ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย พญ.จุฑารัตน์ จิโน

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ (health risk assessment; HRA) คือการวิเคราะห์ “โอกาส” ที่สิ่งคุกคาม (hazard) ในสิ่งแวดล้อม จะก่อผลกระทบด้านสุขภาพให้แก่ประชากรที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น ในกรณีของงานอาชีวเวชศาสตร์ สิ่งแวดล้อมเราที่สนใจก็คือ “สิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน” และประชากรที่เราสนใจก็คือ “คนทำงาน” นั่นเอง

การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพหากทำโดยละเอียดแล้ว จะเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนชัดเจน มีการใช้หลักการทางคณิตศาสตร์และวิชาความน่าจะเป็น มาทำนายระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ผลของการประเมินที่ได้จะทำให้ทราบว่าความเสี่ยงนั้นมีมากหรือน้อยเพียงใด เนื้อหาในบทความนี้ จะกล่าวถึงขั้นตอนของการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพโดยย่อ ว่ามีหลักการดำเนินการอย่างไรบ้าง

หากจะกล่าวไปแล้ว การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) นั้น จัดเป็นกระบวนการย่อยหนึ่งของการวิเคราะห์ความเสี่ยง (risk analysis) ซึ่งจะประกอบไปด้วยกระบวนการย่อย 3 กระบวนการ ได้แก่ (1) การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) คือการที่จะบอกให้ได้ว่าความเสี่ยงนั้นมีมากหรือน้อย ทั้งในแง่ของโอกาสที่จะเกิด รวมถึงความรุนแรงหากเกิดผลกระทบขึ้น (2) การจัดการความเสี่ยง (risk management) คือการพิจารณา เลือกวิธีการที่เหมาะสม และดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง (3) การสื่อสารความเสี่ยง (risk communication) คือการให้ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้อง ว่าความเสี่ยงนั้นรุนแรงมากน้อยเพียงใด ต้องให้ความสำคัญ หรือไม่จำเป็นจะต้องตื่นตระหนก โดยการให้ข้อมูลต้องตรงกับความเป็นจริง

ในปี ค.ศ. 1983 องค์กร National Research Council แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพไว้เป็น 4 ขั้นตอน ซึ่งลำดับขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยงแบบนี้ ได้รับการยอมรับในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง การดำเนินการแต่ละขั้นตอน มีดังนี้

1. การบ่งชี้สิ่งคุกคาม (hazard identification)

คือขั้นตอนในการบ่งชี้ว่าสิ่งใดหรือสภาวะใดเป็นปัจจัยคุกคามต่อสุขภาพ นั่นคือ หากมนุษย์สัมผัสสิ่งนั้นหรือสภาวะนั้น แล้วจะก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพขึ้นได้ การบ่งชี้สิ่งคุกคาม เป็นการตอบคำถามว่า สิ่งหรือสภาพการณ์ที่เราพิจารณา เป็นสิ่งคุกคามต่อสุขภาพจริงหรือไม่ และถ้าเป็นจริงแล้ว ทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพอะไรได้บ้าง

2 . การประเมินขนาดการสัมผัสกับผลกระทบที่เกิดขึ้น (dose-response assessment)

เป็นขั้นตอนการประเมินว่าในการสัมผัสสิ่งคุกคามนั้น ขนาดการสัมผัส (dose) ในแต่ละระดับ จะทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพขึ้นมากน้อยเพียงใด ขั้นตอนนี้จะทำให้ทราบว่าสิ่งคุกคามที่เราพิจารณานั้น มีความรุนแรงหรือมีความสามารถในการก่อผลกระทบต่อสุขภาพได้มากแค่ไหน และทำให้พอทราบว่าการสัมผัสสิ่งคุกคามในขนาดเท่าใดที่น่าจะเป็นระดับที่ปลอดภัย ระดับที่จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเกิดขึ้น หรือระดับที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน

3 . การประเมินการสัมผัส (exposure assessment)

คือการประเมินระดับการสัมผัสที่แต่ละบุคคล กลุ่มประชากร หรือทั้งระบบนิเวศน์ได้รับ ว่ามากหรือน้อยเพียงใด โดยคำนึงถึงขนาดการสัมผัส (dose) ระยะเวลาที่สัมผัส (duration) ช่องทางการสัมผัส (route of exposure) เช่น ทางการหายใจ ทางผิวหนัง ทางการกิน และเส้นทางการฟุ้งกระจายของสิ่งคุกคามจากสิ่งแวดล้อมผ่านตัวกลาง (media) ต่างๆ เช่น อากาศ น้ำ อาหาร มาสู่มนุษย์ การประเมินการสัมผัสนี้ จะทำให้ทราบว่าสิ่งคุกคามที่พิจารณา มีโอกาสสัมผัสเข้ามาในร่างกาย ผ่านตัวกลางและช่องทางการสัมผัสต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด ผลของการประเมินการสัมผัสในขั้นตอนนี้ จะได้เป็นตัวเลขปริมาณของสิ่งคุกคามต่อน้ำหนักร่างกายต่อเวลา ซึ่งจะนำไปใช้ในการคำนวณในขั้นตอนต่อไป

