อันตรายจากตัวทำละลายแนฟทา (Solvent Naphtha)

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 19 กรกฎาคม 2559


สำหรับผู้ที่ทำงานในวงการอาชีวอนามัยนั้น บ่อยครั้งเมื่อไปสำรวจสถานประกอบการจะพบว่ามีการใช้ตัวทำละลายแนฟทา (Solvent naphtha) หรือสารในกลุ่มใกล้เคียงเป็นสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต ผู้เรียบเรียงได้รับคำถามจากสถานประกอบการและคนทำงานอยู่บ่อยๆ ว่า ตัวทำละลายแนฟทาหรือสารในกลุ่มใกล้เคียงนี้มีอันตรายต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง และจะทำงานโดยใช้มันให้ปลอดภัยได้อย่างไร จึงได้เรียบเรียงบทความนี้ขึ้นเพื่อให้ได้รู้จักกับสารเคมีกลุ่มนี้กันมากขึ้นครับ

นิยามของตัวทำละลายแนฟทา

ตัวทำละลายแนฟทา (Solvent naphtha หรือ Petroleum naphtha) และสารในกลุ่มใกล้เคียง ที่อาจพบเขียนชื่อไว้บนฉลากหรือใน Safety Data Sheet (SDS) ว่า White spirit, Mineral spirit, Petroleum spirit, Mineral turpentine, Turpentine substitute, Stoddard solvent, Varsol 1, Texsolve S สารเคมีเหล่านี้เป็นสารเคมีในกลุ่มตัวทำละลาย (Solvent) ที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (Petroleum product) มีลักษณะเป็นสารผสม (Mixture) ซึ่งมีสัดส่วนไม่แน่นอนคงที่ โดยจะเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ที่มีคาร์บอนในช่วง 7 – 12 อะตอมในโมเลกุล (เรียกย่อๆ ว่า C7 – C12) เป็นองค์ประกอบหลัก

สารเคมีกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนแต่ละชนิดไม่แน่นอนคงที่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของน้ำมันดิบ (Crude oil) ที่นำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต เนื่องจากน้ำมันดิบในแต่ละแหล่งของโลกมีองค์ประกอบของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (รวมถึงสารปนเปื้อน) ที่แตกต่างกัน ทำให้สัดส่วนของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (รวมถึงสารปนเปื้อน) ที่ได้มามีความแตกต่างกันไปด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วตัวทำละลายแนฟทาและสารเคมีในกลุ่มใกล้เคียงนี้ จะมีส่วนประกอบเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอะลิฟาติก (Aliphatic) [คือชนิดที่โมเลกุลเป็นสายยาว] กับอะลิไซคลิก (Alicyclic) [คือชนิดที่โมเลกุลเป็นวง แต่ไม่ใช่วงเบนซีน] เป็นองค์ประกอบหลัก ประมาณร้อยละ 80 – 85 % [1] แต่จะมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอะโรมาติก (Aromatic) [คือชนิดที่มีวงเบนซีนอยู่ในโมเลกุล] ปะปนอยู่ด้วยในสัดส่วนไม่เกิน 20 % [2]

เนื่องจากตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียง เป็นสารเคมีที่มีวัตถุประสงค์จะนำมาใช้ในการทำงานช่างหรืองานอุตสาหกรรม ในกระบวนการผลิตจึงมักมีการกำจัดเอาสารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ออกไปเสียก่อน เช่นการผ่านกระบวนการกำจัดเอากำมะถัน (Desulfurization) ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำมันดิบออกไป หรือในบางกรณีจะผ่านกระบวนการทำให้อิ่มตัวด้วยไฮโดรเจน (Hydrogenation) เพื่อลดจำนวนสารประกอบไฮโดรคาร์บอนพันธะคู่และพันธะสาม ซึ่งมักมีความเป็นพิษมากกว่าสารประกอบไฮโดรคาร์บอนพันธะเดี่ยว

สารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ในน้ำมันปิโตรเลียมอีกสารหนึ่งคือเบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอน 6 โมเลกุลจับกันเป็นวง (C6) เนื่องจากสารเบนซีนนี้ก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ในมนุษย์ [3] การผลิตตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียงจึงมักจำกัดสัดส่วนของเบนซีนเอาไว้ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมักมีสัดส่วนของสารเบนซีนอยู่ไม่เกิน 0.1 % เสมอ [1,4]

ต่อมาจะขอขยายความหมายของตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียงแต่ละชนิดเพิ่มเติมสักเล็กน้อย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าสารในกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมกันคือเป็นตัวทำละลายที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน โดยมีองค์ประกอบเป็นสารผสม ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในช่วง C7 – C12 เป็นหลัก แต่รายละเอียดของคำเรียกสารแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนี้

(หมายเหตุ: รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับนิยามของสารเคมีในกลุ่มนี้แต่ละชนิดจริงๆ มีความสลับซับซ้อนมาก การเรียกชื่อและกำหนดนิยามของสารเคมีในกลุ่มนี้แต่ละชนิดก็มีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่ แตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูล ผู้เรียบเรียงจึงไม่ขอกล่าวรายละเอียดทั้งหมดไว้ ณ ที่นี้ หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถหาอ่านได้จากตำราทางด้านปิโตรเคมี หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านปิโตรเคมีที่รู้จัก)

Solvent naphtha หรือ Petroleum naphtha จริงๆ คำๆ นี้ในวงการปิโตรเคมีจะไว้ใช้เรียกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นตัวกลาง (Intermediate) ในกระบวนการกลั่นน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งจะใช้เรียกเมื่อได้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนในรูปของเหลวที่อยู่ในช่วง C5 – C10 โดยประมาณ และมักผ่านกระบวนการกำจัดเอากำมะถันออก (Desulfurization) และการเพิ่มค่าออกเทน (Catalytic reforming) แล้ว สารประกอบไฮโดรคาร์บอนในช่วง Solvent naphtha นี้เมื่อจบกระบวนการกลั่นแล้วจะไปเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งในน้ำมันสำหรับเติมรถยนต์ (Gasoline) ในที่สุด และโดยทั่วไปจะมีการแบ่งสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในช่วง Solvent naphtha ออกตามจุดเดือดและจำนวนอะตอมของคาร์บอนในโมเลกุลเป็น Light naphtha กับ Heavy naphtha ด้วย

แม้ว่าคำว่า Solvent naphtha จะเป็นคำที่ใช้เรียกช่วงของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในกระบวนการกลั่นน้ำมันเป็นหลัก แต่ผู้ผลิตบางรายก็จะนำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในช่วงนี้มาแยกบรรจุขาย เพื่อนำไปใช้เป็นตัวทำละลายในงานช่างหรืองานอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน

White spirit หรือ Mineral spirit คำว่า White spirit หรือ Mineral spirit ในที่นี้หมายถึงสารผสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันเช่นกัน [ระวังสับสน...ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสุราสปิริต (Spirit) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง] คำว่า White spirit กับ Mineral spirit นั้นใช้เรียกสารผสมตัวเดียวกัน ต่างกันตรงที่คำว่า White spirit เป็นคำที่นิยมใช้เรียกในสหราชอาณาจักร ส่วนคำว่า Mineral spirit เป็นคำที่นิยมใช้เรียกในสหรัฐอเมริกา

White spirit เกิดจากการนำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในช่วงของ Solvent naphtha มาผ่านกระบวนการกำจัดสารปนเปื้อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในงานช่างหรืองานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึง White spirit แล้ว เชื่อได้ว่ามักจะมีความบริสุทธิ์มากกว่า (คือมีสารปนเปื้อนต่างๆ น้อยกว่า) Solvent naphtha

