หลักการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


การวินิจฉัยโรค (diagnosis) เป็นกระบวนการหนึ่งที่แพทย์จำเป็นต้องทำเพื่อให้สามารถรักษาโรคได้ การวินิจฉัยโรคในกรณีทั่วไป ก็คือการที่แพทย์ตัดสินใจหรือลงความเห็นว่าผู้ป่วย “เป็นโรคอะไร” จากข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประมวลผลร่วมกับความรู้และประสบการณ์ของแพทย์ที่มี การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การรักษาโรคที่ถูกวิธี

แต่การวินิจฉัยโรคจากการทำงานนั้น ไม่ใช่การวินิจฉัยหาโรค แต่เป็นการวินิจฉัยว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากการทำงานหรือไม่ หรืออาจกล่าวได้ว่า การวินิจฉัยโรคจากการทำงานนั้นก็คือ “การวินิจฉัยหาสาเหตุ” ของโรคนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ การวินิจฉัยโรคจากการทำงานจึงต้องใช้ความรู้ในการหาสาเหตุ (causal relationship) มาพิจารณาเป็นหลักสำคัญ

การวินิจฉัยโรคในกรณีทั่วไปกับการวินิจฉัยโรคจากการทำงานนั้นมีความต่อเนื่องกัน การวินิจฉัยโรคจากการทำงานจะทำได้ก็ต่อเมื่อแพทย์ทราบแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร จึงจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าโรคนั้นมีสาเหตุเกิดจากการทำงานหรือไม่

สรุปคือ... การวินิจฉัยโรคกรณีทั่วไป วินิจฉัยเพื่อดูว่า “ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร” ส่วนการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน วินิจฉัยเพื่อดูว่า “สาเหตุของโรคเกิดจากการทำงานหรือไม่”

ทฤษฎีสาเหตุของโรค (disease causation)

เนื่องจากการวินิจฉัยโรคจากการทำงานคือการวินิจฉัยสาเหตุ (cause) ของโรค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกล่าวถึงทฤษฎีสาเหตุของโรค (disease causation) เป็นการเริ่มต้นก่อน ปัจจุบันแม้ว่ามนุษย์เราจะรู้จักโรคภัยต่างๆ มากมาย แต่ก็คงต้องยอมรับว่าสาเหตุของโรคหลายๆ โรคนั้น เราก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดนัก ตัวอย่างเช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น ทฤษฎีที่คาดคะเนถึงสาเหตุการเกิดโรคนั้นมีอยู่หลายทฤษฎี แต่ไม่มีทฤษฎีใดสามารถอธิบายสาเหตุการเกิดโรคทุกโรคได้อย่างครบถ้วนทั้งหมด แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีสาเหตุของโรค มีดังต่อไปนี้

1. Single cause VS Multiple causes

ช่วงเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่วิชาระบาดวิทยาได้เริ่มถือกำเนิดขึ้น นักระบาดวิทยาที่ศึกษาเรื่องสาเหตุของการเกิดโรคในยุคเริ่มแรก มีความเห็นว่าโรคจะเกิดขึ้นจากสาเหตุของโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง สาเหตุของโรคนี้เรียกว่าสิ่งก่อโรค (agent) ซึ่งในยุคสมัยของการศึกษาในระยะเริ่มแรกนั้น โรคติดเชื้อเป็นโรคที่ได้รับความสนใจและเป็นปัญหามาก สิ่งก่อโรคที่ว่านี้ก็คือเชื้อโรคชนิดต่างๆ นั่นเอง สาเหตุของโรคจึงถูกมองเป็นจากสาเหตุเดียว (single cause of disease) ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือจากตัวเชื้อโรคนั่นเอง เช่น โรคไข้มาลาเรีย ก็เกิดจากเชื้อมาลาเรีย โรคอหิวาต์ ก็เกิดจากเชื้ออหิวาต์ เป็นต้น นี่คือแนวคิดในยุคเริ่มแรก ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดแบบจำลองปัจจัยสามทางระบาดวิทยา (epidemiologic triangle) ขึ้น

ต่อมาเมื่อความรู้ทางด้านการแพทย์พัฒนาขึ้น นักระบาดวิทยาก็เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่า โรคส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มักเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน (multiple causes of disease) ตัวอย่างของโรคที่เกิดจากหลายสาเหตุ หรือที่เรียกว่า multifactorial disease ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งอาจจะเกิดจากทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม อาหารการกิน พฤติกรรมการออกกำลังกาย อายุ และปัจจัยอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดอีกหลายอย่าง หรือโรคมะเร็งเต้านม ที่อาจเกิดจากทั้งปัจจัย พันธุกรรม การได้รับฮอร์โมนเพศเสริม การไม่มีบุตร และจากปัจจัยอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบแน่ชัด เหล่านี้เป็นต้น

2. Sufficient-cause model

จากการมองในภาพกว้างแบบหลายสาเหตุอย่างที่กล่าวมา ในตำราทางด้านระบาดวิทยาสมัยใหม่จึงนิยามให้โรคทุกโรคเป็นโรคที่มีปัจจัยหลายอย่างมาประกอบกันทำให้เกิดขึ้น Kenneth J. Rothman และคณะ ได้เสนอไว้ในตำรา “Modern epidemiology” ว่า แบบจำลองที่นำมาใช้อธิบายการเกิดโรคอาจใช้แบบจำลอง sufficient-cause model หรืออาจเรียกว่า sufficient-component cause model มาอธิบายจะเป็นการเข้าใจโรคต่างๆ ได้มากขึ้น หลักการของแบบจำลองนี้เชื่อว่าโรคทุกโรคเกิดจากปัจจัยหลายองค์ประกอบมาร่วมกันทำให้เกิดเสมอ เมื่อแต่ละปัจจัยมาประสบเหมาะกันพอดีก็จะทำให้เกิดโรคขึ้นได้