4. การอธิบายลักษณะของความเสี่ยง (risk characterization)

คือขั้นตอนการวิเคราะห์ โดยใช้ข้อมูลจากทั้ง 3 ขั้นตอนก่อนหน้า นำมาประเมินว่าการสัมผัสสิ่งคุกคามในสภาวะที่พิจารณานั้น ถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด ในขั้นตอนนี้จะทำโดยใช้สมการคำนวณทางคณิตศาสตร์ คำนวณหาความน่าจะเป็นที่สิ่งคุกคามที่พิจารณาจะเริ่มก่อผลกระทบต่อสุขภาพในกลุ่มประชากรที่สนใจได้ ข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณก็คือข้อมูลที่ได้จากการประเมินใน 3 ขั้นตอนก่อนหน้า รวมเข้ากับปัจจัยความไม่แน่นอน (uncertainty factor) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประเมิน ผลที่ได้จากการคำนวณมักได้เป็นค่าตัวเลขที่บอกระดับของขนาดการสัมผัสสิ่งคุกคามที่น่าจะปลอดภัย คือเป็นระดับที่น่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพต่อกลุ่มประชากรที่พิจารณา

ในทางอาชีวเวชศาสตร์ ค่าระดับที่น่าจะปลอดภัยที่ได้จากกระบวนการประเมินความเสี่ยงนี้ เมื่อนำมาประเมินความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ร่วมกับการพิจารณาในเชิงนโยบาย จะทำให้องค์กรผู้มีอำนาจออกกฎหมาย และองค์กรด้านวิชาการ สามารถนำมาใช้กำหนดค่าที่เรียกกันว่า Occupational exposure limit (OEL) มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย (กรณีองค์กรผู้มีอำนาจออกกฎหมาย) หรือเป็นคำแนะนำทางวิชาการ (กรณีองค์กรด้านวิชาการ) เพื่อให้สถานประกอบการต่างๆ ได้ใช้อ้างอิง เพื่อควบคุมไม่ให้ระดับของสิ่งคุกคามในสิ่งแวดล้อมการทำงานสูงเกินกว่าระดับที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของคนทำงาน ตัวอย่างของค่า OEL เช่น ค่า Permissible exposure limit (PEL) ที่กำหนดโดยองค์กร Occupational Safety and Health Administration (OSHA) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

เมื่อมีการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาก็คือการจัดการความเสี่ยง (risk management) ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินการจัดการความเสี่ยงนั้นมักเป็นผู้นำชุมชนหรือผู้บริหารขององค์กร กระบวนการจัดการความเสี่ยงที่ดีจะต้องเลือกวิธีการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม และดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย

อีกกระบวนการหนึ่งที่ต้องกระทำไปควบคู่กับการจัดการความเสี่ยง คือการสื่อสารความเสี่ยง (risk communication) เป็นกระบวนการที่ทำเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงนั้นมากขึ้น ซึ่งบุคคลสำคัญที่จำเป็นต้องทำการสื่อสารความเสี่ยงให้เข้าใจเป็นอันดับแรกก็คือผู้นำชุมชนหรือบริหารที่มีอำนาจตัดสินใจในการจัดการความเสี่ยงนั้นได้ นอกจากนี้ ยังอาจต้องสื่อสารความเสี่ยงไปยังสาธารณะชน หรือบุคคลที่ได้รับความเสี่ยงนั้นด้วย การนำเสนอข้อมูลเพื่อสื่อสารความเสี่ยงนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ข้อมูลวิชาการที่สื่อสารต้องตรงกับความเป็นจริง ต้องทำให้เกิดความตระหนักรู้ในอันตรายที่อาจเกิดจากความเสี่ยงนั้น แต่ก็ต้องไม่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกินไป และต้องทำให้ผู้ที่ได้รับความเสี่ยงนั้นมีความรู้ สามารถดูแลตัวเอง รับมือกับความเสี่ยงนั้นได้

หนังสืออ้างอิง

  1. National Research Council. Risk assessment in the federal government: Managing the process. Washington, D.C.: National Academy Press; 1983.
  2. พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช. การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ. นนทบุรี: ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2547.
  3. DiBartolomeis MJ. Health risk assessment. In: LaDou J, Harrison RJ, editors. Current occupational and environmental medicine. 5th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2014. p. 827-41.
  4. Hammitt JK. Risk assessment and economic evaluation. In: Rom WN, Markovitz SB, editors. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007. p. 1696-711.