มีการแบ่ง White spirit ออกเป็นกลุ่มตามการผ่านกระบวนการกำจัดสารที่เป็นอันตรายออกจากน้อยไปมาก ได้แก่ Type 0 คือไม่ได้ผ่านกระบวนการใดๆ เป็นพิเศษเลย (ซึ่งมองในมุมหนึ่ง Type 0 ก็คือ Solvent naphtha นั่นเอง [5]), Type 1 คือผ่านกระบวนการกำจัดเอากำมะถันออก (Desulfurization), Type 2 คือผ่านกระบวนการสกัดตัวทำละลาย (Solvent extraction), และ Type 3 คือผ่านกระบวนการทำให้อิ่มตัวด้วยไฮโดรเจน (Hydrogenation) [6] White spirit ชนิด Type 3 จะมีความบริสุทธิ์มากที่สุด โดยปกติจะเหลือสัดส่วนของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอะโรมาติกอยู่ไม่ถึง 1 % [6] ส่วน White spirit ชนิด Type 2 จะมีสัดส่วนของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอะโรมาติกอยู่ไม่เกิน 5 % [6] นอกจากจะมีการแบ่งกลุ่มตามความบริสุทธิ์แล้ว ในแต่ละกลุ่มยังมีการแบ่งเกรด (Grade) ของ White spirit ออกตามระดับความสามารถในการติดไฟด้วย คือ Low flash grade มีจุดวาบไฟอยู่ที่ 21 – 30 องศาเซลเซียส, Regular flash grade มีจุดวาบไฟอยู่ที่ 31 – 54 องศาเซลเซียส, และ High flash grade มีจุดวาบไฟอยู่ที่ 55 องศาเซลเซียสขึ้นไป [7]

องค์ประกอบที่เฉพาะเจาะจงของ White spirit จากแต่ละบริษัทผู้ผลิตนั้นไม่แน่นอน ขึ้นกับชนิดของน้ำมันดิบที่นำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต กระบวนการกำจัดสารที่เป็นอันตรายออก และสูตรเฉพาะในการผลิตของบริษัทผู้ผลิตแต่ละรายด้วย

Stoddard solvent คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกสารผสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันเช่นกัน โดยอาจพบมีการเรียกตามชื่อทางการค้าคือ Varsol 1 หรือ Texsolve S ก็ได้ วัตถุประสงค์ของการผลิต Stoddard solvent แต่ดั้งเดิมนั้น ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นน้ำยาซักแห้ง (Dry cleaning) ที่ไม่มีกลิ่นฉุนเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา Stoddard solvent ก็ถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในงานช่างหรืองานอุตสาหกรรมทั่วไปด้วย [2]

โดยปกติแล้ว Stoddard solvent ที่ดีต้องใส และไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นฉุนแบบน้ำมันก๊าดอยู่เพียงเล็กน้อย ความบริสุทธิ์ของ Stoddard solvent นั้น เทียบเท่าได้กับ White spirit ชนิด Type 1 คือชนิดที่ผ่านกระบวนการกำจัดเอากำมะถันออก (Desulfurization) [1,4]

Turpentine substitute คำว่า Turpentine substitute นั้น ในบางความหมายอาจจะหมายถึง White spirit โดยตรงเลยก็ได้ แต่ในบางความหมายก็อาจจะหมายถึง White spirit ที่ไม่ได้มาตรฐาน (เกรดต่ำ) เช่น ใช้เพื่อเช็ดทำความสะอาดทั่วไปได้ แต่ใช้ผสมสีทาจะไม่ค่อยดีเนื่องจากระเหยได้ช้า หรือใช้ลบคราบสกปรกบนเสื้อผ้าไม่ดีเนื่องจากจะทิ้งคราบมันเอาไว้

จะเห็นได้ว่าความหมายในรายละเอียดของสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกันและเหลื่อมซ้อนกันอยู่ แต่เนื่องจากทั้งหมดมีคุณสมบัติร่วมคือเป็นตัวทำละลายที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน โดยมีองค์ประกอบเป็นสารผสม ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอะลิฟาติกและอะลิไซคลิกในช่วง C7 – C12 เป็นหลัก และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในงานช่างหรืองานอุตสาหกรรมเหมือนกัน ดังนั้นในการกล่าวถึงการนำมาใช้ประโยชน์ ผลเสียต่อสุขภาพ และการป้องกันตนเองเมื่อต้องทำงานกับสารกลุ่มนี้ ผู้เรียบเรียงจะขอกล่าวรวมกันไปทั้งหมด

สำหรับลักษณะทางกายภาพของตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียง มักจะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี หรืออาจมีสีเหลืองใส มีกลิ่นฉุนเหมือนกลิ่นน้ำมันก๊าด (มากหรือน้อยขึ้นกับชนิด) ระเหยง่าย (มากหรือน้อยขึ้นกับชนิด) และติดไฟง่าย (มากหรือน้อยขึ้นกับชนิด)

เนื่องจากสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทานี้เป็นสารผสม เมื่อท่านอ่าน Safety Data Sheet (SDS) ของสารเคมีกลุ่มนี้ จะพบว่าบริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุแจกแจงได้ว่ามีส่วนประกอบของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นสารบริสุทธิ์แต่ละชนิดอยู่เท่าใด ในบางกรณีท่านอาจพบว่าไม่มีการระบุแจกแจงใดๆ ไว้เลย หรือบางกรณีมีการระบุแจกแจงไว้เพียงว่ามีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนแต่ละกลุ่มในสัดส่วนเท่าใด (เช่น มีสารประกอบอะลิฟาติก, อะลิไซคลิก, และอะโรมาติกอยู่ในสัดส่วนเท่าใด) บางกรณีจะมีการระบุแจกแจงสัดส่วนของสารบริสุทธิ์เพียงบางชนิดที่มีสัดส่วนมากๆ เอาไว้ให้ กรณีของ White spirit หากมีการระบุ Type ของ White spirit นั้นไว้ (Type 0, 1, 2, 3) ก็จะเป็นข้อมูลที่พอช่วยบอกความบริสุทธิ์ของ White spirit ชนิดนั้นๆ ได้ บริษัทผู้ผลิตบางรายอาจบอกสัดส่วนของสารอันตราย เช่น เบนซีน (Benzene) และกำมะถัน (Sulfur) ที่มีอยู่ในตัวทำละลายแนฟทาชนิดนั้นไว้ให้ หรือในบางกรณีอาจบอกไว้เพียงว่ามีเบนซีนและกำมะถันอยู่ด้วยแต่ไม่มีการระบุสัดส่วนไว้

การนำมาใช้ประโยชน์

ตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียง ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นตัวทำละลายในงานช่างและงานอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น ใช้เป็นทินเนอร์ (Thinner) ผสมในสีทาบ้าน (Paint) น้ำมันชักเงา (Lacquer) และน้ำมันวานิช (Varnish), ใช้ล้างคราบมัน (Degreasing) ในการทำความสะอาดเครื่องจักรหรือทำความสะอาดชิ้นงานโลหะในงานอุตสาหกรรม, ใช้ล้างทำความสะอาดชิ้นส่วนรถยนต์, ใช้ผสมกับน้ำมันตัด (Cutting oil) เพื่อเป็นสารหล่อเย็นในงานตัดเจาะโลหะ, ใช้ในการซักแห้ง (Dry cleaning), ใช้ผสมสีน้ำมันเพื่อวาดภาพสำหรับจิตรกร, ใช้ผสมในหมึกสำหรับเครื่องถ่ายเอกสาร, ใช้เป็นตัวล้างทำความสะอาดหมึกพิมพ์ในงานพิมพ์, ใช้ผสมกับยางมะตอย (Asphalt) เพื่อลดความข้นเหนียว

สำหรับการใช้ตามบ้าน มีการนำตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียงที่แบ่งบรรจุขายมาใช้เป็นน้ำยาทำความสะอาดคราบสี, ใช้เป็นตัวเริ่มจุดไฟสำหรับเตาถ่าน, และใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาและตะเกียงบางชนิด

อันตรายต่อสุขภาพและการป้องกันเมื่อต้องใช้สารเคมีชนิดนี้

ในการกล่าวถึงอันตรายต่อสุขภาพและการป้องกันอันตรายเมื่อต้องทำงานกับตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียง (White spirit, Stoddard solvent, Turpentine substitute) ผู้เรียบเรียงจะกล่าวรวมกันไปทั้งกลุ่ม เนื่องจากสารในกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมทางเคมีที่เหมือนกัน ในภาพรวมทำให้เกิดอาการพิษในลักษณะเดียวกัน และมีวิธีการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพที่เหมือนกันด้วย

ตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียงสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางช่องทางหลัก 3 ช่องทาง คือทางการหายใจ (Inhalation), ทางการกิน (Ingestion), และการสัมผัสทางผิวหนัง (Skin absorption) เช่นเดียวกับตัวทำละลายอื่นๆ ทั่วไป การรับสัมผัสในขนาด (Dose) ที่สูงมีโอกาสก่อให้เกิดพิษได้มาก ในขณะที่การรับสัมผัสในขนาดที่ต่ำ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่น้อยกว่า

อันตรายต่อสุขภาพอย่างแรกในการทำงานกับตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียงคืออันตรายจากการถูกไฟไหม้ เนื่องจากสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาเป็นสารไวไฟ การป้องกันอันตรายโดยงดกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดประกายไฟเมื่อทำงานกับสารเคมีในกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ การจัดเตรียมระบบดับเพลิงหากต้องทำงานกับสารเคมีในกลุ่มนี้ในปริมาณมากๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน

อันตรายต่อสุขภาพต่อมาคือผลจากการสัมผัสทางผิวหนัง โดยทั่วไปแล้วถือว่าสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาเป็นสารที่ก่อความระคายเคือง (Irritant) แต่ฤทธิ์ระคายเคืองมักจะไม่สูงมาก หากสัมผัสโดนผิวหนังเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังเพียงเล็กน้อยหรือไม่เกิดอาการเลย แต่หากต้องทำงานกับสารเคมีกลุ่มนี้โดยสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองจนเป็นผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง (Irritant contact dermatitis) ได้ หากต้องทำงานโดยผิวหนังสัมผัสกับสารเคมีกลุ่มนี้เป็นเวลานานๆ ควรใส่ถุงมือที่สามารถป้องกันการทะลุผ่านของตัวทำละลายได้ เช่น ถุงมือไนไตรล์ จะเป็นการลดความเสี่ยง และทุกวันหลังจากทำงานกับสารเคมีในกลุ่มนี้เสร็จแล้ว ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเพื่อชะล้างสารเคมีออกจากผิวหนัง

การสัมผัสต่อร่างกายโดยการกระเด็นเข้าตาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสารเคมีกลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน (กรณีที่ไม่ได้มีส่วนผสมอย่างอื่น) แต่มีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองได้บ้าง หากโดนสารเคมีกลุ่มนี้กระเด็นเข้าตาจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา แสบตา น้ำตาไหล (ความรุนแรงจะพอๆ กับโดนน้ำมันเติมรถยนต์กระเด็นเข้าตา) แต่ไม่ก่อให้เกิดการกัดกร่อนต่อเนื้อเยื่อตาอย่างรุนแรง หากโดนสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทากระเด็นเข้าตา ควรรีบปฐมพยาบาลด้วยการล้างตาด้วยน้ำเปล่าอย่างรวดเร็ว ล้างนานอย่างน้อยเป็นเวลา 15 นาที หากล้างตาแล้วยังรู้สึกเคืองตามากหรือมองภาพมัวลง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว การป้องกันสารเคมีกลุ่มนี้กระเด็นเข้าตา ทำได้โดยใส่แว่นครอบตา (Goggles) ในระหว่างการทำงาน

การกินสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาเข้าไปนั้นมีความเป็นไปได้ โดยอาจจะเกิดขึ้นจากความบังเอิญเสียเป็นส่วนมาก ข้อมูลพิษจากการกินสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาเข้าไปเป็นการเฉพาะนั้นยังไม่มีชัดเจน [2] แต่เราสามารถเทียบเคียงกับข้อมูลพิษจากการกินสารประกอบไฮโดรคาร์บอน เช่น น้ำมันเติมรถยนต์ เข้าไปได้ [6] คือหากกินเข้าไปในปริมาณเพียงเล็กน้อยอาจไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่หากกินเข้าไปในปริมาณมากเพียงพอจะสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มาก อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย อาจทำให้เกิดแผลไหม้ในช่องปาก อันตรายจากการกินเข้าไปในปริมาณมากอีกอย่างหนึ่งคืออาจทำให้เกิดการสำลักเข้าไปในปอด (Aspiration) แล้วทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบจากการสำลักสารเคมีตามมา (Aspiration pneumonitis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรง ถ้าเกิดแบบรุนแรงมากทำให้ตายได้ หากมีการกินสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งพบแพทย์โดยเร็ว และในระหว่างการปฐมพยาบาลนั้นยังไม่ควรให้กินของอย่างอื่นตามเข้าไปหรือทำการกระตุ้นอาเจียนโดยเด็ดขาด

อันตรายจากการสัมผัสโดยการสูดดม เป็นช่องทางการสัมผัสที่พบได้บ่อยที่สุดของการทำงานกับสารเคมีกลุ่มนี้ เนื่องจากสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาเป็นสารเคมีที่ระเหยง่าย การสูดดมเข้าไปในปริมาณไม่มาก อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก ระคายเคืองตา เวียนศีรษะ แต่ถ้าสูดดมเข้าไปในปริมาณมากๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มึนงง เคลิ้ม ตอบสนองช้า อ่อนเพลีย กดประสาท สมองเสื่อม ซึ่งเป็นผลของสารกลุ่มตัวทำละลายอินทรีย์ต่อระบบประสาทส่วนกลางโดยตรง การสูดดมเข้าไปในปริมาณมากๆ บ่อยๆ เช่นในกรณีของช่างทาสี ถ้าไม่มีการป้องกันการสัมผัสเลย อาจทำให้เกิดการกระตุ้นหัวใจ (Cardiac sensitization) ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและผิดจังหวะ อาจทำให้ตายได้

ส่วนผลจากการสูดดมในปริมาณสูงในครั้งเดียวจนเป็นอันตราย เช่น ในกรณีที่เกิดการรั่วไหลแล้วคนทำงานติดอยู่ภายในอาคาร ไม่สามารถวิ่งหนีออกมาได้ทัน อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อปอดอย่างรุนแรง เกิดเป็นภาวะปอดอักเสบจากสารเคมี (Chemical pneumonitis) หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจกดประสาทจนหมดสติ และทำให้ตายได้

การป้องกันตนเองในกรณีที่ต้องทำงานสูดดมสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทา ทำได้โดยทำงานกับสารเคมีชนิดนี้ในที่เปิดโล่ง ใช้หน้ากากป้องกันสารเคมีชนิดป้องกันไอระเหยได้ในระหว่างการทำงาน สถานประกอบการต้องจัดระบบระบายอากาศ เช่น ระบบระบายอากาศเฉพาะที่ ให้กับคนทำงานถ้ามีความจำเป็น การป้องกันกรณีรั่วไหลจะต้องตรวจสอบสถานที่เก็บสารเคมีให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ

ผลต่อสุขภาพอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญเมื่อต้องทำงานกับสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาคือผลก่อมะเร็ง ดังที่กล่าวไปแล้วว่าสารเบนซีน (Benzene) นั้นเป็นสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอยู่ในน้ำมันดิบตามธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อนำมาผ่านกระบวนการผลิตจนได้สารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทา มักจะต้องผ่านกระบวนการเพื่อลดสัดส่วนของเบนซีนลง ทำให้ส่วนใหญ่ตัวทำละลายแนฟทาและสารกลุ่มใกล้เคียงจะมีสัดส่วนของเบนซีนเหลืออยู่น้อยมาก อาจมีอยู่เพียง 0.001 % [4] หรือมากที่สุดไม่เกิน 0.1 % [4] ซึ่งในสัดส่วนที่ไม่เกิน 0.1 % นี้ หากทำงานสัมผัสสารเคมีกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาในปริมาณไม่มาก ในพื้นที่เปิดโล่ง เป็นระยะเวลาไม่นาน จัดว่ามีความเสี่ยงต่อการก่อมะเร็งค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูลว่าสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาที่ใช้นั้นมีสัดส่วนของเบนซีนเกิน 0.1 % ควรจะต้องพิจารณาว่าสารที่ใช้นั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็งทันที [1] และจะต้องหาทางลดการสัมผัสในคนทำงานให้ลดลงอย่างมากที่สุด (วิธีหนึ่งที่ดีคือเปลี่ยนมาใช้ตัวทำละลายแนฟทาของบริษัทผู้ผลิตที่มีมาตรฐานสูงกว่า เพื่อให้มีสัดส่วนของสารเบนซีนในสูตรน้อยลง คือไม่เกิน 0.1 % จะได้ไม่เกิดความเสี่ยงต่อคนทำงานมากจนเกินไป)

นอกจากสารเบนซีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ได้รับการยืนยันแล้ว [3] ในตัวทำละลายแนฟทาและสารในกลุ่มใกล้เคียงยังมักจะมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอะโรมาติกอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ (Possibly carcinogenic to human) เช่น เอทิลเบนซีน (Ethylbenzene) [8] และคิวมีน (Cumene) [9] ผสมอยู่ด้วยในสัดส่วนต่างๆ กันไปในแต่ละสูตรของบริษัทผู้ผลิต หากพิจารณาในแง่นี้ การลดการสัมผัสในทุกช่องทางเมื่อทำงานกับสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทา ก็น่าจะก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อคนทำงานในระยะยาวในแง่ของการป้องกันมะเร็งได้มากที่สุด

ในการประเมินการสัมผัสเมื่อคนทำงานกับสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทานั้น สามารถประเมินระดับการสัมผัสได้ด้วยการตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อม (Environmental monitoring) คือการวัดระดับไอระเหยของสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาที่อยู่ในอากาศในที่ทำงาน ซึ่ง ณ เวลาที่เรียบเรียงบทความนี้ ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยในอากาศของสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาในกฎหมายของประเทศไทย

สำหรับค่ามาตรฐานของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยในอากาศของสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาไว้ตามกฎหมายโดยองค์กร Occupational Safety and Health Administration (OSHA) เป็นค่า Permissible exposure limit (PEL) ว่าค่าเฉลี่ยที่ตรวจวัดได้จะต้องไม่เกิน 2,900 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร (500 ส่วนในล้านส่วน) สำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมง [5,10] และองค์กร National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) ได้ให้ความเห็นทางวิชาการไว้เป็นค่า Recommended exposure limit (REL) ว่าค่าเฉลี่ยที่ตรวจวัดได้ไม่ควรเกิน 350 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร สำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมง และค่าเพดานไม่ควรเกิน 1,800 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร [5,10] ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้โดยองค์กร OSHA สำหรับเทคนิคในการตรวจวัดค่าในอากาศนั้น องค์กร NIOSH แนะนำให้ใช้ NIOSH Method 1550 ( คือการวัดหาระดับ Naphthas ในอากาศ) เป็นวิธีมาตรฐาน [5,10] ผู้ที่ทำงานอาชีวอนามัยในประเทศไทยอาจนำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันอันตรายให้กับคนทำงานชาวไทยที่อยู่ในความดูแลของตนเองได้

หากสถานประกอบการตรวจวัดระดับของสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาในสถานที่ทำงานแล้วพบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน ควรแก้ไขโดยวิธีการทางวิศวกรรมตามหลักอาชีวอนามัย เพื่อให้มีระดับของสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาในอากาศไม่สูงจนเกินไป

สำหรับการประเมินการสัมผัสโดยการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological monitoring) ของสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทานั้นยังไม่มีให้ใช้ในทางปฏิบัติชัดเจน [2] เนื่องจากสารกลุ่มนี้เป็นสารผสม (Mixture) ที่มีสัดส่วนไม่แน่นอน ทำให้พิจารณาเลือกตัวบ่งชี้ทางชีวภาพได้ยาก การเลือกตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของสารบริสุทธิ์ที่มีผสมอยู่ในสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาเป็นรายตัว เช่น ตรวจ t,t-muconic acid ในปัสสาวะเพื่อประเมินการสัมผัสเบนซีน [11], ตรวจ mandelic acid plus phenylglyoxylic acid ในปัสสาวะเพื่อประเมินการสัมผัสเอทิลเบนซีน [11], ตรวจ toluene ในปัสสาวะเพื่อประเมินการสัมผัสโทลูอีน [11], หรือตรวจ methylhippuric acid ในปัสสาวะเพื่อประเมินการสัมผัสไซลีน [11] สามารถทำได้ แต่อาจไม่มีประโยชน์มากนัก เนื่องจากสารบริสุทธิ์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนผสมหนึ่งในสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทา และมักมีอยู่ในสัดส่วนที่น้อย และเรามักไม่ทราบสัดส่วนที่มีอยู่แน่นอนด้วย กล่าวโดยสรุปคือแนะนำให้ตรวจประเมินการสัมผัสโดยการตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อม (Environmental monitoring) โดยการวัดระดับตัวทำละลายแนฟทาในอากาศภายในสถานที่ทำงานจะเป็นการประเมินที่ดีกว่า

สำหรับการดูแลเรื่องสุขภาพของคนทำงานที่ต้องทำงานสัมผัสสารกลุ่มตัวทำละลายแนฟทาอยู่เป็นประจำนั้น การสอบถามถึงอาการระคายเคือง เช่น แสบตา แสบจมูก และอาการวิงเวียนศีรษะ มึนงง ในคนทำงานว่ามีหรือไม่เป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้ามีอาการเหล่านี้มากๆ เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าคนทำงานได้รับผลกระทบจากการทำงานสัมผัสสารนี้ การตรวจร่างกายโดยดูผิวหนังโดยเฉพาะที่บริเวณมือว่ามีผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคืองเกิดขึ้นหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ

เอกสารอ้างอิง

  1. The Danish Environmental Protection Agency. Survey of white spirit (Part of the LOUS review, Environmental Project No. 1546, 2014). Copenhagen: The Danish Environmental Protection Agency; 2014.
  2. Agency for Toxic Substances and Disease Registry (ATSDR). Toxicological profile for Stoddard solvent. Georgia: ATSDR; 1995.
  3. International Agency for Research on Cancer (IARC). IARC Monographs on the evaluation of carcinogenic risks to humans Vol. 100F: Chemical agents and related occupations. Lyon: IARC Press; 2012.
  4. Committee for Risk Assessment (RAC), European Chemical Agency (ECHA). Annex 1: Background document to the opinion proposing harmonised classification and labeling at community level of white spirit. Helsinki: ECHA; 2011.
  5. National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH). NIOSH Pocket Guide to Chemical Hazards (NPG) - Stoddard solvent, 3rd printing. Cincinnati: NIOSH; 2007.
  6. International Programme on Chemical Safety (IPCS). Environmental Criteria 187 – White spirit (Stoddard solvent). Geneva: IPCS; 1996.
  7. Hydrocarbon Solvents Producers Association (HSPA). Definition of white spirits under RAC evaluation based on new identification developed for REACH. n.p.: HSPA; 2011.
  8. International Agency for Research on Cancer (IARC). IARC Monographs on the evaluation of carcinogenic risks to humans Vol. 77: Some industrial chemicals. Lyon: IARC Press; 2000.
  9. International Agency for Research on Cancer (IARC). IARC Monographs on the evaluation of carcinogenic risks to humans Vol. 101: Some chemicals present in industrial and consumer products, food and drinking-water. Lyon: IARC Press; 2013.
  10. National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH). NIOSH Pocket Guide to Chemical Hazards (NPG) – Petroleum distillates (naphtha), 3rd printing. Cincinnati: NIOSH; 2007.
  11. American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH). TLVs and BEIs. Cincinnati: ACGIH; 2016.