ตัวอย่างเช่นการที่คนคนหนึ่งจะเดินไปตามทางเดินแล้วหกล้มจนเกิด “กระดูกสะโพกหัก” ได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบที่พอเหมาะพอเจาะหลายอย่างมาประกอบกัน สาเหตุของการเกิด “กระดูกสะโพกหัก” นั้น ครอบคลุมตั้งแต่ ฝนตกทำให้พื้นเปียก รองเท้าที่ใส่นั้นลื่น ทางที่เดินขรุขระเป็นหลุมบ่อ ทางเดินไม่มีราวจับ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถแยกแยะได้อีกมากมายหลายประการ จากหลักคิดนี้จะเห็นได้ว่า แนวคิดว่าการที่ “กระดูกสะโพกหัก” นั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เกี่ยวข้องแม้แต่กับการที่ “ฝนตกจนทำให้พื้นเปียก” ด้วยแล้ว เราอาจจะเรียกได้ว่า มุมมองตามแบบจำลองนี้ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กันไปหมดในลักษณะ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงจันทร์” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าทฤษฎี butterfly effect เลยทีเดียว

ในกรณีของโรคดั้งเดิมที่ดูเหมือนมีสาเหตุการเกิดเพียงสาเหตุเดียวชัดเจน เช่น โรคติดเชื้อ ก็สามารถถูกพิจารณาแบบมุมกว้างว่าเป็นโรคที่มีสาเหตุจากหลายปัจจัยได้ด้วย ตัวอย่างเช่น วัณโรคปอด หากมองในแนวคิดเดิม สาเหตุของโรคย่อมมีเพียงอย่างเดียวคือตัวเชื้อแบคทีเรีย M. tuberculosis ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคขึ้น แต่หากมองให้กว้างขึ้น ปัจจัยตัวเชื้อโรคนั้นเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการเกิดโรค (necessary cause) ก็จริง แต่การที่คนคนหนึ่งจะเกิดวัณโรคปอดขึ้นได้ไม่เพียงแต่จะต้องมีเชื้อโรคเท่านั้น ยังต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย เช่น ต้องมีอากาศที่ถ่ายเทไม่ดีทำให้เชื้อโรคลอยจากคนป่วยมาสู่คนปกติ ต้องอยู่ใกล้ชิดกับคนเป็นโรคในระยะเวลาที่นานเพียงพอ คนที่รับเชื้อต้องมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติทั่วไป หากมองในมุมกว้างอย่างนี้ ก็อาจจะพูดได้ว่าวัณโรคปอด หรือโรคติดเชื้อชนิดต่างๆ ก็เป็น multifactorial disease เช่นกัน

กรณีของโรคจากสิ่งคุกคามจากการทำงานนั้น ยกตัวอย่างเช่น โรคปอดฝุ่นหิน จริงอยู่สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรคขึ้นมาคือการสูดดมเอาฝุ่นหินเข้าไป “ฝุ่นหิน” จึงเป็นสาเหตุของโรคในการมองแบบสาเหตุเดียว แต่หากมองให้มีหลายสาเหตุ การที่ฝุ่นหินจะทำให้เกิดโรคปอดฝุ่นหินขึ้นมาได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย คือต้องมีปริมาณฝุ่นที่เข้มข้นเพียงพอ ต้องทำงานสูดดมฝุ่นมานานเพียงพอ ต้องมีอากาศที่ถ่ายเทไม่ดี ต้องไม่มีการใส่หน้ากากกันฝุ่นหรือใส่แต่ประสิทธิภาพการป้องกันไม่ดีพอ คนที่สูดดมเอาฝุ่นเข้าไปก็อาจจะมีความไวรับต่อโรคด้วย หากมองในภาพกว้างเช่นนี้ ก็กล่าวได้ว่าโรคปอดฝุ่นหินเป็น multifactorial disease ได้อีกเช่นกัน

การมองสาเหตุของโรคในภาพกว้างขนาดนี้ มีข้อดีคือทำให้สามารถมีช่องทางการป้องกันโรคได้มากขึ้น กล่าวคือหากเราจัดการแก้ไขกับปัจจัยสาเหตุอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็จะทำให้โรคไม่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามแนวคิดของแบบจำลองนี้เชื่อว่า โรคหนึ่งโรคนั้นอาจจะเกิดจากการประกอบกันขององค์ประกอบได้หลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังมักจะมีปัจจัยองค์ประกอบที่ยังไม่สามารถแยกแยะได้ (เรียกว่า U factor) อยู่ด้วยเสมอ แม้จะมองปัญหาได้ในมุมกว้างขึ้น แต่การป้องกันโรคให้ได้ผลสำเร็จเสมอไปก็ยังทำไม่ได้ในความเป็นจริง

เนื่องจากทฤษฎีสาเหตุของโรคในปัจจุบันมีแนวโน้มไปทางโรคทุกโรคเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นการพิจารณาสาเหตุของโรคว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่จึงทำได้สลับซับซ้อนและยากขึ้น หากพิจารณาแบบมุมกว้างดังทฤษฎีใหม่ที่กล่าวมาแล้วนั้น คนที่จะไปซื้อเสื้อสูทมาใส่ทำงาน ถ้าขณะเดินไปซื้อเสื้อเกิดถูกรถชนแขนหัก ก็ต้องบอกว่าการที่แขนหักนั้น มีสาเหตุ “เกี่ยวเนื่อง” กับการทำงานได้ การมองในลักษณะนี้อาจกล่าวในลักษณะภาพรวมได้ว่า โรคทุกโรคเป็นโรคที่ “เกี่ยวเนื่อง” กับการทำงานทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งที่ต้องมีการวินิจฉัยโรคจากการทำงานนั้น เนื่องจากระบบกองทุนเงินทดแทนที่มีอยู่ในประเทศที่พัฒนาด้านอุตสาหกรรมแทบทุกประเทศ กำหนดให้จ่ายเงินทดแทนให้กับคนที่เป็น “โรคจากการทำงาน” จึงเป็นที่มาของหน้าที่ที่แพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกแยะว่า “การเจ็บป่วยใดเป็นจากการทำงาน” และ “การเจ็บป่วยใดไม่ใช่จากการทำงาน” ขึ้น แม้ว่าทฤษฎีสาเหตุของโรคแบบมองภาพกว้างในยุคใหม่จะใช้ประโยชน์ในแง่การหาหนทางป้องกันโรคได้ดีกว่าการมองแบบทฤษฎีเก่าก็จริง แต่ในทางปฏิบัตินั้น ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนยังคงต้องการให้แยกแยะให้ได้ว่า “โรคใดเกิดจากการทำงาน” และ “โรคใดไม่ได้เกิดจากการทำงาน” เพื่อให้สามารถจ่ายเงินทดแทนแก่คนที่เจ็บป่วยจากการทำงานได้ ในการพิจารณาเพื่อวินิจฉัยโรคจากการทำงานในเนื้อหาส่วนต่อไปนั้น จึงจะพิจารณาสาเหตุของโรคตามทฤษฎีเก่า คือแบ่งโรคเป็น “โรคที่มีสาเหตุเดียว” กับ “โรคที่มีหลายสาเหตุ” เป็นหลักเท่านั้น

