวะมีความเป็นกรด (Acidic) [3]
  • โปรตีน (Protein) การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะนั้นเป็นการตรวจคัดกรองดูว่ามีภาวะไตถูกทำลาย (Kidney damaged) เกิดขึ้นหรือไม่ ในแผ่นตรวจสำเร็จรูปโดยทั่วไป สารเคมีที่เป็นตัวทดสอบที่เคลือบไว้ที่แผ่นตรวจ จะมีความไวต่อการตรวจพบโปรตีนชนิดอัลบูมิน (Albumin) ได้มากที่สุด [10] ซึ่งโปรตีนอัลบูมินนี้ เป็นโปรตีนที่พบได้มากที่สุดในกระแสเลือด โดยจะเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณ 60 % ของโปรตีนในกระแสเลือดทั้งหมด [3] แต่สารเคมีที่เป็นตัวทดสอบในแผ่นตรวจสำเร็จรูป จะตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะชนิดอื่นๆ เช่น Gamma globulin หรือ Bence Jones protein ได้ไม่ดีนัก [10] ในคนทั่วไป มักจะไม่พบโปรตีนในตัวอย่างปัสสาวะ (หรือพบได้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย) แต่ก็อาจมีภาวะที่พบโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) ในคนทั่วไปที่แข็งแรงได้ในบางกรณีเช่นกัน เช่น มีความเครียด (Stress), การออกกำลังกาย (Exercise), เป็นไข้ (Fever), ได้รับยาแอสไพริน (Aspirin), อากาศหนาวเย็น (Cold exposure) [3], หรือการยืนนานๆ (Orthostatic proteinuria หรือ Postural proteinuria) [10] หากพบโปรตีนในปัสสาวะในคนปกติที่ดูแข็งแรง อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะซ้ำเมื่อภาวะเหล่านี้หมดไปแล้ว (เช่น ไม่เครียดแล้ว, พักการออกกำลังกายแล้ว, หายไข้แล้ว) แล้วไม่พบโปรตีนอีก แสดงว่าโปรตีนในปัสสาวะที่พบนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว (Transient proteinuria) แต่หากยังคงพบโปรตีนในปัสสาวะเมื่อตรวจซ้ำ อาจบ่งชี้ถึงภาวะที่มีโปรตีนในปัสสาวะแบบต่อเนื่อง (Persistent proteinuria) ซึ่งการตรวจยืนยันจำเป็นจะต้องทำการตรวจชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจวิเคราะห์โปรตีนในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง (24-hour urine protein test) การตรวจนี้แพทย์เฉพาะทางจะให้เก็บปัสสาวะต่อเนื่องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วจึงนำปัสสาวะทั้งหมดที่เก็บได้มาตรวจวิเคราะห์หาระดับโปรตีน จะสามารถตรวจวิเคราะห์ระดับโปรตีนได้ชัดเจนกว่าการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะซึ่งใช้การเก็บปัสสาวะเพียงครั้งเดียว และเนื่องจากแผ่นตรวจสำเร็จรูปที่นิยมใช้ในการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ จะสามารถตรวจหาโปรตีนชนิดอัลบูมินได้ดีเพียงชนิดเดียว ในกรณีที่แพทย์เฉพาะทางสงสัยว่าอาจมีโปรตีนชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อัลบูมินในปัสสาวะ การตรวจวิเคราะห์โปรตีนในปัสสาวะ 24 ชั่วโมงนี้ก็จะช่วยให้มีโอกาสตรวจพบได้มากขึ้นเช่นกัน [3] ภาวะโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) ที่มีสาเหตุจากไตถูกทำลาย (Kidney damaged) ที่ถือว่าเป็นอันตรายนั้น ที่พบได้บ่อยที่สุดจะมาจาก 2 สาเหตุ คือจากโรคเบาหวานทำลายไต (Diabetes nephropathy หรือที่บางครั้งนิยมเรียกว่า “เบาหวานลงไต”) และจากโรคความดันโลหิตสูง (Hypertensive nephrosclerosis) ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้มีเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มอาการเนฟโฟรติก (Nephrotic syndrome), โรคอะไมลอยโดซิส (Amyloidosis), โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy), ภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis), โรคไตอักเสบลูปัส (Lupus nephritis), ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia), การติดเชื้อแบคทีเรียที่หัวใจ (Bacterial endocarditis), โรคโปรตีน Light chain สะสม (Light chain deposition disease) ซึ่งมักสัมพันธ์กับมะเร็งชนิดมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma), กลุ่มอาการความผิดปกติของการดูดซึมกลับของท่อหน่วยไตส่วนต้น (Fanconi syndrome) เป็นต้น [14-15] หากสงสัยภาวะที่กล่าวมาเหล่านี้ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจยืนยันกับแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงทำการรักษาในโรคหรือภาวะที่จำเป็นต้องทำการรักษาต่อไป
  • กลูโคส (Glucose) โดยปกติน้ำตาลกลูโคสจะไม่พบอยู่ในปัสสาวะ ภาวะที่พบมีน้ำตาลกลูโคสอยู่ในปัสสาวะ (Glucosuria หรืออาจเรียกว่า Glycosuria ก็ได้) มักบ่งชี้ถึงระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) โดยเฉพาะเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ (Uncontrolled diabetes mellitus) หรือเบาหวานที่ยังไม่ได้ทำการรักษา (Untreated diabetes mellitus) โดยมักจะพบน้ำตาลกลูโคสในปัสสาวะได้ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยสูงประมาณ 180 mg/dL ขึ้นไป ภาวะอื่นๆ ก็อาจทำให้พบน้ำตาลกลูโคสในปัสสาวะได้ เช่น คนตั้งครรภ์ (Pregnancy), กลุ่มอาการความผิดปกติของการดูดซึมกลับของท่อหน่วยไตส่วนต้น (Fanconi syndrome), กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome) [10] เมื่อตรวจพบน้ำตาลกลูโคสในปัสสาวะ ผู้เข้ารับการตรวจควรทำการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม ที่แนะนำให้ตรวจอย่างยิ่งคือตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting blood sugar) เพื่อค้นหาโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) [3] รวมถึงอาจตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้พบน้ำตาลกลูโคสในปัสสาวะที่เป็นไปได้ และทำการรักษาต่อไป
