หลักการซักประวัติอาชีพ

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย พญ.นวพรรณ ผลบุญ

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


การซักประวัติ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับแพทย์ในการหาสาเหตุของโรค และเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคจากการทำงาน ซึ่งเป็นโรคที่มีความสลับซับซ้อนในการที่จะวินิจฉัย แพทย์จะต้องมีรายละเอียดเพียงพอจึงจะสามารถวินิจฉัยได้ ในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานนั้น แพทย์จะต้องแยกสาเหตุจากการทำงานออกจากสาเหตุการเกิดโรคอย่างอื่นๆ เสียก่อน ซึ่งจะทำได้ต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานที่มากเพียงพอ การซักประวัติการทำงานหรือการซักประวัติอาชีพนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในกระบวนการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน เมื่อนำข้อมูลประวัติที่ได้ มาประกอบกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แล้ว จึงจะทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคจากการทำงานได้ บทความนี้จะอธิบายถึงรายละเอียดของการซักประวัติในผู้ป่วยที่สงสัยโรคจากการทำงาน ประวัติที่แพทย์ควรสอบถามจากผู้ป่วย มีดังนี้

ประวัติทั่วไป

  1. เพศ มีความเกี่ยวข้องกับโรคจากการทำงานในบางประเด็น เช่น เพศชายมีแนวโน้มจะต้องทำงานใช้กำลังมากกว่า มีความเสี่ยงต่อโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูกมากกว่าเพศหญิง เพศหญิงมีโอกาสตั้งครรภ์ ซึ่งในระหว่างที่ตั้งครรภ์อาจมีความไวรับต่อสารเคมีบางชนิดมากกว่าช่วงปกติ
  2. อายุ อายุมากร่างกายไม่แข็งแรงเท่าอายุน้อย โอกาสเกิดโรคจากการทำงานใช้กำลัง หรือโรคจากการทำงานผิดท่าทาง ก็มากกว่า
  3. สถานภาพสมรส หากอยู่เป็นครอบครัว การทำงานบางอย่างอาจทำให้คนในบ้านเสี่ยงต่อโรคมากขึ้น เช่น โรงงานที่มีฝุ่นหิน (silica) ทำงานเสร็จแล้วอาจติดเสื้อผ้ากลับไปบ้าน มีการปนเปื้อน และทำให้คนในครอบครัวต้องสัมผัสฝุ่นหินเข้าไปด้วยได้
  4. ที่อยู่ตามบัตรประชาชนและที่อยู่ปัจจุบัน การสอบถามถึงที่อยู่และหมายเลขติดต่อ ทำเพื่อประโยชน์ในการติดต่อผู้ป่วยกลับในภายหลัง และยังมีประโยชน์ในการใช้วิเคราะห์โรคจากมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้ เช่น หากมีผู้ป่วยเป็นโรคเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกันหลายราย เป็นต้น
  5. ประวัติการศึกษา เป็นการบ่งบอกลักษณะงาน และความซับซ้อนของงานได้คร่าวๆ คนมีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะได้งานที่ต้องสัมผัสต่อสิ่งคุกคามทาง กายภาพ ชีวภาพ และสารเคมี น้อยกว่า
  6. ประวัติงานอดิเรก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคได้เช่นกัน เช่น มีงานอดิเรกชอบแต่งสีรถ พ่นสีรถ ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหอบหืดขึ้นได้

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต

  1. ประวัติการเจ็บป่วยและประวัติการบาดเจ็บในอดีต อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการทำงานเพิ่มขึ้นได้ เช่น เคยกระดูกหลังทรุดจากอุบัติเหตุรถชน เมื่อมาทำงานยกของหนักก็อาจจะปวดหลังได้ง่าย
  2. ประวัติโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง บางโรคอาจมีผลต่อการทำงาน เช่น เป็นโรคเบาหวาน ต้องกินยาเป็นเวลา เมื่อทำงานกะดึกจะทำให้กินยาตามเวลาไม่ได้ จึงคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น
  3. ประวัติการผ่าตัด บางกรณีอาจมีผลต่อการทำงาน เช่น เคยผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังมาก่อน เคยผ่าตัดใส่เหล็กที่กระดูกต้นขามาก่อน ความพร้อมในการทำงานยกของหนักจะลดลง
  4. ประวัติการได้รับวัคซีน การทำงานที่ต้องสัมผัสกับสิ่งคุกคามด้านชีวภาพ เช่น งานพยาบาล แพทย์ สัตวแพทย์ หากได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน โอกาสเกิดโรคติดเชื้อจากการทำงานก็จะน้อยลง
  5. ประวัติการรับประทานยาประจำ ยาบางอย่างอาจมีผลต่อการทำงาน เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาลดน้ำมูกบางชนิด ทำให้ง่วง ถ้าทำงานกับเครื่องจักรและของมีคม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้
  6. ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อตับ หากทำงานสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตับอยู่ด้วย เช่น ตัวทำละลายชนิดต่างๆ อาจทำให้เกิดตับเสื่อมเร็วขึ้น การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพองและมะเร็งปอด หากทำงานสัมผัสสารที่เป็นอันตรายต่อปอดร่วมด้วย เช่น แร่ใยหิน ฝุ่นหิน อาจทำให้ปอดเสียเร็วขึ้น