ทำไมจึงต้องวินิจฉัยโรคจากการทำงาน

การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน มีความสำคัญอยู่ 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกดังที่กล่าวไปแล้วคือ เนื่องจากระบบกองทุนเงินทดแทนจำเป็นต้องทราบว่า คนทำงานใดเจ็บป่วยจากการทำงานบ้าง เพื่อที่จะได้จ่ายเงินชดเชยการเจ็บป่วยนั้นให้แก่คนที่เจ็บป่วยจากการทำงานได้อย่างถูกต้อง การทำงานนั้นถือว่าเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้นายจ้าง และก็ไม่ควรจะเป็นกิจกรรมที่เป็นสาเหตุให้คนถึงแก่การเจ็บป่วยหรือล้มตายโดยไม่จำเป็น ระบบกองทุนเงินทดแทนมีขึ้นเพื่อชดเชยความสูญเสียต่อคนทำงานในเรื่องนี้

อีกประการหนึ่งที่ทำให้การวินิจฉัยโรคจากการทำงานมีความสำคัญ คือเพื่อนำไปสู่การรวบรวมสถิติโรค จำนวนของผู้ป่วยโรคจากการทำงานที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดการแก้ไขสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อให้คนทำงานเจ็บป่วยน้อยลงในอนาคต ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและคนทำงานทุกคนในภาพรวม ด้วยความสำคัญในข้อนี้ ทำให้การวินิจฉัยโรคจากการทำงานในคนทำงานกลุ่มที่กองทุนเงินทดแทนไม่คุ้มครอง เช่น ข้าราชการหรือแรงงานนอกระบบ จึงยังคงมีความสำคัญอยู่

คำศัพท์ของระบบกองทุนเงินทดแทนที่เกี่ยวข้องกับโรคจากการทำงานนั้น จะแบ่งโรคออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคจากการทำงาน (occupational disease) คือโรคที่ “ถ้าไม่ทำงานก็ไม่เกิดโรคนี้ขึ้น” และอีกกลุ่มคือ โรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน (work-related disease) คือโรคที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานโดยตรง แต่การทำงานมีส่วนทำให้โรคมีอาการเปลี่ยนแปลง เป็นหนักขึ้นหรือเบาลงได้ โรคในกลุ่มนี้ “ถ้าไม่ทำงานก็ยังคงสามารถเกิดโรคขึ้น” ในการจ่ายเงินทดแทนนั้น กองทุนเงินทดแทนของไทยจะจ่ายเงินให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคจากการทำงาน (occupational disease) เท่านั้น ส่วนโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน (work-related disease) จะไม่ได้รับเงินชดเชยการป่วยเป็นโรค

แนวทางการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน

เมื่อได้ทราบถึงทฤษฎีสาเหตุของโรค และทราบถึงจุดมุ่งหมายในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานแล้ว ในขั้นตอนการดำเนินการวินิจฉัยโรคจากการทำงานนั้น สำหรับประเทศไทยควรวินิจฉัยตามเกณฑ์ที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้ กฎหมายที่ใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคจากการทำงานสำหรับประเทศไทยปัจจุบัน ให้ยึดตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การวินิจฉัยและการประเมินการสูญเสียสมรรถภาพของผู้ป่วยหรือบาดเจ็บด้วยโรคจากการทำงาน พ.ศ. 2540 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เป็นหลัก รายละเอียดตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นดังนี้...

1. การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1.1 มีหลักฐานทางการแพทย์แสดงการเจ็บป่วย ดังนี้

ก. เวชระเบียน

ข. ผลและรายงานการชันสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวกับโรค

ค. ใบรับรองแพทย์

ง. ความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

1.2 มีการวินิจฉัยแยกสาเหตุอื่นๆ ของการเจ็บป่วยซึ่งอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยแบบเดียวกัน (differential diagnosis)

1.3 มีประวัติหรือหลักฐานทางประวัติหรือหลักฐานอื่นแสดงถึงการได้รับสิ่งคุกคามทั้งในงานและนอกงาน

1.4 มีอาการหรืออาการแสดงครั้งแรก (onset) เกิดหลังจากสัมผัส (exposure) และมีระยะเวลาก่อโรครายบุคคล (induction time)

2. นอกจากหลักฐานที่กำหนดไว้ตามข้อ 1. แล้ว อาจใช้หลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งประกอบการวินิจฉัยโรคได้ ดังต่อไปนี้

2.1 การวินิจฉัยด้วยการรักษาทางการแพทย์พิสูจน์สาเหตุของโรค เช่น โรคพิษสารตะกั่วอาจจำเป็นต้องทำการตรวจทดลองรักษาไปก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย หากอาการดีขึ้น แสดงว่าน่าจะเป็นโรคพิษจากตะกั่ว

2.2 อาการป่วยบางระยะสัมพันธ์กับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่มีปัจจัยคุกคามในพื้นที่สงสัย

2.3 อาการป่วยบางระยะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเว้นจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยคุกคาม

2.4 มีผู้ป่วยในกลุ่มผู้สัมผัสลักษณะเดียวกันมากกว่าหนึ่งราย หรือมีรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาสนับสนุน

2.5 สอดคล้องกับการศึกษาหรือรายงานในคน และสัตว์ก่อนหน้านี้

3. หลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรค ให้อ้างอิงเอกสารทางการของ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) องค์การแรงงานโลก (International Labour Organization; ILO) และเกณฑ์สากลขององค์กรต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับตามลำดับ และเอกสารจะต้องเป็นฉบับปัจจุบัน หรือเอกสารเล่มที่จะออกใหม่

เกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์การวินิจฉัยมาตรฐาน ที่สามารถนำมาใช้กับการวินิจฉัยโรคจากการทำงานได้ทุกโรค เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์การวินิจฉัยทั้ง 3 ข้อหลักแล้ว สามารถอธิบายจุดมุ่งหมายรายละเอียดได้ดังนี้

เกณฑ์ข้อ 1. นั้น เป็นข้อมูลหลักที่จะต้องมีเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ข้อมูลจากข้อ 1.1 ได้แก่ เวชระเบียน รายงานการชันสูตรต่างๆ (ผลส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ผลเลือด ผลปัสสาวะ ผลภาพรังสี) ใบรับรองแพทย์ และความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้น เป็นข้อมูลที่ต้องใช้เพื่อให้แน่ใจว่า การวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคอะไรนั้นทำได้ถูกต้อง เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรอย่างแน่นอนเสียก่อน จึงจะสามารถพิจารณาต่อไปได้ว่าโรคนั้นเกิดจากการทำงานหรือไม่ ข้อ 1.2 ที่ให้ทำ differential diagnosis แยกโรคที่มีอาการเหมือนกันโรคอื่นๆ ออกไป ก็มีจุดประสงค์เช่นเดียวกัน

ข้อ 1.3 นั้น คือต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยได้รับสัมผัส (exposure) ต่อสิ่งคุกคามก่อโรค (hazard) นั้นจริงๆ ส่วนข้อ 1.4 นั้น คือการยืนยันระยะเวลาก่อโรค (induction time) ซึ่งตามหลักการแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเริ่มมีอาการป่วย (onset) หลังการสัมผัส (exposure) ต่อสิ่งคุกคาม (hazard) เสมอ

ส่วนเกณฑ์ข้อ 2. นั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อสนับสนุนทางระบาดวิทยา ที่ถ้ามีเพิ่มเติม ก็จะเป็นการช่วยสนับสนุนให้หลักฐานน่าเชื่อถือขึ้น ข้อ 2.1 กล่าวถึงการยอมรับการวินิจฉัยจากการลองรักษา (therapeutic diagnosis) ได้ หากเป็นการลองรักษาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ข้อ 2.2 และ 2.3 กล่าวถึงเรื่องความจำเพาะ (specificity) ของความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสิ่งคุกคามกับการเกิดโรค โดยข้อ 2.2 ให้พิจารณาว่า ถ้าหากสัมผัสสิ่งคุกคามก็จะเกิดโรคขึ้น ในทางกลับกัน ข้อ 2.3 ให้พิจารณาว่า ถ้าหากไม่ได้สัมผัสสิ่งคุกคาม ก็จะไม่เกิดโรคขึ้น ส่วนข้อ 2.4 เป็นการใช้ความรู้ทางระบาดวิทยามาอธิบายได้ว่า หากคนทำงานสัมผัสต่อสิ่งคุกคามในงานแบบเดียวกันแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดโรคแบบเดียวกันกับคนทำงานคนอื่นได้ (consistency) ข้อ 2.5 เป็นการหาข้อสนับสนุนจากการทบทวนงานวิจัยและรายงานผู้ป่วยในอดีต (review of literature) ว่าเคยมีรายงานการเกิดโรคในลักษณะนี้ จากการสัมผัสสิ่งคุกคามชนิดนี้ มาก่อนหรือไม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก กรณีที่สิ่งคุกคามนั้นเป็นสิ่งคุกคามใหม่ หรือไม่ค่อยได้มีการใช้ หรือยังมีข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของมันอยู่น้อย

เกณฑ์ข้อ 3. ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายนั้น เป็นการชี้แจงให้ใช้เอกสารแนวทางขององค์กรที่น่าเชื่อถือมาอ้างอิง คือกำหนดให้ใช้เอกสารของ WHO และ ILO เป็นหลัก เนื่องจากในช่วงเวลาที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ (พ.ศ. 2540) ยังไม่มีการจัดทำเอกสารแนวทางการวินิจฉัยโรคจากการทำงานของประเทศไทยขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีต่อมา กระทรวงแรงงานได้พัฒนาจัดทำแนวทางการวินิจฉัยโรคจากการทำงานในรายละเอียดของแต่ละโรค ที่เป็นภาษาไทยขึ้นจนสำเร็จ เล่มล่าสุดในปัจจุบันคือ “มาตรฐานการวินิจฉัยโรคจากการทำงานฉบับเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” ซึ่งสามารถนำมาใช้อ้างอิงประกอบไปกับเอกสารขององค์กรต่างประเทศได้

การวินิจฉัยโรคจากการทำงานในภาคปฏิบัติ

จากเกณฑ์การวินิจฉัยโรคจากการทำงานตามกฎหมายที่ระบุมา หากดำเนินการหาข้อมูลตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างครบถ้วนแล้ว แพทย์ก็จะสามารถประเมินได้ว่าโรคที่ผู้ป่วยเป็นนั้นเกิดจากการทำงานหรือไม่ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจริงนั้น ข้อมูลที่ได้รับทั้งจากการสอบถามผู้ป่วย จากการสอบถามฝ่ายนายจ้าง การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ก็อาจจะยังไม่มากเพียงพอที่จะประเมินได้ โดยเฉพาะหากโรคที่วินิจฉัยนั้นมีความก้ำกึ่ง คืออาจเกิดจากการทำงานก็ได้ หรือ ไม่ใช่จากการทำงานก็ได้

เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำแนวทางการวินิจฉัยโรคจากการทำงานไปใช้ปฏิบัติได้จริง จะขอกล่าวในรายละเอียดการประเมินเพื่อวินิจฉัยโรคจากการทำงานเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น โรคต่างๆ ที่พบนั้น หากพิจารณาตามทฤษฎีสาเหตุของโรคแบบเก่า (คือแบ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุเดียว กับ โรคที่มีหลายสาเหตุ) แล้วนำมาเทียบกับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคจากการทำงานตามที่กล่าวมา จะสามารถแบ่งโรคออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มที่ (1) คือกลุ่มโรคที่ประเมินแล้วมักชัดเจนว่าเป็นจากการทำงานแน่ๆ (ขอเรียกว่ากลุ่มโรคสีดำ) กลุ่มที่ (2) คือกลุ่มโรคที่ประเมินแล้วมักชัดเจนว่าสาเหตุไม่ได้เป็นจากการทำงานแน่ๆ (ขอเรียกว่ากลุ่มโรคสีขาว) และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ (3) คือกลุ่มโรคที่มีหลายสาเหตุ ทำให้ประเมินแล้วมักมีความก้ำกึ่ง ทำให้ไม่แน่ว่าโรคนี้เกิดจากการทำงานหรือไม่ (ขอเรียกว่ากลุ่มโรคสีเทา) แนวทางการดำเนินการในแต่ละกลุ่มโรคจะแตกต่างกันออกไป โดยมีคำแนะนำทั่วๆ ไปดังนี้

(1) กลุ่มโรคสีดำ คือโรคที่มีสาเหตุเดียว และมักรู้กันมานานแล้วว่าสาเหตุนั้นเกิดจากการทำงาน โรคกลุ่มนี้ เช่น โรคปอดฝุ่นหิน (silicosis) โรคปอดใยหิน (asbestosis) โรคปอดชานอ้อย (bagassosis) โรคปอดฝุ่นฝ้าย (byssinosis) โรคปอดฝุ่นเหล็ก (siderosis) โรคพิษตะกั่ว (lead poisoning) โรคพิษแคดเมียม (cadmium poisoning) โรคพิษสารหนู (arsenic poisoning) โรคพิษแมงกานีส (manganese poisoning) โรคพิษตัวทำละลาย (solvent poisoning) โรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช (pesticide poisoning) โรคแก้วหูทะลุจากการสัมผัสเสียงดัง (acoustic trauma) โรคน้ำหนีบ (decompression sickness) การบาดเจ็บจากการทำงาน (occupational injury) เป็นต้น

โรคในกลุ่มโรคสีดำนี้ เมื่อวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องชัดเจนแล้ว ให้หาข้อมูลเพื่อพิสูจน์การสัมผัส (exposure) ต่อสิ่งคุกคามก่อโรคให้ชัดเจน หากมีข้อมูลการสัมผัสต่อสิ่งคุกคามที่สงสัยว่ามาจากการทำงานชัดเจนแน่นอนแล้ว ก็มักจะแน่ใจได้เลยว่าโรคนี้เกิดจากการทำงานแน่นอน สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงานได้อย่างมั่นใจ

(2) กลุ่มโรคสีขาว จะตรงข้ามกับกลุ่มโรคสีดำ คือจะเป็นโรคที่มีสาเหตุที่ค่อนข้างแน่ชัด เป็นที่ยอมรับกันอยู่เพียงสาเหตุเดียว และสาเหตุนั้นก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานเลย จึงมักทำให้พิจารณาได้ชัดเจนว่าโรคกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดจากการทำงานแน่ๆ ตัวอย่างเช่น โรคทาลัสซีเมีย (ทราบกันมานานแล้วว่าโรคนี้เกิดจากพันธุกรรม ไม่ได้เกิดจากการทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็เป็นโรคนี้ได้) ลิ้นหัวใจรั่ว (โรคนี้ทราบกันมานานแล้วว่าเป็นโรคแต่กำเนิด ไม่ใช่เกิดจากการทำงาน) โรค G6PD deficiency (เป็นโรคจากพันธุกรรม ไม่ได้เกิดจากการทำงาน ไม่ว่าทำงานอะไรก็เป็นโรคนี้ได้) โรคพยาธิตัวตืดในลำไส้ (เกิดจากการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่ได้เกิดจากการทำงาน) เหล่านี้เป็นต้น

โรคในกลุ่มสีขาวนี้ หากพบมักไม่เป็นปัญหากับแพทย์มากนักในการวินิจฉัย เพราะแพทย์ส่วนใหญ่จะประเมินได้ตรงกันว่าไม่ได้เกิดจากการทำงานแน่นอน

(3) ส่วนโรคสีเทานั้น เป็นโรคที่มีลักษณะก้ำกึ่ง เนื่องจากมีสาเหตุการเกิดได้หลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากการทำงานก็ได้ หรือไม่ได้เกิดจากการทำงานก็ได้ ทำให้แพทย์ตัดสินวินิจฉัยว่าเป็นจากการทำงานหรือไม่ได้ยาก นอกจากนี้โรคที่อยู่ในกลุ่มโรคสีเทา ยังเป็นกลุ่มโรคที่มีจำนวนมากที่สุดอีกด้วย ปัญหาความไม่แน่ใจในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานของแพทย์ จึงมักพบได้บ่อย