  • คีโตน (Ketone) โดยปกติสารคีโตนจะไม่พบอยู่ในปัสสาวะ ภาวะที่พบมีคีโตนในปัสสาวะ (Ketonuria) จะเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายมีคีโตนสะสม ซึ่งจะเกิดเมื่อร่างกายมีคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) ไม่เพียงพอ และต้องใช้พลังงานจากการเผาผลาญไขมัน (Fat) แทน สารคีโตนชนิดที่พบได้บ่อยมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ อะซิโตน (Acetone) กรดอะซิโตอะซิติก (Acetoacetic acid) และกรดเบต้าไฮดรอกซีบิวทีริก (Beta-hydroxybutyric acid) ภาวะที่ทำให้พบคีโตนในปัสสาวะได้ เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ (Uncontrolled diabetes mellitus), ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis; DKA), การออกกำลังกายอย่างหนัก (Strenuous exercise), ภาวะอดอาหาร (Starvation), ภาวะอาเจียนอย่างมาก (Prolonged vomiting), และการตั้งครรภ์ (Pregnancy) เป็นต้น [3]
  • ไนไตรต์ (Nitrite) โดยปกติสารไนไตรต์จะไม่พบอยู่ในปัสสาวะ หากพบไนไตรต์ในปัสสาวะ จะบ่งชี้จำเพาะว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) สาเหตุที่การตรวจพบสารไนไตรต์บ่งชี้ถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากแบคทีเรียบางชนิด สามารถเปลี่ยนสารไนเตรต (Nitrate) ในปัสสาวะให้เป็นสารไนไตรต์ (Nitrite) ทำให้ตรวจพบสารไนไตรต์ในตัวอย่างปัสสาวะได้ แบคทีเรียที่สามารถเปลี่ยนไนเตรตเป็นไนไตรต์ได้ เช่น อี.โคไล (E. coli), โปรเตียส (Proteus), เครปซีลลา (Klebsiella), เอ็นเทอโรแบคเตอร์ (Enterobactor), ซิโตรแบคเทอร์ (Citrobactor), และซูโดโมนาส (Pseudomonas) อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียบางชนิดที่ก่อการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนไนเตรตเป็นไนไตรต์ได้ เช่น สตาฟฟีโลคอคคัส (Staphylococcus), สเตรปโตคอคคัส (Streptococcus), และฮีโมฟีลุส (Haemophilus) การตรวจพบสารไนไตรต์ในปัสสาวะ จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน่าจะมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แต่การตรวจไม่พบ อาจจะไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าไม่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะแน่นอนเสมอไป [3, 10] (หมายเหตุ สารเคมีที่ใช้ตรวจหาไนไตรต์ในแผ่นตรวจสำเร็จรูปนั้น มักมีความไวต่ออากาศ เมื่อโดนอากาศแล้วจะทำให้เกิดผลบวกลวงขึ้นได้ ดังนั้น เมื่อเปิดกระปุกเก็บแผ่นตรวจสำเร็จรูปแล้วควรรีบปิดทันที นำแผ่นตรวจสำเร็จรูปมาใช้โดยเร็ว และเมื่อเปิดกระปุกเก็บแผ่นตรวจสำเร็จรูปแล้ว ควรนำแผ่นตรวจสำเร็จรูปมาใช้ให้หมดในเวลาอันสั้น เช่น ไม่เกิน 1 สัปดาห์ การเก็บไว้นานจะเพิ่มโอกาสการเกิดผลบวกลวงขึ้นได้ [10])
  • บิลิรูบิน (Bilirubin) สารบิลิรูบิน (Bilirubin) เป็นสารเคมีในร่างกายที่สร้างจากตับ สารนี้เปลี่ยนแปลงมาจากฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดง เมื่อตับสร้างบิลิรูบินแล้วจะขับออกมาเป็นส่วนหนึ่งของน้ำดี (Bile) และน้ำดีถูกขับเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร เพื่อทำหน้าที่ช่วยในการย่อย [3] บิลิรูบินที่พบในทางเดินอาหารนั้นเป็นชนิดไม่ละลายน้ำ (Unconjugated bilirubin หรือ Indirect bilirubin หรือ Water insoluble bilirubin) ซึ่งบิลิรูบินชนิดนี้จะไม่สามารถผ่านหน่วยกรองของไตได้ [10] แต่บิลิรูบินสามารถทำปฏิกิริยายึดติดกับโมเลกุลกรดกลูโคโรนิค (Glucoronic acid) ที่ตับ ด้วยเอนไซม์ชื่อกลูโคโรนิลทรานส์เฟอร์เรส (Glucoronyltransferase) ได้เป็นบิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำ (Conjugated bilirubin หรือ Direct bilirubin หรือ Water soluble bilirubin) ซึ่งถูกกรองผ่านหน่วยกรองของไตและถูกขับออกมาทางปัสสาวะได้ ในคนปกตินั้นจะไม่พบบิลิรูบินในปัสสาวะ แต่หากร่างกายเกิดภาวะผิดปกติขึ้นมา คือมีภาวะที่เกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี (Biliary obstruction) จากสาเหตุต่างๆ เช่น ตับแข็ง (Cirrhosis), การใช้ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้น้ำดีไหลช้า (Cholestasis) อย่างสเตียรอยด์ (Steroid) หรือยาแก้โรคจิตเวช (Chlorpromazine), โรคมะเร็งที่ตับหรือทางเดินน้ำดี เช่น มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) มะเร็งที่ลุกลามมาเบียดทางเดินน้ำดี (Metastatic tumor) มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic tumor) ที่เกิดขึ้นที่ส่วนหัวของตับอ่อน (Head of pancreas), นิ่วที่อุดตันทางเดินน้ำดี (Stone), ทางเดินน้ำดีตีบแคบ (Biliary stricture) หรือเกิดภาวะตับอักเสบ (Hepatitis) จะพบมีบิลิรูบิน (ชนิดละลายน้ำได้) สะสมเพิ่มขึ้นในเลือด และถูกขับออกมาทางปัสสาวะให้ตรวจพบได้ [3, 10] การตรวจพบบิลิรูบินในปัสสาวะนั้น ถือเป็นการบ่งชี้ว่าอาจมีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดีหรือมีตับอักเสบเกิดขึ้นในผู้เข้ารับการตรวจ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่เกิดได้ไวกว่าอาการทางร่างกาย เช่น อาหารตัวเหลือง (Jaundice) [3, 10] หากพบบิลิรูบินในปัสสาวะ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม โดยการตรวจเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ เช่น การตรวจหน้าที่การทำงานของตับ (Liver function test) เป็นต้น [3]
  • ยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) การตรวจหาสารยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) ในปัสสาวะ มักใช้พิจารณาร่วมไปกับการตรวจบิลิรูบินในปัสสาวะเพื่อแยกโรค [3] โดยเมื่อบิลิรูบิน (Bilirubin) ถูกขับออกมาในทางเดินอาหาร จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ (Intestine) เปลี่ยนเป็นสารยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) ส่วนหนึ่งของสารยูโรบิลิโนเจนจะถูกดูดซึมกลับผ่านทางระบบพอร์ทัล (Portal circulation) กลับไปที่ตับ เพื่อนำไปสร้างเป็นบิลิรูบินมาใช้ใหม่ (ยูโรบิลิโนเจนส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมกลับก็จะถูกเปลี่ยนรูปและขับออกจากร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของอุจจาระไป) ยูโรบิลิโนเจนที่ถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ระบบพอร์ทัล ส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตปกติและไปผ่านหน่วยกรองของไต ทำให้ในคนทั่วไปจะสามารถพบยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะในระดับต่ำๆ ได้เป็นปกติ [10] ในบางสภาวะที่ผิดปกติ อาจพบระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะสูงขึ้นได้ คือในภาวะที่เม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis) เช่น โรคโลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) ซึ่งภาวะเม็ดเลือดแดงแตกนี้มักจะทำให้ระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะสูงขึ้น แต่ไม่ทำให้ระดับบิลิรูบินในปัสสาวะสูงขึ้น [16] ภาวะที่เกิดการทำลายของเนื้อตับ (Hepatic disease) เช่น ตับแข็ง (Cirrhosis), ตับอักเสบจากไวรัส (Viral hepatitis), ตับอักเสบจากยาหรือสารพิษ (Hepatitis due to drugs or toxic substances) [3] ก็ทำให้ระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะสูงขึ้นได้เช่นกัน และอาจทำให้ระดับบิลิรูบินในปัสสาวะสูงขึ้นหรือไม่สูงขึ้นก็ได้ [16] ส่วนภาวะที่เกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี (Biliary obstruction) มักจะทำให้ระดับบิลิรูบินในปัสสาวะสูงขึ้น แต่ระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะไม่สูงขึ้น [3, 10, 16] การใช้ยาฆ่าเชื้อแบบออกฤทธิ์กว้าง (Broad-spectrum antibiotic) ทำให้แบคทีเรียในลำไส้ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนบิลิรูบินเป็นยูโรบิลิโนเจนตาย สามารถทำให้ตรวจระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะไม่พบได้เช่นกัน [10]
  • เม็ดเลือดขาว (Leukocyte) การตรวจหาเม็ดเลือดขาว (White blood cell หรือ Leukocyte) ในปัสสาวะด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูปนั้น คือการตรวจหาเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าลิวโคไซต์เอสเทอเรส (Leukocyte esterase) ในปัสสาวะ เนื่องจากเอนไซม์ชนิดนี้เป็นเอนไซม์ที่พบในเซลล์เม็ดเลือดขาว เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวแตกสลายก็จะทำให้สามารถตรวจพบ Leukocyte esterase ในปัสสาวะได้ ในปัสสาวะของคนปกติจะมีเม็ดเลือดขาวปะปนอยู่ แต่มีเป็นจำนวนไม่มาก ทำให้โดยปกติแล้วจะตรวจเอนไซม์ Leukocyte esterase ไม่พบ [3] แต่หากปัสสาวะมีเม็ดเลือดขาวปะปนอยู่เป็นจำนวนมากขึ้น จะทำให้ตรวจเอนไซม์ Leukocyte esterase พบได้ หากตรวจพบก็จะถือว่าตัวอย่างปัสสาวะนั้นมีเม็ดเลือดขาวปนอยู่อย่างมีนัยสำคัญ [3] หรือเรียกว่าภาวะมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ (Pyuria หรือ Leukocyturia) ภาวะมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะมักสัมพันธ์กับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) โดยเฉพาะหากตัวอย่างปัสสาวะนั้นตรวจพบสารไนไตรต์ (Nitrite) ในปัสสาวะด้วย ยิ่งเป็นการสนับสนุนว่าน่าจะมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ (Urine culture) จะช่วยยืนยันสนับสนุนการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้เพิ่มขึ้น ภาวะมีเม็ดเลือดขาวในทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากการติดเชื้อนั้น หากทำการตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะแล้วเชื้อไม่ขึ้น อาจเกิดเนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่การเพาะเชื้อแบบปกติจะไม่ขึ้น เช่น Chlamydia, Mycobacterium tuberculosis, Ureaplasma urealyticum ก็เป็นได้ [3, 10] หรืออาจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะจากสาเหตุอื่นๆ [10] เช่น ติดเชื้อที่อวัยวะเพศชาย (Balanitis), ติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะ (Urethritis), การออกกำลังกาย (Exercise), วัสดุแปลกปลอมในทางเดินปัสสาวะ (Foreign body), การใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid), รวมถึงมีการปนเปื้อนของสารคัดหลังจากช่องคลอดลงในตัวอย่างปัสสาวะ (Contamination of vaginal discharge) เป็นต้น (หมายเหตุ การตรวจหา Leukocyte esterase โดยใช้แผ่นตรวจสำเร็จรูปนั้น สารเคมีที่ใช้เป็นตัวทดสอบบนแผ่นตรวจสำเร็จรูปมักจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนสี ในการอ่านผลจึงต้องให้เวลา หลังจากจุ่มแผ่นตรวจสำเร็จรูปลงในปัสสาวะแล้ว ควรรออย่างน้อย 5 นาทีขึ้นไปจึงค่อยอ่านผล เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำ [10])
  • เม็ดเลือดแดง (Erythrocyte) การตรวจหาเม็ดเลือดแดง (Red blood cell หรือ Erythrocyte) ในปัสสาวะด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูปนั้น คือการตรวจหาปฏิกิริยาเพอร์ออกซิเดส (Peroxidase) ของเม็ดเลือดแดง แต่เนื่องจากสารฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดง และสารไมโอโกลบิน (Myoglobin) ในกล้ามเนื้อ ก็สามารถทำปฏิกิริยานี้ได้เช่นกัน [3] ทำให้แท้จริงแล้ว การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูป จะเป็นการตรวจหาเม็ดเลือดแดง หรือฮีโมโกลบิน หรือไมโอโกลบิน ในปัสสาวะ จะเป็นการถูกต้องกว่า ปัสสาวะของคนปกติจะมีเม็ดเลือดแดงปะปนอยู่ แต่มีเป็นจำนวนไม่มาก ทำให้โดยปกติแล้วจะตรวจหาปฏิกิริยา Peroxidase ไม่พบ [3] แต่เมื่อมีจำนวนเม็ดเลือดแดง (หรือฮีโมโกลบิน หรือไมโอโกลบิน) เพิ่มขึ้น จะสามารถตรวจพบปฏิกิริยานี้ได้ ผลตรวจที่เป็นบวกบ่งชี้ว่ามีเม็ดเลือดแดง (หรือฮีโมโกลบิน หรือไมโอโกลบิน) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะเกิดผลบวกลวงได้จากหลายสาเหตุเช่นกัน [3] เช่น ภาวะที่ปัสสาวะมีความเป็นด่างสูง (pH > 9), การปนเปื้อนน้ำอสุจิ, การปนเปื้อนน้ำยาทำความสะอาดที่มีสารออกซิไดส์ (Oxidizing agent), การปนเปื้อนเลือดจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากปัสสาวะ เช่น จากริดสีดวง จากช่องคลอด (เลือดประจำเดือน) ก็จะทำให้เกิดผลบวกลวงขึ้นได้เช่นกัน [3] การเก็บปัสสาวะอย่างถูกวิธีจะช่วยลดโอกาสในการเกิดผลบวกลวงเหล่านี้ กรณีที่พบผลบวกจากภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (Hematuria) จริงๆ ก็สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ [10] ทั้งจากความผิดปกติที่หน่วยไต (Glomerular causes) เช่น ภาวะไตอักเสบจากโรคพันธุกรรม (Hereditary nephritis) โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy) ภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis) โรคไตอักเสบลูปัส (Lupus nephritis) โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis), ความผิดปกติที่ไต (Renal causes) เช่น ภาวะหลอดเลือดแดง-ดำผิดปกติ (Arteriovenous malformation) ความดันโลหิตสูงอย่างมาก (Malignant hypertension), โรคถุงน้ำในไต (Polycystic kidney disease), ความผิดปกติในทางเดินปัสสาวะ (Urologic causes) เช่น ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia; BPH) มะเร็งในทางเดินปัสสาวะ (Cancer) กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Calculi) ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) ติดเชื้อวัณโรค (Tuberculosis) ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosoma spp. infection), และสาเหตุอื่นๆ อย่างการใช้ยา เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID), เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin), ยาเคมีบำบัด (Cyclophosphamide) หรือการกระทบกระแทก เช่น จากการเล่นกีฬาปะทะ (Contact sport) การวิ่ง (Running) การใส่สายสวนปัสสาวะ (Foley catheter) เป็นต้น สำหรับภาวะที่พบฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) แต่ไม่พบเม็ดเลือดแดง สามารถพบได้จากการติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum หรือเชื้อแบคทีเรีย Clostridium welchii, ปฏิกิริยาต่อการถ่ายเลือด (Transfusion-related reaction), และโรค Paroxysmal nocturnal hemoglobinuria [3] สำหรับภาวะที่พบไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria) สามารถพบได้จากภาวะกล้ามเนื้อสูญสลาย (Rhabdomyolysis) ในการแยกความผิดปกติ โดยทั่วไปเมื่อพบตัวอย่างปัสสาวะมีสีแดง หากทำการปั่นปัสสาวะด้วยเครื่องปั่นแล้ว น้ำส่วนบนใส แต่ตะกอนข้างล่างเป็นสีแดง จะบ่งชี้ถึงภาวะมีเม็ดเลือดในปัสสาวะ (Hematuria) แต่หากปั่นแล้ว น้ำด้านบนเป็นสีแดง เมื่อตรวจด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูปพบปฏิกิริยา Peroxidase จะบ่งชี้ถึงภาวะมีฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) หรือมีไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria) แต่หากปั่นแล้ว น้ำด้านบนเป็นสีแดง แต่เมื่อตรวจด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูปไม่พบปฏิกิริยา Peroxidase จะบ่งชี้ถึงการกินอาหารหรือยาที่ทำให้ปัสสาวะมีสีแดงมา เช่น บีทรูท แก้วมังกรแดง ภาวะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ เมื่อตรวจพบจากแผ่นตรวจสำเร็จรูปแล้ว สามารถยืนยันได้อีกทางหนึ่ง ด้วยการส่องดูเม็ดเลือดแดงในน้ำปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยนักเทคนิคการแพทย์ [3]

การส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic examination)

การส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยนักเทคนิคการแพทย์นั้น เป็นการตรวจปัสสาวะอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีการทำหรือไม่มีการทำก็ได้ (ถ้าไม่มีการทำก็จะไม่มีข้อมูลส่วนนี้ในใบรายงานผลการตรวจ) ในห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลที่มีคุณภาพสูงส่วนใหญ่มักมีการทำ เนื่องจากการตรวจนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจที่มีประโยชน์ได้เพิ่มเติม ในการทำนั้น นักเทคนิคการแพทย์จะปั่นปัสสาวะด้วยเครื่องปั่น (Centrifuge) จากนั้นจะนำตะกอนข้างล่าง (Urine sediment) ซึ่งเป็นส่วนที่มีเซลล์สะสมรวมกันอยู่ มาหยดใส่แผ่นสไลด์ แล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) จากนั้นจึงรายงานผลสิ่งที่มองเห็นในกล้องจุลทรรศน์ออกมาในใบรายงานผล ในการรายงานผลนั้น นิยมรายงานผลจำนวนเซลล์หรือผลึกที่เจอโดยใช้หน่วยต่อวงภาพกำลังขยายสูง (Per high power field หรือ /HPF) คำว่า “ต่อวงภาพกำลังขยายสูง” นี้ หมายถึงในการส่องกล้องจุลทรรศน์จะมีเลนส์ให้เลือกส่องดูหลายขนาด เมื่อใช้เลนส์กำลังขยายสูง (High power) เช่น ใช้เลนส์ที่ตา (Ocular lens) ขยาย 10 เท่า และเลนส์ที่วัตถุ (Objective lens) ขยาย 40 เท่า รวมเป็นขยาย 400 เท่า [11] แล้วเลื่อนดูไปมาอย่างน้อย 10 – 15 วงภาพ [11] ในวงภาพที่ปรากฎในกล้องจุลทรรศน์เห็นเซลล์หรือผลึกที่พิจารณาโดยเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่าใด นักเทคนิคการแพทย์ก็จะรายงานจำนวนออกมาตามนั้น เช่น รายงานผลว่าพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ 3 cells/HPF แปลว่าเมื่อนักเทคนิคการแพทย์ใช้เลนส์กำลังขยายสูง (High power) แล้ว เห็นเซลล์เม็ดเลือดแดงในวงภาพที่ปรากฏในกล้องจุลทรรศน์เป็นจำนวนโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เซลล์ต่อวงภาพ

เซลล์และผลึกชนิดต่างๆ ที่สามารถตรวจพบในตะกอนปัสสาวะและแสดงไว้ในใบรายงานผล มีอยู่หลายชนิด ที่มีโอกาสพบได้บ่อย มีดังนี้

  • เม็ดเลือดขาว (Leukocyte หรือ White blood cell หรือ WBC) การส่องตรวจดูเม็ดเลือดขาวด้วยกล้องจุลทรรศน์เป็นการช่วยยืนยันว่ามีเม็ดเลือดขาวในตัวอย่างปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจจริง ถือเป็นการตรวจที่ใช้ดูเสริมประกอบไปกับการตรวจหาเอนไซม์ Leukocyte esterase ด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูป ซึ่งส่วนใหญ่จะมีผลที่สอดคล้องกัน ในคนทั่วไปจะพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะได้ 0 – 5 cells/HPF [8] หากพบมากกว่านั้นบ่งชี้ถึงภาวะมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ (Pyuria หรือ Leukocyturia) ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) รวมถึงการติดเชื้อที่อวัยวะเพศชาย (Balanitis) และติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะ (Urethritis) หรือจากเหตุอื่นๆ เช่น การออกกำลังกาย (Exercise), วัสดุแปลกปลอมในทางเดินปัสสาวะ (Foreign body), การใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid), การปนเปื้อนของสารคัดหลังจากช่องคลอดลงในตัวอย่างปัสสาวะ (Contamination of vaginal discharge) เป็นต้น
  • เม็ดเลือดแดง (Erythrocyte หรือ Red blood cell หรือ RBC) การส่องตรวจดูเม็ดเลือดแดงด้วยกล้องจุลทรรศน์เป็นการช่วยยืนยันว่ามีเม็ดเลือดแดงในตัวอย่างปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจจริง ถือเป็นการตรวจที่ใช้ดูเสริมประกอบไปกับการตรวจหาปฏิกิริยา Peroxidase ด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูป โดยถ้าตรวจหาปฏิกิริยา Peroxidase เป็นบวก แล้วส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์พบเม็ดเลือดแดงจริง เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน่าจะมีภาวะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (Hematuria) แต่ถ้าตรวจหาปฏิกิริยา Peroxidase เป็นบวก แต่ส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์แล้วไม่พบเม็ดเลือดแดง เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน่าจะมีภาวะมีฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) หรือมีไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria) สำหรับนิยามของคำว่า “มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (Hematuria)” อย่างเป็นทางการนั้น มีการกำหนดไว้โดยสมาคมแพทย์โรคทางเดินปัสสาวะแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Urological Association) ในปี ค.