ประวัติอาชีพ

ประวัติอาชีพเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด และจะต้องทำการสอบถามให้ละเอียดที่สุด จึงจะช่วยในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานได้ การสอบถามแต่เพียงกลุ่มอาชีพ (job category) เช่น เกษตรกรรม รับจ้าง รับราชการ นั้นไม่ละเอียดเพียงพอที่จะใช้วินิจฉัยโรคจากการทำงาน การสอบถามเพียงชื่ออาชีพ (job title) เช่น ทหาร วิศวกร ครู ช่างไฟฟ้า ก็ยังไม่ละเอียดเพียงพอที่จะใช้วินิจฉัยโรคจากการทำงานได้ การถามประวัติอาชีพจะมีประโยชน์สูงก็ต่อเมื่อ ทำการถามละเอียดลงไปถึงระดับรายละเอียดของงาน (job description)

สิ่งที่ควรสอบถามหรือหาข้อมูลที่เกี่ยวกับอาชีพ มีดังนี้

  1. ชื่ออาชีพ (job title) เป็นอันดับแรกที่ต้องถาม คำถามที่ว่า “คุณประกอบอาชีพอะไร” หรือ “What is your occupation?” นี้ จะช่วยให้แพทย์เข้าใจสถานภาพทั่วไปของผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้ประเมินความเสี่ยงคร่าวๆ ได้ว่าผู้ป่วยน่าจะสัมผัสสิ่งคุกคามอะไรในงานบ้าง สามารถประเมินระดับการศึกษา สภาพความเป็นอยู่ เศรษฐานะ ของผู้ป่วยได้คร่าวๆ และทำให้แพทย์ประเมินได้ด้วยว่า จะสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างไรจึงจะเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่าย การถามประวัติอาชีพที่ดีนั้น ควรสอบถามทุกอาชีพตลอดช่วงชีวิตที่ผู้ป่วยทำมา (all lifetime job titles) เนื่องจากโรคจากการทำงานบางโรค เช่น ปอดฝุ่นหิน โรคมะเร็ง มีระยะก่อโรคยาวนานหลายปี การเกิดโรคอาจมีสาเหตุมาจากงานเดิมที่ผู้ป่วยทำ ไม่ใช่มาจากงานในปัจจุบันก็ได้
  2. ชื่อสถานประกอบการ (name of workplace) เพื่อให้สามารถติดต่อกับสถานประกอบการในกรณีที่จำเป็นต้องถามข้อมูลเพิ่มเติมจากทางสถานประกอบการได้ ควรสอบถามเบอร์โทรศัพท์ พร้อมทั้งชื่อหัวหน้างาน หรือเจ้าหน้าที่คนที่จะให้ติดต่อไว้ด้วย ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการถามชื่อสถานประกอบการคือ ในกรณีที่มีผู้ป่วยโรคเดียวกัน ทำงานอยู่ที่เดียวกัน มารักษาตัวจำนวนมาก อาจบ่งชี้ถึงความไม่ปลอดภัย เพราะมีสิ่งคุกคามอันตรายบางอย่างในที่ทำงานนั้นอยู่
  3. ลักษณะการทำงาน (job description) เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องถาม การให้ผู้ป่วยอธิบายลักษณะการทำงานของตนเองโดยละเอียด ตั้งแต่ขั้นตอนการทำงาน ทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร ใช้สารเคมีอะไร ทำร่วมกับใคร สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นอย่างไร ในแต่ละวันทำงานกี่อย่าง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่า โรคที่เกิดขึ้นมีโอกาสที่จะเป็นโรคจากการทำงานได้หรือไม่ การถามรายละเอียดการทำงานยังช่วยให้ประเมินได้ว่า ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในงานที่ตนเองทำมากน้อยเพียงใดด้วย บ่อยครั้งที่พบว่า ผู้ป่วยที่ทำงานในสายการผลิตประกอบชิ้นส่วน ไม่ทราบว่าชิ้นส่วนที่ตนเองประกอบนั้นเอาไปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อะไร หรือคนที่ทำงานกับสารเคมี บางครั้งก็อาจไม่ทราบว่าสารเคมีที่ตนเองสูดดมอยู่ทุกวันนั้น มีชื่อว่าอะไร อย่างนี้เป็นต้น
  4. สิ่งคุกคาม (hazard) ในการถามรายละเอียดลักษณะการทำงานนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ต้องประเมินให้ได้ว่าสิ่งคุกคามที่ผู้ป่วยสัมผัสน่าจะเป็นอะไร กรณีของเสียงดัง แสงจ้า อากาศร้อน ผู้ป่วยอาจบอกได้ชัดเจน แต่กรณีของสารเคมี แพทย์มักต้องใช้ประสบการณ์ของตนเองคาดการณ์ร่วมด้วย แพทย์ที่มีประสบการณ์จะสามารถถามคำถามอันเป็นประโยชน์ ซึ่งพอทำให้คาดการณ์ได้ว่า สารเคมีที่ผู้ป่วยสัมผัสนั้นน่าจะเป็นสารอะไร เช่น คนทำงานในโรงงานทำน้ำแข็ง วันหนึ่งได้รับกลิ่นฉุนแสบจมูกรุนแรงขึ้นมา จากนั้นช่างก็รีบเข้ามาซ่อมระบบทำความเย็นในโรงงาน หากได้ประวัติเช่นนี้ แพทย์ที่มีประสบการณ์ก็พอจะประเมินได้แล้วว่า ผู้ป่วยน่าจะประสบกับเหตุการณ์แก๊สแอมโมเนียรั่ว