ตัวอย่างของโรคสีเทาที่มีลักษณะก้ำกึ่งนี้ เช่น โรคปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ (อาจเกิดจากการทำงานยกของหนักก็ได้ หรือเกิดจากการไปยกของหนักนอกเวลางานก็ได้ หรือเกิดจากการนั่งผิดท่าก็ได้) โรคประสาทหูเสื่อม (อาจเกิดจากการทำงานสัมผัสเสียงดังก็ได้ การไปเที่ยวดิสโก้เทคนอกเวลางานก็ได้ หรือการที่มีอายุมากขึ้นแล้วหูเสื่อมลงก็ได้) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (อาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมีบางอย่างในงาน เช่น แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ก็ได้ หรือเกิดจากไขมันอุดตันหลอดเลือดก็ได้ หรือเกิดจากการสูบบุหรี่ก็ได้ โดยมากก็มักจะเกิดจากหลายสาเหตุมาประกอบกันอีกด้วย ทำให้วินิจฉัยว่าเป็นจากการทำงานหรือไม่ได้ยาก) โรคผื่นแพ้ที่มือ (อาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมีในที่ทำงานก็ได้ หรือเกิดจากการสัมผัสสารเคมีที่บ้านก็ได้) เหล่านี้เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าโรคในกลุ่มสีเทาที่มีลักษณะก้ำกึ่งนั้น จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ได้ยากที่สุด แนวทางการดำเนินการเพื่อช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคในกลุ่มสีเทาได้ง่ายขึ้น ขอเสนอให้ทำดังนี้

  1. ทำการวินิจฉัยโรคให้ได้แน่นอน ต้องทราบการวินิจฉัยยืนยัน (definite diagnosis) ที่ถูกต้องและชัดเจนว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร
  2. รวบรวมข้อมูลตามเกณฑ์มาตรฐานการวินิจฉัยโรคจากการทำงานที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ให้ได้ข้อมูลมากที่สุด พยายามซักประวัติอาชีพให้ละเอียด ตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างถี่ถ้วน
  3. สอบถามถึงอาการเจ็บป่วยว่ามีมากขึ้นหรือลดลงสัมพันธ์กับงานหรือไม่ อาการป่วยเกิดขึ้นหลังจากที่เข้ามาทำงานหรือไม่ มีเพื่อนร่วมงานที่เจ็บป่วยเหมือนผู้ป่วยหรือไม่
  4. ซักประวัติข้อมูลการสัมผัสต่อสิ่งคุกคามให้ได้ละเอียดที่สุดเท่าที่ทำได้ หากสามารถไปสำรวจโรงงานของผู้ป่วยได้ก็อาจจะได้ข้อมูลการสัมผัสต่อสิ่งคุกคามมากขึ้น ประวัติการสัมผัสต่อสิ่งคุกคามนี้ ถ้าสอบถามได้ชัดเจนจะช่วยสนับสนุนว่ามีโอกาสเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานได้สูง

หลังจากที่ได้ดำเนินการตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว จะทำให้ได้ข้อมูลเพื่อมาประเมินและตัดสินใจมากขึ้น ถ้าข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลการสัมผัสต่อสิ่งคุกคามดูสนับสนุนว่าเป็นโรคจากการทำงาน ก็สามารถลงความเห็นวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงานได้ แต่หากข้อมูลสนับสนุนว่าไม่เป็นโรคจากการทำงาน ก็ควรวินิจฉัยไปตามจริงว่าไม่ได้เป็นโรคจากการทำงาน

กลุ่มโรคที่มีลักษณะก้ำกึ่งเป็นสีเทานี้ มีแนวทางอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยคาดการณ์ได้ว่า แพทย์ควรลงความเห็นวินิจฉัยเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่หากข้อมูลที่มีอยู่นั้นก้ำกึ่งมาก แนวทางการตัดสินใจนั้นก็คือการพิจารณาจากบัญชีรายชื่อโรคจากการทำงาน ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีการกำหนดบัญชีรายชื่อโรคจากการทำงานไว้อยู่จำนวนไม่เท่ากัน หากโรคที่วินิจฉัยมีการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อโรคจากการทำงานของประเทศแล้ว ก็มีแนวโน้มว่ามีความเหมาะสมที่จะเบิกเงินทดแทนจากการเจ็บป่วยด้วยโรคนั้นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น บัญชีรายชื่อโรคจากการทำงานของประเทศไทยนั้น ได้ทำการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ได้กำหนดให้ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคผื่นแพ้ผิวหนัง และโรคมะเร็ง ซึ่งล้วนแต่จัดว่าเป็นโรคที่มีความก้ำกึ่ง สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงานได้ ทำให้การวินิจฉัยโรคเหล่านี้เพื่อส่งเบิกเงินชดเชยได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

บัญชีรายชื่อโรคจากการทำงานของประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน พ.ศ. 2550 มีจำนวนทั้งหมด 80 โรค ดังนี้

