การตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


การตรวจสุขภาพ (health examination) คือกระบวนการค้นหาปัญหาสุขภาพในร่างกายของคน การตรวจสุขภาพนั้นอาจเป็นการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง (self examination) หรือเป็นการตรวจโดยแพทย์ (medical examination หรือ medical checkup) ก็ได้

โอกาสที่คนจะมาตรวจสุขภาพนั้นมีหลายโอกาสแตกต่างกัน ที่พบได้บ่อยที่สุดคือมาตรวจสุขภาพตามระยะ (periodic health examination) ซึ่งโดยปกติก็จะตรวจปีละครั้ง จึงอาจเรียกว่าการตรวจสุขภาพประจำปีก็ได้ (annually health examination) นอกจากนี้โอกาสอื่นๆ ที่คนจะมาตรวจสุขภาพก็เช่น การตรวจสุขภาพก่อนทำประกันชีวิต การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน การตรวจสุขภาพก่อนเกณฑ์ทหาร การตรวจสุขภาพเพื่อสมัครเรียน การตรวจสุขภาพเพื่อทำใบขับขี่ เป็นต้น

กระบวนการตรวจสุขภาพประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ หลายขั้นตอนด้วยกัน โดยทั่วไปจะเริ่มจากการซักประวัติ (history taking) เพื่อค้นหาว่าผู้เข้ารับการตรวจนั้นมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง มีโรคเดิมอะไรอยู่บ้าง จะได้เลือกการตรวจที่เหมาะสมให้ได้ต่อไป จากนั้นจะเป็นการตรวจร่างกาย (physical examination) เพื่อค้นหาความผิดปกติในร่างกายโดยแพทย์ ต่อด้วยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (laboratory investigation) ซึ่งได้แก่ การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจภาพรังสี การอัลตร้าซาวด์ เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลจากผลการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมดแล้ว แพทย์จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินและสรุป เพื่อดูว่าผู้เข้ารับการตรวจมีสุขภาพปกติดีหรือไม่ หากพบว่ามีการเจ็บป่วยเป็นโรคเกิดขึ้น จะได้รีบดำเนินการรักษาต่อไป หากพบว่ายังไม่เกิดเป็นโรค แต่เริ่มมีความเสื่อมหรือความผิดปกติของร่างกาย ก็จะได้ทำการแนะนำเพื่อแก้ไขความผิดปกติหรือชะลอความเสื่อมนั้น และหากพบว่ายังไม่เกิดความผิดปกติ แต่มีปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต ก็จะได้แนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค รูปที่ 3 แสดงขั้นตอนการดำเนินการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ในกรณีทั่วไป

รูปที่ 3 ขั้นตอนการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ในกรณีทั่วไป

ตัวอย่างของการตรวจสุขภาพแล้วพบว่าเจ็บป่วย เช่น ตรวจแล้วพบว่าเป็นต้อกระจกสุกที่ตาข้างหนึ่ง สิ่งที่แพทย์ควรดำเนินการก็คือ การส่งผู้เข้ารับการตรวจที่ป่วยเป็นโรคไปรักษา ในกรณีของต้อกระจกสุกก็คือการส่งตัวไปผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ ตัวอย่างของกรณีที่พบความเสื่อม เช่น ตรวจพบว่าระดับการได้ยินเริ่มลดลงในช่วงเสียงความถี่สูง (high-frequency hearing loss) แต่ยังไม่ถึงกับหูตึง สิ่งที่แพทย์ควรจะดำเนินการต่อก็คือ การแนะนำปรับพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การงดฟังเพลงเสียงดัง หลีกเลี่ยงงานที่ต้องสัมผัสเสียงดัง ใช้ที่อุดหูป้องกันทุกครั้งที่ทำงานในที่เสียงดัง ร่วมกับทำการเฝ้าระวังต่อไป โดยแนะนำให้มาตรวจสมรรถภาพการได้ยินซ้ำทุกปี เป็นต้น ส่วนตัวอย่างของกรณีที่พบความเสี่ยง เช่น ยังตรวจร่างกายไม่พบโรคหรือความผิดปกติ แต่มีพฤติกรรมชอบสูบบุหรี่วันละ 2 ซอง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองในอนาคต สิ่งที่แพทย์ควรดำเนินการต่อก็คือ การแนะนำผู้ที่มาตรวจสุขภาพให้ปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงนั้น ในที่นี้คือการแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น

ส่วนการตรวจสุขภาพทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ (occupational health examination) นั้น ก็คือการตรวจสุขภาพใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการทำงานให้กับคนทำงานนั่นเอง ซึ่งโอกาสในการตรวจก็มีได้หลายกรณีเช่นกัน ดังนี้

  • Pre-employment examination

  • Pre-placement examination

  • Periodic examination

  • Fitness for work examination

  • Return to work examination

  • Retirement examination (exit examination)

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของการตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์ในกรณีต่างๆ

1. การตรวจสุขภาพก่อนจ้างงาน (pre-employment examination)

เป็นการตรวจสุขภาพก่อนที่โรงงานจะจ้างงานคนทำงานนั้นเข้ามาทำงาน (คือคนถูกตรวจยังไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของโรงงาน) เหตุผลของการตรวจนั้นเพื่อดูความปลอดภัยของคนทำงานเป็นหลัก โดยแพทย์จะดูว่า (1) คนมาสมัครงานนั้นมีโรคอะไรอยู่บ้างหรือไม่ (2) ถ้ามีโรคอยู่ เขาจะสามารถทำงานที่พิจารณาได้โดยปลอดภัยหรือไม่ (3) ถ้าสามารถทำงานนั้นได้ เมื่อให้ไปทำงานแล้วอาการป่วยจะแย่ลงหรือไม่ ถ้าตรวจแล้วมีความพร้อมที่จะทำงาน (fit to work) ก็สามารถให้ทำงานได้ ถ้าไม่พร้อมที่จะทำงาน (unfit to work) ก็ไม่ควรให้ทำงานนั้น

2. การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน (pre-placement examination)

เป็นการตรวจสุขภาพก่อนที่จะให้คนเข้าไปทำงานเช่นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกับการตรวจสุขภาพก่อนจ้างงานคือ การตรวจสุขภาพก่อนจ้างงาน ผู้เข้ารับการตรวจยังไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง ส่วนการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน (หรืออาจเรียกการตรวจสุขภาพก่อนเข้าประจำตำแหน่ง) โรงงานได้รับคนทำงานเข้ามาเป็นลูกจ้างแล้ว อาจผ่านการทดลองงานมาระยะหนึ่งแล้วด้วย การตรวจสุขภาพนั้นทำก่อนที่จะให้ลูกจ้างเข้าไปประจำตำแหน่งงาน จุดมุ่งหมายของการตรวจก็เช่นเดียวกับการตรวจก่อนจ้างงาน คือเพื่อดูความปลอดภัยของคนที่จะเข้าไปทำงานเป็นสำคัญ

การตรวจทั้ง 2 อย่างนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันในจุดที่ว่าโรงงานได้ทำการรับคนทำงานนั้นเข้ามาเป็นลูกจ้างแล้วหรือยังเท่านั้น ในทางปฏิบัติความแตกต่างกันนี้จะทำให้เกิดปัญหาให้พิจารณาได้ในกรณีที่คนทำงานนั้นไม่พร้อมที่จะทำงาน (unfit to work) เนื่องจากการตรวจก่อนเข้าทำงานนั้น คนทำงานมีสถานะเป็นลูกจ้างของโรงงานแล้ว หากตรวจแล้วไม่พร้อมที่จะทำงาน โรงงานจะต้องรับภาระดำเนินการหางานอื่นที่เหมาะสมกว่ามาให้ทำแทน (เพราะว่าได้จ้างมาเป็นลูกจ้างของโรงงานแล้ว) ส่วนการตรวจก่อนจ้างงานนั้น หากตรวจแล้วคนทำงานไม่พร้อมที่จะทำงาน โรงงานอาจปฏิเสธการรับเข้าทำงานได้เลย (คือคนทำงานนั้นไม่ได้งาน) หากมองในมุมที่เป็นกลางจะเห็นว่า การตรวจก่อนเข้าทำงานดูจะได้ประโยชน์ต่อฝ่ายลูกจ้างมากกว่า ในขณะที่การตรวจก่อนจ้างงาน ดูจะได้ประโยชน์ต่อฝ่ายนายจ้างมากกว่า ในข้อกฎหมายของประเทศไทยปัจจุบัน ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างฯ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้นายจ้าง “…ตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน…” ซึ่งน่าจะตีความได้ว่า หมายถึงกำหนดให้โรงงานต่างๆ ทำการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานเป็นหลัก

3. การตรวจสุขภาพตามระยะ (periodic examination)