  5. ลักษณะการสัมผัส (exposure) ควรสอบถามให้ชัดเจนว่า สิ่งคุกคามที่สัมผัสนั้น ผู้ป่วยสัมผัสอย่างไร ช่องทางการสัมผัสคือช่องทางใด จากการหายใจ การดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง หรือการกิน ถ้าเป็นสารเคมี มีปริมาณการใช้มากน้อยเพียงใด มีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด การสัมผัสเกิดขึ้นนานเพียงใด ทำทั้งวันหรือทำแค่วันละไม่กี่นาที รายละเอียดจะได้มากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในงานของตนเองของผู้ป่วยด้วย
  6. ระยะเวลาที่ทำงาน (duration) ในหนึ่งวันทำการสัมผัสกับสิ่งคุกคามนานเพียงใด กี่ชั่วโมง กี่นาที หรือกี่ครั้ง หากเป็นงานกะ ทำกะเช้าหรือกะดึก ระยะเวลาต่อกะนานกี่ชั่วโมง มีการควงกะ (การอยู่กะติดกันเพื่อให้ได้รับค่าแรงมากขึ้น) บ้างหรือไม่ มีการทำงานนอกเวลาบ้างหรือไม่ มีการมาทำงานในวันหยุดบ้างหรือไม่ การถามประวัติในข้อนี้จะทำให้แพทย์ประเมินได้ว่าการสัมผัสต่อสิ่งคุกคามนั้น น่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคได้มากน้อยเพียงใด
  7. ปีที่เริ่มทำงานและเลิกทำงาน (start and stop years) ควรสอบถามปีที่เข้าทำงานและเลิกทำงานสำหรับทุกอาชีพตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มต้นเข้าทำงาน (ถ้าสามารถทำได้) เพราะจะมีประโยชน์ในการประเมินระยะเวลาการสัมผัสสิ่งคุกคาม และเป็นประโยชน์กับการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่เริ่มสัมผัสสิ่งคุกคามกับระยะเวลาที่เริ่มป่วยเป็นโรค (onset of disease) การสัมผัสสิ่งคุกคามก่อโรค จะต้องเกิดขึ้นก่อนการเริ่มป่วยเป็นโรคเสมอ
  8. อุปกรณ์ป้องกันอันตราย (personal protective equipment; PPE) การสอบถามถึงปัจจัยประกอบ ในการที่ผู้ป่วยจะสัมผัสสิ่งคุกคามมากขึ้นหรือน้อยลง ก็นับว่าเป็นตัวช่วยบอกโอกาสในการเกิดโรคได้ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลคือ การใส่หรือไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หากมีการใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย อุปกรณ์ที่ใส่มีความเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ในเรื่องการปฏิบัติตัวตามหลักความปลอดภัยในการทำงาน และหลักสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น การล้างมือหลังจากสัมผัสสารเคมี การล้างมือก่อนกินข้าว การไม่สูบบุหรี่ในที่ทำงาน การไม่กินข้าวในพื้นที่ทำงาน การอาบน้ำก่อนกลับบ้านในคนทำงานกับสารเคมี ก็จัดว่ามีประโยชน์ในการประเมินระดับการสัมผัสสิ่งคุกคามเช่นกัน
  9. เอกสารความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี (safety data sheet; SDS) หากผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีที่ตนเองทำงานเพียงพอ สามารถบอกชื่อสารเคมีที่ตนเองสัมผัสได้ การค้นหาเอกสารความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีจากฐานข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ก็จะช่วยให้แพทย์เข้าใจถึงพิษของสารเคมีที่ผู้ป่วยทำงานอยู่ด้วยมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยทำงานกับสารเคมีที่ใช้ไม่บ่อยในโรงงานทั่วไป และแพทย์ไม่มีความคุ้นเคยกับพิษภัยของสารเคมีนั้น ในโรงงานที่มีมาตรฐานมักมีการจัดเตรียมเอกสารความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีทุกชนิดที่มีในโรงงานไว้ หากจำเป็น แพทย์อาจติดต่อขอเอกสารนี้จากฝ่ายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของโรงงานก็ได้