ศ. 2001 [10, 17-18] ว่าคือการที่พบเม็ดเลือดแดงโดยการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตั้งแต่ 3 cells/HPF ขึ้นไป ในตัวอย่างปัสสาวะอย่างน้อย 2 ใน 3 ครั้งที่ส่งตรวจ (ดังนั้นถ้าจะยืนยันภาวะนี้ให้แน่นอนว่ามีหรือไม่มี ต้องส่งตัวอย่างปัสสาวะตรวจอย่างน้อยที่สุด 2 ครั้ง หรืออาจจะต้องส่งถึง 3 ครั้ง) หากพิจารณาตามนิยามนี้แล้ว พอจะกล่าวได้ว่าในคนปกติจะพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะได้ 0 – 2 cells/HPF [3] หากพบภาวะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ สามารถเกิดได้จากสาเหตุหลากหลายประการ ทั้งจากความผิดปกติที่หน่วยไต (Glomerular causes) ความผิดปกติที่ไต (Renal causes) ความผิดปกติในทางเดินปัสสาวะ (Urologic causes) และสาเหตุอื่นๆ (Other causes) ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูป การพบเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะบิดเบี้ยว (Dysmorphic RBC) อาจบ่งชี้ถึงการที่เม็ดเลือดแดงนั้นไหลผ่านหน่วยไตที่มีความผิดปกติมา (Abnormal glomerulus) ซึ่งบ่งชี้ถึงสาเหตุที่มาจากความผิดปกติที่หน่วยไต (Glomerular causes) [8, 10]
  • เซลล์เยื่อบุ (Epithelial cell) เซลล์เยื่อบุมักจะพบในตัวอย่างปัสสาวะได้เป็นปกติอยู่แล้ว เซลล์เยื่อบุต่างชนิดกัน บ่งบอกข้อมูลที่แตกต่างกัน เซลล์เยื่อบุชนิด Squamous epithelial cell (หรือ Squamous cell) เป็นเซลล์เยื่อบุส่วนท่อปัสสาวะส่วนนอก (External urethra) หากพบจำนวนเล็กน้อยถือว่าปกติ แต่หากพบในปริมาณมาก เช่น 15 – 20 cells/HPF ขึ้นไป มักจะบ่งบอกว่าตัวอย่างปัสสาวะนั้นมีการปนเปื้อน [3] เซลล์เยื่อบุชนิด Transitional epithelial cell (หรือ Transitional cell) เป็นเซลล์เยื่อบุส่วนกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder) สามารถพบได้เป็นปกติ [10] ส่วนเซลล์เยื่อบุชนิด Renal tubule cell เป็นเซลล์เยื่อบุท่อหน่วยไต (Renal tubule) โดยปกติต้องไม่พบในปัสสาวะ หากพบมักแสดงถึงความผิดปกติของหน่วยไต [10]
  • คราบ (Cast) คราบในตัวอย่างปัสสาวะคือตะกอนที่มีรูปร่างทรงกระบอก (Cylindrical) เกิดขึ้นจากการที่โปรตีนตกตะกอนในท่อหน่วยไต (Renal tubule) ซึ่งมีรูปร่างเป็นทรงกระบอกกลวงยาว ทำให้คราบที่ออกมามีรูปร่างทรงกระบอกตามรูปร่างท่อหน่วยไตไปด้วย [หมายเหตุ คำว่า “Cast” แปลไทยแบบตรงตัวคือ “รูปหล่อ” เหมือนที่หล่อพระจากแม่พิมพ์ ซึ่งกลไกการเกิดของมันเป็นที่มาของชื่อนี้ แต่คำว่า “Cast” สามารถแปลไทยว่า “คราบ” แบบงูลอกคราบได้ด้วย ถึงแม้ไม่ตรงตัวเท่ากับคำว่า “รูปหล่อ” แต่สละสลวยและจำง่ายกว่า ผู้เรียบเรียงจึงขอใช้คำนี้แทนในการแปลเป็นภาษาไทย] คราบที่มีลักษณะใสหรือเกือบใส เรียกว่า Hyaline cast สามารถพบได้ในปัสสาวะของคนปกติ [8] ส่วนคราบชนิดอื่นๆ นอกจาก Hyaline cast มักบ่งชี้ถึงความผิดปกติในไตเสมอ [8] ได้แก่ Red blood cell cast คือคราบที่พบเซลล์เม็ดเลือดแดงอยู่ภายใน สัมพันธ์กับภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis), White blood cell cast คือคราบที่พบเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่ภายใน สัมพันธ์กับภาวะกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) หรืออาจสัมพันธ์กับภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis) ก็ได้, Epithelial cell cast คือคราบที่พบเซลล์เยื่อบุอยู่ภายใน สัมพันธ์กับภาวะเซลล์ท่อหน่วยไตตายเฉียบพลัน (Acute tubular necrosis) หรือภาวะไตอักเสบ (Nephritis) จากเหตุต่างๆ, Granular cast สัมพันธ์กับโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease), Waxy cast สัมพันธ์กับโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease) เช่นกัน บางครั้งก็เรียกว่า Broad cast เนื่องจากมีขนาดใหญ่ เพราะเกิดมาจากท่อหน่วยไตที่ขยายขนาดเนื่องจากเสื่อมสภาพแล้ว, Fatty cast เป็นคราบที่มีตะกอนไขมันอยู่ภายใน สัมพันธ์กับกลุ่มอาการเนฟโฟรติก (Nephrotic syndrome) [10]
  • ผลึก (Crystal) เนื่องจากในปัสสาวะนั้นมีสารเคมีหลายชนิดละลายอยู่ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะที่เหมาะสม, อุณหภูมิของปัสสาวะที่เหมาะสม (เย็นลง), และเมื่อมีความเข้มข้นของสารเคมีที่ละลายอยู่มากเพียงพอ สารเคมีที่ละลายอยู่จะสามารถตกผลึกเกิดเป็นผลึก (Crystal) ในปัสสาวะขึ้นได้ [8] ผลึกแต่ละชนิด จะถูกนักเทคนิคการแพทย์แยกแยะได้จากการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยการดูรูปร่าง, สี, และประเมินจากค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ [3, 8] หากผลึกที่พบเป็นผลึกของสารเคมีที่ปกติสามารถพบได้ในปัสสาวะอยู่แล้ว จะถูกพิจารณาว่าเป็นผลึกปกติ [3, 8] โดยมักเกิดผลึกจากการที่ตัวอย่างปัสสาวะมีอุณหภูมิเย็นลงหลังจากเก็บ ไม่ใช่เกิดผลึกในร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจ [8] ตัวอย่างของผลึกที่จัดว่าพบได้ในคนปกติ [8] เช่น Calcium oxalate crystal เป็นผลึกที่มีรูปร่างเหมือนซองจดหมาย, Uric acid crystal ผลึกสีเหลืองหรือสีส้ม-น้ำตาล รูปร่างเหมือนเพชร (Diamond-shaped) หรือเหมือนถังทรงกระบอก (Barrel-shaped), Calcium carbonate crystal เป็นผลึกรูปกลมสีน้ำตาลอ่อน มีลายเป็นรัศมีอยู่ภายใน, Amorphous urate ผลึกรูปร่างไม่แน่นอน พบในปัสสาวะที่เป็นกรด, Amorphous