คือการตรวจสุขภาพคนทำงานตามวงรอบ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะตรวจปีละครั้ง จึงอาจเรียกว่า การตรวจสุขภาพประจำปี (annually health examination) ก็ได้ การตรวจสุขภาพตามระยะนั้น นอกจากจะดูปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานแล้ว โดยทั่วไปแพทย์ก็มักจะตรวจดูปัญหาสุขภาพทั่วๆ ไปของคนทำงานไปด้วยพร้อมกันเลย

ในข้อกฎหมายของประเทศไทย ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างฯ พ.ศ. 2547 กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามระยะให้กับลูกจ้าง “...อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง...” เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ อย่างไรก็ตามในบางกรณี หากแพทย์เห็นว่างานที่ทำนั้นมีความเสี่ยงมาก แพทย์ก็อาจแนะนำให้ตรวจถี่กว่าปีละครั้งก็ได้ เช่น ในคนทำงานสัมผัสกัมมันตรังสีที่เสี่ยงมาก อาจตรวจสุขภาพทุก 3 เดือน หรือในคนทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน อาจตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน ดังนี้เป็นต้น

การตรวจสุขภาพตามระยะนั้น ตรวจเพื่อดูว่า (1) หลังจากทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว คนทำงานยังมีสุขภาพดีอยู่หรือไม่ (2) ผลจากการทำงาน ทำให้สุขภาพของคนทำงานแย่ลงหรือเกิดโรคขึ้นหรือไม่ (3) ผลจากการที่คนทำงานอายุมากขึ้น และจากสาเหตุปัจจัยส่วนตัวอื่น เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ทำให้สุขภาพของคนทำงานแย่ลงหรือเกิดโรคขึ้นหรือไม่ (4) ถ้าเกิดมีโรค เขายังพร้อมที่จะทำงานอยู่หรือไม่ (5) ถ้าพบว่าคนทำงานป่วยเป็นโรค แพทย์จะได้รีบดำเนินการส่งตัวเพื่อทำการรักษาต่อไป

ประเด็นการตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์ ที่แตกต่างจากการตรวจทั่วไปเรื่องหนึ่งคือ การตรวจจะต้องดูความเสี่ยงจากสิ่งคุกคามที่คนทำงานสัมผัสด้วย ข้อมูลความเสี่ยงนี้ อาจได้จากการที่แพทย์เข้าไปเดินสำรวจโรงงานเพื่อประเมินความเสี่ยง หรือจากข้อมูลที่ทางโรงงานให้แก่แพทย์ การทราบข้อมูลความเสี่ยงที่ถูกต้องจะช่วยให้แพทย์สามารถออกแบบการตรวจสุขภาพได้ตรงตามความเสี่ยงของคนทำงานแต่ละคน

ข้อแตกต่างระหว่างการตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์กับการตรวจสุขภาพทั่วไปอีกประเด็นหนึ่งคือ การตรวจสุขภาพตามระยะทางอาชีวเวชศาสตร์นั้น มักจะทำการตรวจพร้อมกันทั้งโรงงาน ซึ่งการที่คนทำงานทั้งโรงงานมาตรวจพร้อมๆ กันนี้ ก็จะทำให้แพทย์ได้ข้อมูลทั้งแบบเป็นรายบุคคลและในภาพรวม ทำให้สามารถประเมินปัญหาทั้งในระดับบุคคลและในภาพรวมของทั้งโรงงานได้ด้วย การประเมินในภาพรวมทั้งโรงงานนั้น ยกตัวอย่างเช่น แพทย์พบว่าคนทำงานในแผนกที่เสียงดังแผนกหนึ่ง มีผลตรวจการได้ยินลดลงหลายคน จึงนำไปสู่การพิจารณาว่าอาจเกิดปัญหาเสียงดังเกินไปที่แผนกนั้น และทำให้เกิดการแก้ไขสภาพแวดล้อมการทำงานในแผนกนั้นให้ดีขึ้น ทำให้เสียงดังลดลง เป็นต้น รูปที่ 4 แสดงขั้นตอนการตรวจสุขภาพตามระยะทางอาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งจะมีการประเมินและสรุปผลได้ทั้งในระดับบุคคลและในภาพรวมของโรงงาน

รูปที่ 4 ขั้นตอนการตรวจสุขภาพตามระยะทางอาชีวเวชศาสตร์

4. การตรวจประเมินความพร้อมในการทำงาน (fitness for work examination)