  10. การสอบถามข้อมูลจากนายจ้าง (information from employer) หากนายจ้างเป็นผู้ส่งตัวผู้ป่วยมาตรวจวินิจฉัย หรือนายจ้างให้ความร่วมมือเพียงพอ แพทย์อาจโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลจากนายจ้างเพิ่มเติมด้วยก็ได้ การสอบถามข้อมูลอาจถามจากตัวนายจ้างเอง ผู้บริหาร หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของโรงงาน แล้วแต่ความเหมาะสม การสอบถามข้อมูลจากฝ่ายนายจ้างนี้ มีข้อดีเพราะจะทำให้แพทย์ได้รับข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย ทำให้ประเมินปัญหาได้อย่างเป็นกลางมากขึ้น และในกรณีที่ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในงานของตนเองไม่มากนัก เช่น ไม่รู้ว่าทำงานกับสารเคมีอะไร เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ของโรงงาน เช่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ อาจสามารถบอกข้อมูลที่ชัดเจนกว่าให้แก่แพทย์ได้
  11. ฐานข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ (computer database) ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีความรู้ความเข้าใจในงานของตนเอง ทำให้บอกข้อมูลแก่แพทย์ไม่ได้ชัดเจน และเมื่อติดต่อไปทางนายจ้างแล้ว ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายนายจ้างในการให้ข้อมูลที่เพียงพอเช่นกัน แพทย์อาจต้องใช้การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมีอยู่มากมาย ทั้งฐานข้อมูลเกี่ยวกับพิษของสารเคมี ฐานข้อมูลรายละเอียดกระบวนการผลิตในโรงงานประเภทต่างๆ ฐานข้อมูลเอกสารความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี ฐานข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรค ฐานข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์มีข้อมูลเพิ่มเติม สามารถประเมินปัญหาของผู้ป่วยได้อย่างรอบคอบขึ้น อีกกรณีหนึ่งที่อาจต้องมีการใช้ฐานข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ คือในกรณีที่สถานประกอบการ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพให้กับคนทำงานในสถานประกอบการนั้นๆ มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานและการเจ็บป่วยของคนทำงานไว้ในฐานข้อมูลเฉพาะ หากได้รับความร่วมมือและไม่เป็นการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล การสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลในลักษณะนี้อาจมีส่วนช่วยให้เข้าใจประวัติการทำงานและประวัติสุขภาพในอดีตของผู้ป่วยได้มากขึ้น
  12. การเดินสำรวจโรงงาน (walkthrough survey) หากสามารถร้องขอทางฝ่ายนายจ้างเพื่อเข้าไปสำรวจดูการทำงานในสถานที่จริงของผู้ป่วยได้ ก็จะเป็นการเก็บข้อมูลการทำงานที่ชัดเจนที่สุด การเข้าไปสำรวจโรงงานนี้ สำหรับในประเทศไทย แพทย์จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากทางฝ่ายนายจ้างแล้วเท่านั้น หรือหากเป็นการวินิจฉัยโรคจากการทำงานที่เกิดเป็นกรณีพิพาท แพทย์อาจได้รับเชิญไปเดินสำรวจในฐานะที่ปรึกษาของพนักงานตรวจแรงงานผู้มีอำนาจก็ได้ การเดินสำรวจจะช่วยให้แพทย์ได้เห็นการสัมผัสสิ่งคุกคามในสถานการณ์จริง ทำให้เข้าใจปัญหาและสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของโรคได้ชัดเจนขึ้น

การซักประวัติการทำงานดังที่กล่าวมา หากเก็บข้อมูลได้ละเอียดเพียงพอ ก็จะสามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคจากการทำงานได้เป็นอย่างดี นอกจากการซักประวัติการทำงานแล้ว แพทย์ยังต้องอาศัยผลจากการตรวจร่างกาย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ข้อมูลทางระบาดวิทยา มาเป็นส่วนสนับสนุนการวินิจฉัยโรคจากการทำงานด้วย

หนังสืออ้างอิง

  1. Harrison RJ, Mulloy KB. The occupational & environmental medical history. In: LaDou J, Harrison RJ, editors. Current occupational and environmental medicine. 5th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2014. p. 26-31.
  2. Parker JE. The occupational and environmental history and examination. In: Rom WN, Markovitz SB, editors. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007. p. 22-31.