phosphate ผลึกรูปร่างไม่แน่นอน พบในปัสสาวะที่เป็นด่าง, Magnesium-ammonium phosphate crystal (หรือ Triple phosphate crystal หรือ Struvite crystal) ผลึกใสทรงสี่เหลื่ยมผืนผ้า ลักษณะคล้ายฝาโลงศพ (Coffin lid appearance) พบในปัสสาวะที่เป็นด่าง อย่างไรก็ตามหากพบผลึกเหล่านี้ในปริมาณมากๆ อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติบางอย่างได้เช่นกัน [3] เช่น Calcium oxalate crystal อาจพบได้ในคนที่มีภาวะไตเสียหายเนื่องจากได้รับพิษจากสารเอทิลีนไกลคอล (Ethylene glycol), Uric acid crystal อาจสัมพันธ์กับกลุ่มอาการเนื่องจากก้อนมะเร็งสูญสลาย (Tumor lysis syndrome) หรือโรคเกาต์ (Gout), Triple phosphate crystal อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรียโปรเตียส (Proteus) และเครปซีลลา (Klebsiella) [3, 10] ดังนี้เป็นต้น สำหรับผลึกของสารเคมีที่ปกติจะไม่พบในปัสสาวะ หากพบจะถูกพิจารณาว่าเป็นผลึกที่ผิดปกติเสมอ [8] ตัวอย่างเช่น Cystine crystal เป็นผลึกใสรูปหกเหลี่ยม (Hexagonal) พบได้ในปัสสาวะที่เป็นกรด [10] สัมพันธ์กับภาวะความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้มีสารซิสตีนในปัสสาวะ (Cystinuria), Tyrosine crystal เป็นผลึกใสหรือสีเหลือง-น้ำตาลรูปเข็ม บางทีจะอยู่รวมกันเป็นมัด สัมพันธ์กับภาวะความผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) ได้ เรียกว่าภาวะ Tyrosinemia, Leucine crystal เป็นผลึกรูปรีสีเหลือง-น้ำตาล ภายในผลึกจะเป็นวงสองชั้น สัมพันธ์กับภาวะความผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโนลิวซีน (Leucine) ได้ มักพบร่วมกับ Tyrosine crystal ผลึกทั้งชนิดที่พบได้ปกติและไม่ปกติในน้ำปัสสาวะ หากเกิดการตกผลึกในร่างกายจำนวนมากและเวลานานเพียงพอ จะรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่ว (Calculi) อยู่ในไต (Kidney) หรือท่อไต (Ureter) [8] ซึ่งหากมีขนาดเล็กอาจสามารถออกมากับน้ำปัสสาวะ แต่หากมีขนาดใหญ่จะติดอยู่ในทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีอาการปวด (Pain) และพบภาวะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (Hematuria) ได้ ซึ่งต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจยืนยันและรักษาต่อไป ยา (Medication) และสารทึบรังสีที่ใช้ในการถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray contrast) บางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดผลึกในปัสสาวะได้เช่นกัน [8]
  • เมือก (Mucus) ในตัวอย่างปัสสาวะปกติสามารถพบเมือกได้ โดยอาจเป็นเมือกที่ขับออกมาตามปกติจากท่อปัสสาวะ (Urethra) หรือกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder) ในผู้หญิงอาจปนเปื้อนมาจากเมือกที่ขับออกมาจากช่องคลอด (Vagina) หรือปากมดลูก (Cervix) โดยเฉพาะในช่วงใกล้มีประจำเดือน ในกรณีที่มีการอักเสบหรือการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้พบเมือกในปัสสาวะเพิ่มขึ้นได้
  • แบคทีเรีย (Bacteria), ยีสต์ (Yeast), และปรสิต (Parasite) โดยปกติจะไม่พบแบคทีเรีย, ยีสต์, และปรสิต ในปัสสาวะ โดยเฉพาะถ้าเก็บปัสสาวะอย่างถูกต้อง ไม่มีการปนเปื้อน [8] หากเก็บปัสสาวะไม่ถูกต้อง อาจพบมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย, ยีสต์, และปรสิต จากผิวหนังและสารคัดหลั่งจากช่องคลอดปนเปื้อนลงมาในตัวอย่างปัสสาวะได้ [8] แบคทีเรียที่ออกมาจากปัสสาวะ บ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดการติดเชื้อย้อนกลับไปเป็นการติดเชื้อที่ไต กลายเป็นภาวะกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) กรณีที่สงสัยการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและทำการรักษาเป็นสิ่งที่เหมาะสม [8] โดยในเพศหญิง หากไม่มีอาการของทางเดินปัสสาวะอักเสบ แต่มีแบคทีเรียในปัสสาวะตั้งแต่ 5 cells/HPF ขึ้นไป จะเทียบเคียงได้กับแบคทีเรียประมาณ 100,000 colony forming units (CFU) ต่อปัสสาวะ 1 ml [10] ซึ่งเข้าได้กับลักษณะของการมีแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะแบบไม่มีอาการ (Asymptomatic bacteriuria) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นภาวะที่ไม่ต้องทำการรักษา แต่ในบางกรณีการรักษาจะเป็นประโยชน์ เช่น ถ้าพบในคนตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (First trimester pregnancy) [19] ส่วนในเพศหญิงที่พบแบคทีเรียในปัสสาวะแล้วมีอาการของทางเดินปัสสาวะอักเสบ (เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อยแต่ปัสสาวะออกเพียงเล็กน้อย ปวดท้องน้อยหรือหลังส่วนล่าง ปัสสาวะสีขุ่นหรือคล้ำ มีไข้) ควรตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป [10] สำหรับในเพศชายส่วนใหญ่ไม่ควรพบแบคทีเรียในตัวอย่างปัสสาวะ ถ้าเก็บปัสสาวะถูกวิธี ไม่ปนเปื้อน แล้วพบแบคทีเรียในตัวอย่างปัสสาวะ มักบ่งชี้ถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ควรตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาเช่นกัน [10] กรณีของยีสต์ (Yeast) มักพบในเพศหญิง หรืออาจพบในเพศชายก็ได้แต่โอกาสน้อยมาก [8] ยีสต์ที่พบในตัวอย่างปัสสาวะมักมาจากการปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากช่องคลอดในผู้หญิงที่มีภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อกลุ่มยีสต์ คือ Candida albicans หากพบยีสต์ในปัสสาวะต้องพิจารณาเรื่องการติดเชื้อในช่องคลอด และควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันและรักษา [8] กรณีของปรสิต คือเชื้อ Trichomonas vaginalis ก็เช่นกัน หากพบในปัสสาวะมักเกิดจากการปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากช่องคลอดในผู้หญิงที่มีการติดเชื้อชนิดนี้ หากพบ Trichomonas vaginalis ในปัสสาวะ ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันและทำการรักษาต่อไป [8]