คือการตรวจเพื่อดูความพร้อมของร่างกายและจิตใจคนทำงาน เมื่อจะให้ไปทำงานที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงกว่าปกติทั่วไปบางอย่าง เช่น งานบนแท่นขุดเจาะแก๊สในทะเล (fitness for work offshore) งานในที่อับอากาศ (fitness for work in confined-space) งานดำน้ำ (fitness to dive) งานขับรถ (fitness to drive) เหล่านี้เป็นต้น

หลักการตรวจเพื่อประเมินความพร้อมนั้น ตรวจเพื่อดูว่า (1) คนทำงานมีสุขภาพแข็งแรงดีหรือไม่ มีการเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรหรือไม่ (2) ประเมินระดับสุขภาพของคนทำงานนั้น เทียบกับงานที่เขาจะไปทำว่าสามารถทำได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยพิจารณาถึงทั้งความปลอดภัยของคนทำงานนั้นเอง ความปลอดภัยของเพื่อนร่วมงาน และความปลอดภัยต่อสาธารณะด้วย ถ้าตรวจแล้วพร้อมที่จะทำงาน (fit to work) ก็ให้ทำงานนั้นได้ ถ้าไม่พร้อมที่จะทำงาน (unfit to work) ควรให้งดการทำงานนั้นไว้ก่อน และหางานอื่นให้แทน

5. การตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงาน (return to work examination)

ก็เป็นการตรวจประเมินความพร้อมในการทำงานอย่างหนึ่งเช่นกัน คือเป็นการตรวจเพื่อดูความพร้อมของร่างกาย หลังจากที่คนทำงานเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจนต้องหยุดงานไปเป็นเวลานานแล้วกำลังจะกลับเข้าทำงานอีกครั้ง หลักการตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงานนี้ ใช้หลักการเดียวกันกับการตรวจประเมินความพร้อมในการทำงาน คือดูสภาวะสุขภาพ (physical fitness) เทียบกับความสามารถขั้นพื้นฐานที่ต้องใช้ในการทำงานนั้น (work demand) หากตรวจแล้วยังไม่พร้อมที่จะทำงาน ควรให้งดการทำงานนั้นไว้ก่อน และในคนทำงานที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยบางราย อาจต้องส่งไปฟื้นฟูสมรรถภาพ (rehabilitation) เพิ่มเติมด้วย เพื่อที่จะได้กลับมาทำงานเดิมได้

6. การตรวจสุขภาพก่อนเกษียณ (retirement examination)

คือการตรวจเมื่อคนทำงานจะเกษียณจากงาน หรือหากเป็นการตรวจเมื่อคนทำงานจะลาออกจากงานที่เดิม โดยยังอายุไม่ถึงเกษียณ จะเรียกว่า การตรวจสุขภาพก่อนออกจากงาน (exit examination) การตรวจสุขภาพก่อนเกษียณนั้น ทำเพื่อดูว่าหลังจากที่ทำงานมาเป็นเวลานานแล้ว สุขภาพของคนทำงานยังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ มีความเสื่อมใดเกิดขึ้นบ้าง มีโรคเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีโรคเกิดขึ้นจะได้รีบแนะนำและให้การรักษาตั้งแต่ระยะที่ตรวจพบ การตรวจนี้ช่วยให้คนที่ทำงานมานานจนเกษียณ ได้มีสุขภาพที่แข็งแรงสมวัย ได้มีโอกาสพักผ่อนหรือท่องเที่ยวในช่วงวัยหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพ

เกี่ยวกับด้านกฎหมาย การตรวจสุขภาพก่อนเกษียณถือว่ามีประโยชน์ต่อฝ่ายนายจ้างด้วย เนื่องจากเป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันว่า คนที่มาทำงานกับโรงงานนั้น ขณะที่กำลังจะเกษียณหรือกำลังจะลาออกจากงานไป ยังไม่ได้เกิดเป็นโรคขึ้น หรือป่วยเป็นโรคขึ้นแล้ว ซึ่งจะช่วยเป็นข้อมูลยืนยันระยะเวลาการเกิดโรคได้ หากเกิดปัญหาคนทำงานออกจากงานไปแล้วเจ็บป่วยขึ้นในภายหลัง แล้วมาร้องเรียนกับทางโรงงาน

หนังสืออ้างอิง

  1. กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 4 ก. (ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2547).

  2. Parker JE. The occupational and environmental history and examination. In: Rom WN, Markovitz SB, editors. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007. p. 22-31.