  1. โรคที่เกิดขึ้นจากสารเคมีดังต่อไปนี้
    1. เบริลเลียม หรือสารประกอบของเบริลเลียม
    2. แคดเมียม หรือสารประกอบของแคดเมียม
    3. ฟอสฟอรัส หรือสารประกอบของฟอสฟอรัส
    4. โครเมียม หรือสารประกอบของโครเมียม
    5. แมงกานีส หรือสารประกอบของแมงกานีส
    6. สารหนู หรือสารประกอบของสารหนู
    7. ปรอท หรือสารประกอบของปรอท
    8. ตะกั่ว หรือสารประกอบของตะกั่ว
    9. ฟลูออรีน หรือสารประกอบของฟลูออรีน
    10. คลอรีน หรือสารประกอบคลอรีน
    11. แอมโมเนีย
    12. คาร์บอนไดซัลไฟด์
    13. สารอนุพันธ์ฮาโลเจนของสารไฮโดรคาร์บอน
    14. เบนซีน หรือสารอนุพันธ์ของเบนซีน
    15. อนุพันธ์ไนโตรและอะมิโนของเบนซีน
    16. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือกรดซัลฟูริค
    17. ไนโตรกลีเซอรีน หรือกรดไนตริคอื่นๆ
    18. แอลกอฮอล์ กลัยคอล หรือคีโตน
    19. คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ หรือสารประกอบของไฮโดรเจนไซยาไนด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์
    20. อะครัยโลไนไตรล์
    21. ออกไซด์ของไนโตรเจน
    22. วาเนเดียม หรือสารประกอบของวาเนเดียม
    23. พลวง หรือสารประกอบของพลวง
    24. เฮกเซน
    25. กรดแร่ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคฟัน
    26. เภสัชภัณฑ์
    27. ทัลเลียม หรือสารประกอบของทัลเลียม
    28. ออสเมียม หรือสารประกอบของออสเมียม
    29. เซลีเนียม หรือสารประกอบของเซลีเนียม
    30. ทองแดง หรือสารประกอบของทองแดง
    31. ดีบุก หรือสารประกอบของดีบุก
    32. สังกะสี หรือสารประกอบของสังกะสี
    33. โอโซน ฟอสยีน
    34. สารทำให้ระคายเคือง เช่น เบนโซควินโนน หรือสารระคายเคืองต่อกระจกตา เป็นต้น
    35. สารกำจัดศัตรูพืช
    36. อัลดีไฮด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ และกลูตารัลดีไฮด์
    37. สารกลุ่มไดอ๊อกซิน
    38. สารเคมี หรือสารประกอบของสารเคมีอื่น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน
  2. โรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางกายภาพ
    1. โรคหูตึงจากเสียง
    2. โรคจากความสั่นสะเทือน
    3. โรคจากความกดดันอากาศ
    4. โรคจากรังสีแตกตัว
    5. โรคจากรังสีความร้อน
    6. โรคจากแสงอัลตราไวโอเลต
    7. โรคจากรังสีไม่แตกตัวอื่นๆ
    8. โรคจากแสงหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
    9. โรคจากอุณหภูมิต่ำ หรือสูงผิดปกติมาก
    10. โรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางกายภาพอื่น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน
  3. โรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางชีวภาพ ได้แก่ โรคติดเชื้อ หรือโรคปรสิตเนื่องจากการทำงาน
  4. โรคระบบหายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน
    1. โรคกลุ่มนิวโมโคนิโอสิส เช่น ซิลิโคสิส แอสเบสโทสิส ฯลฯ
    2. โรคปอดจากโลหะหนัก
    3. โรคบิสสิโนสิส
    4. โรคหืดจากการทำงาน
    5. โรคปอดอักเสบภูมิไวเกิน
    6. โรคซิเดโรสิส
    7. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
    8. โรคปอดจากอะลูมิเนียม หรือสารประกอบของอะลูมิเนียม
    9. โรคทางเดินหายใจส่วนบนเกิดจากสารภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองในที่ทำงาน
    10. โรคระบบหายใจอื่น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน
  5. โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน
    1. โรคผิวหนังที่เกิดจากสาเหตุทางกายภาพ เคมี หรือชีวภาพอื่น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน
    2. โรคด่างขาวจากการทำงาน
    3. โรคผิวหนังอื่น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน
  6. โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน หรือสาเหตุจากลักษณะงานที่จำเพาะหรือมีปัจจัยเสี่ยงสูงในสิ่งแวดล้อมการทำงาน
  7. โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานโดยมีสาเหตุจาก
    1. แอสเบสตอส (ใยหิน)
    2. เบนซิดีน และเกลือของสารเบนซิดีน
    3. บิสโครโรเมทธิลอีเทอร์
    4. โครเมียมและสารประกอบของโครเมียม
    5. ถ่านหิน
    6. เบต้า – เนพธีลามีน
    7. ไวนิลคลอไรด์
    8. เบนซีนหรืออนุพันธ์ของเบนซีน
    9. อนุพันธ์ของไนโตรและอะมิโนของเบนซีน
    10. รังสีแตกตัว
    11. น้ำมันดิน หรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิน เช่น น้ำมันถ่านหิน น้ำมันเกลือแร่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมัน เช่น ยางมะตอย พาราฟินเหลว
    12. ไอควันจากถ่านหิน
    13. สารประกอบของนิกเกิล
    14. ฝุ่นไม้
    15. ไอควันจากเผาไม้
    16. โรคมะเร็งที่เกิดจากปัจจัยอื่น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน
  8. โรคอื่น ๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน

หากโรคที่วินิจฉัยอยู่ในบัญชีรายชื่อโรคจากการทำงานของประเทศ การวินิจฉัยโรคนั้นเป็นโรคจากการทำงานก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากโรคที่พิจารณาไม่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อโรคจากการทำงาน แต่แพทย์ประเมินแล้วว่าน่าจะเป็นโรคจากการทำงานจริง แพทย์ก็ยังสามารถเขียนวินิจฉัยและยื่นเรื่องเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนได้ เนื่องจากในบัญชีรายชื่อโรคจากการทำงานของประเทศไทยข้อสุดท้าย คือข้อที่ 8. อนุญาตให้วินิจฉัย “โรคอื่นๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน” ได้

บัญชีรายชื่อโรคจากการทำงานนั้น ในแต่ละประเทศจะมีจำนวนรายชื่อโรคไม่เท่ากัน ในบางประเทศการทำงานหนักจนตาย (Karoshi disease) การฆ่าตัวตายเนื่องจากมีความเครียดจากงาน หรือการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหลังจากการทำงานโดยไม่ได้พักผ่อน สามารถเบิกเงินทดแทนได้ แต่สำหรับประเทศไทย โรคเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในบัญชีรายชื่อโรคจากการทำงาน หากมีผู้ยื่นเรื่องขอเบิกเงินทดแทนมา อาจจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการการแพทย์ก่อน จึงจะทราบว่าสามารถเบิกเงินชดเชยได้หรือไม่