จะเห็นได้ว่าการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะนั้น เป็นการตรวจคัดกรองพื้นฐานที่ให้ข้อมูลทางสุขภาพเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของไตและระบบปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจ ได้อย่างมีประโยชน์มากมายเลยทีเดียว

เอกสารอ้างอิง

  1. Husney A, Seifert AL. WebMD - Urine test [Internet]. 2015 [cited 2017 Apr 22]. Available from: http://www.webmd.com/a-to-z-guides/urine-test#1.
  2. Mayo Clinic. Urinalysis [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 22]. Available from: http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/urinalysis/home/ovc-20253992.
  3. Lerma EV, Slivka K. Medscape – Urinalysis [Internet]. 2015 [cited 2017 Apr 22]. Available from: http://emedicine.medscape.com/article/2074001-overview.
  4. NHS Choices. How should I collect and store a urine sample? [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 22]. Available from: http://www.nhs.uk/chq/Pages/how-should-i-collect-and-store-a-urine-sample.aspx?CategoryID=69&SubCategoryID=692.
  5. Weiss RE. Verywell - Why should early pregnancy tests be taken in the morning? [Internet]. 2017 [cited 2017 Apr 22]. Available from: https://www.verywell.com/using-first-morning-urine-for-a-pregnancy-test-2759853.
  6. Kirkwood J, Sullivan D. Healthline - Clean catch urine sample and culture [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 23]. Available from: http://www.healthline.com/health/urine-culture-clean-catch#overview1.
  7. Vorvick LJ, Zieve D. MedlinePlus - Clean catch urine sample [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 23]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/007487.htm.
  8. Lab Tests Online. Urinalysis [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 23]. Available from: https://labtestsonline.org/understanding/analytes/urinalysis.
  9. Wiwanitkit V. Pseudohematuria due to red dragon fruit ingestion. Chula Med J 2007;50(3):167-71.
  10. Simerville JA, Maxted WC, Pahira JJ. Urinalysis: A comprehensive review. Am Fam Physician 2005;71(6):1153-62.
  11. Kassa A, Wolde M, Kibret B. Urinalysis. Ethiopia: USAID & Ethiopia Public Health Training Initiative; 2002.
  12. American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH). TLVs and BEIs. Cincinnati: ACGIH; 2017.
  13. RnCeus.com. Urine pH [Internet]. 2017 [cited 2017 Apr 27]. Available from: https://www.rnceus.com/ua/uaph.html.
  14. Lerma EV, Jawa P, Desai T. Medscape – Proteinuria [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 28]. Available from: http://emedicine.medscape.com/article/238158-overview.
  15. Mayo Clinic. Protein in urine [Internet]. 2017 [cited 2017 Apr 28]. Available from: http://www.mayoclinic.org/symptoms/protein-in-urine/basics/definition/sym-20050656.
  16. LabCE. Clinical significance of urobilinogen in urine [Internet]. 2017 [cited 2017 Apr 28]. Available from: https://www.labce.com/spg506382_clinical_significance_of_urobilinogen_in_urine.aspx.
  17. Grossfeld GD, Litwin MS, Wolf JS, Hricak H, Shuler CL, Agerter DC, et. al. Evaluation of asymptomatic microscopic hematuria in adults: the American Urological Association best practice policy--part I: definition, detection, prevalence, and etiology. Urology 2001;57(4):599-603.
  18. Grossfeld GD, Litwin MS, Wolf JS, Hricak H, Shuler CL, Agerter DC, et. al. Evaluation of asymptomatic microscopic hematuria in adults: the American Urological Association best practice policy--part II: patient evaluation, cytology, voided markers, imaging, cystoscopy, nephrology evaluation, and follow-up. Urology 2001;57(4):604-10.
  19. Colgan R, Nicolle LE, McGlone A, Hooton TM. Asymptomatic bacteriuria in adults. Am Fam Physician 2006;74(6):985-90.