ตามระบบกองทุนเงินทดแทนของประเทศไทยนั้น เมื่อแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ทำการวินิจฉัยลูกจ้างว่าเป็นโรคจากการทำงานแล้ว แพทย์จะต้องเขียนใบลงความเห็นคือใบ กท. 16/1 ส่งให้กับกองทุนเงินทดแทน (โดยนายจ้างเขียนใบแจ้งการประสบอันตราย กท.16 กับใบแจ้งส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล กท.44 แนบไปด้วย) เมื่อส่งให้เจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทนพิจารณาแล้ว หากเห็นว่ามีรายละเอียดการลงความเห็นชัดเจน ลูกจ้างก็จะได้รับเงินชดเชยจากการเจ็บป่วยจากการทำงานนั้น แต่หากข้อมูลการวินิจฉัยที่แพทย์เขียนมาไม่ละเอียด กำกวม หรือวงเงินค่ารักษาพยาบาลสูงมาก เจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทนก็จะส่งเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการการแพทย์ ที่กระทรวงแรงงานแต่งตั้งขึ้น ให้พิจารณาความเหมาะสมอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นเมื่อแพทย์ที่โรงพยาบาลเขียนวินิจฉัยลงความเห็นว่าเป็นโรคจากการทำงานไปแล้ว หากเขียนข้อมูลได้ละเอียดชัดเจนเพียงพอและโรคนั้นเกิดจากการทำงานจริง ลูกจ้างก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินชดเชยสูง การได้รับเงินชดเชยของลูกจ้างนั้น จะได้รับค่าแรงชดเชยในกรณีที่ต้องหยุดงานมากกว่า 3 วันขึ้นไป และหากมีการสูญเสียอวัยวะ ก็จะได้เงินค่าชดเชยอวัยวะที่สูญเสียไป รวมถึงค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้วย

อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคจากการทำงานนี้ นอกจากลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยและการดูแลจากกองทุนเงินทดแทนแล้ว ผลที่เกิดขึ้นกับฝั่งนายจ้างคือ นายจ้างจะต้องเสียค่าประสบการณ์ ทำให้ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป และหากเป็นโรคที่มีความรุนแรง เช่น ถึงกับทำให้ลูกจ้างเสียชีวิต ก็มักจะมีพนักงานตรวจแรงงานไปตรวจสอบที่โรงงานด้วย ดังนั้นการลงความเห็นวินิจฉัยโรคจากการทำงานของแพทย์จึงทำให้เกิดผลได้ผลเสียทั้งต่อฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างเสมอ หากมีเรื่องฟ้องร้องระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างขึ้นในภายหลัง แพทย์ที่เป็นผู้วินิจฉัยโรคจากการทำงานก็อาจถูกเรียกไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลได้ ในกรณีที่ปัญหาการวินิจฉัยโรคจากการทำงานมีความสลับซับซ้อน แพทย์ที่ไม่คุ้นเคยกับการดูแลผู้ป่วยโรคจากการทำงานมาก่อนอาจส่งปรึกษาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เพื่อให้เป็นผู้วินิจฉัยโรคจากการทำงานให้แทนได้

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับระบบการจ่ายเงินชดเชยของกองทุนเงินทดแทนของประเทศไทยที่ควรทราบ คือการจ่ายเงินของกองทุนเงินทดแทน ถ้าพิจารณาแล้วว่าเป็นโรคจากการทำงาน (occupational disease) ก็จะจ่ายเงินให้เต็มจำนวนที่ลูกจ้างมีสิทธิจะได้ แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้เป็นโรคจากการทำงาน ไม่ว่าจะระบุเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน (work-related disease) หรือไม่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานก็ตาม กองทุนเงินทดแทนก็จะไม่จ่ายเงินให้เลย คือการจ่ายเงินจะเป็นลักษณะ all or none (จ่ายเต็มจำนวนหรือไม่จ่ายเลยเท่านั้น)

ในบางประเทศอาจมีลักษณะการจ่ายเงินทดแทนที่ต่างไปจากนี้ สืบเนื่องจากทฤษฎีสาเหตุของโรคที่เชื่อว่าโรคส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน จากแนวคิดนี้ทำให้ระบบการวินิจฉัยโรคจากการทำงานและการจ่ายเงินทดแทนในบางประเทศ มีการปรับจ่ายตามสัดส่วนของงานที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ตัวอย่างเช่น หากแพทย์คาดคะเนว่าการที่พนักงานดับเพลิงเพศชายคนหนึ่งอายุ 35 ปี รูปร่างไม่อ้วน แต่สูบบุหรี่จัด และมีไขมันสูง จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจากการสูดดมแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเข้าไปผจญเพลิงในตึกแห่งหนึ่ง แพทย์วินิจฉัยลงความเห็นว่าการทำงานผจญเพลิงนี้มีสัดส่วนทำให้พนักงานคนนี้ป่วยเป็นโรคเท่าใด (เช่น มีสัดส่วน 70% ในการทำให้เกิดโรคขึ้น) การตัดสินจ่ายเงินทดแทนก็จะพิจารณาให้ตามสัดส่วนที่แพทย์ลงความเห็น อย่างไรก็ตามระบบการวินิจฉัยแบบนี้ยังไม่มีการใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน

หนังสืออ้างอิง

  1. Rothman KJ, Greenland S, Poole C, Lash TL. Causation and causal inference. In: Rothman KJ, Greenland S, Lash TL, editors. Modern epidemiology. 3rd ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2008. p. 5-31.
  2. Syme SL. Multifactorial diseases. The Gale encyclopedia of public health [Internet]. 2002 [cited 2017 Jan 7]; Available from: http://www.encyclopedia.com/education/encyclopedias-almanacs-tran scripts-and-maps/multifactorial-diseases.
  3. โยธิน เบญจวัง, วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ, บรรณาธิการ. มาตรฐานการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ฉบับเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550. นนทบุรี: สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน; 2550.
  4. ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การวินิจฉัยและการประเมินการสูญเสียสมรรถภาพของผู้ป่วยหรือบาดเจ็บด้วยโรคจากการทำงาน. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 39 ง. (ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2540).
  5. ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การวินิจฉัยและการประเมินการสูญเสียสมรรถภาพของผู้ป่วยหรือบาดเจ็บด้วยโรคจากการทำงาน (ฉบับที่ 2). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 31 ง. (ลงวันที่ 30 มีนาคม 2541).
  6. ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 97 ง. (ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2550).
  7. LaDou J, Craner J. Workers’ compensation. In: LaDou J, Harrison RJ, editors. Current occupational and environmental medicine. 5th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2014. p. 40-50.