คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่ทำงานกับสารเคมี

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.ศรัณย์ ศรีคำ

วันที่เผยแพร่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556


(Working with chemicals: How to Care Yourself)

ปัจจุบัน สารเคมีต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น โดยมีการนำสารเคมีเข้ามาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างมากมาย ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคการบริการ ตลอดจนในการศึกษาวิจัยต่างๆ ซึ่งมีทั้งสารเคมีที่เป็นสารตั้งต้น ตัวกลาง ตัวทำละลาย ผลิตภัณฑ์ และของเสียที่ปนเปื้อน สารเคมีเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพที่ปฏิบัติงานกับสารเคมี จากการรับสัมผัสผ่านทางช่องทางต่างๆ และยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากภาวะสารเคมีหกกระเด็นหรือรั่วไหลได้ ดังนั้น ผู้ประกอบอาชีพที่ทำงานกับสารเคมี จึงควรตระหนักถึงอันตรายจากสารเคมี และมีความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมี เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติงานกับสารเคมีได้อย่างเหมาะสม

อันตรายจากสารเคมี

สารเคมีต่างๆ สามารถก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียต่อสุขภาพได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ผลต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองตา ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ หรือการเกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกายในแบบเฉียบพลัน ซึ่งบางครั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนผลต่อสุขภาพแบบเรื้อรังนั้นจะไม่ได้ทำให้เกิดอาการในทันทีที่สัมผัสสารเคมี แต่จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น การก่อให้เกิดมะเร็ง ก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดในทารก หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้สารเคมีต่างๆ ยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เช่น การก่อให้เกิดอัคคีภัย การระเบิดของสารเคมี เป็นต้น

ทางเข้าสู่ร่างกายของสารเคมี

หลักๆ แล้วมีอยู่ 3 ทาง ได้แก่

  1. ทางการหายใจ ในกรณีที่สารเคมีอยู่ในรูป แก๊ส ไอระเหย ละออง ฝุ่น หรือ เส้นใยขนาดเล็ก เมื่อลอยอยู่ในอากาศแล้วสามารถสูดดมเข้าทางจมูกเข้าสู่ทางเดินหายใจได้
  2. ทางดูดซึมเข้าทางผิวหนัง ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปของเหลว เช่น สารตัวทำละลายต่างๆ ยาฆ่าแมลง หากสัมผัสกับผิวหนังก็มักสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้
  3. ทางการกิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นไม่ว่ากับสารเคมีที่เป็นของแข็งหรือของเหลว เกิดขึ้นได้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การใช้มือที่ปนเปื้อนสารเคมีหยิบอาหารรับประทาน หรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีอยู่ เป็นต้น

หลักการทั่วไปในการปฏิบัติงานกับสารเคมี

  • ผู้ปฏิบัติงานกับสารเคมี ควรทราบถึงคุณสมบัติทางเคมีและลักษณะการก่อพิษของสารเคมีที่ใช้งานอยู่ โดยอาจทราบได้จากการอ่านฉลากที่กำกับภาชนะบรรจุสารเคมี เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (Material Safety Data Sheets หรือ MSDS) หรือสอบถามจากผู้ขาย หรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีชนิดนั้น
  • ในที่ทำงานควรมีการจัดทำวิธีปฏิบัติงานที่ถูกต้องและปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยอ้างอิงจากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีของที่ใช้ และผู้ปฏิบัติงานกับสารเคมีควรได้รับการฝึกอบรมให้ความรู้ เพื่อให้ทราบวิธีปฏิบัติงานที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยก่อนปฏิบัติงานจริง
  • ควรมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับชนิดของสารเคมี เช่น หน้ากากกรองสารเคมี ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน
  • ควรติดฉลากบนภาชนะบรรจุสารเคมีและของเสียสารเคมีให้ถูกต้องและชัดเจน
  • ควรจัดทำรายการสารเคมี และปริมาณที่มีในหน่วยงาน โดยเฉพาะสารเคมีที่เป็นอันตราย ควรมีการทบทวนรายการและปริมาณสารเคมีอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งข้อมูลหน่วยงานหรือผู้ผลิตที่ติดต่อได้ในภาวะฉุกเฉิน และควรจัดเก็บสารเคมีไว้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
  • ควรอ่านฉลากก่อนหยิบใช้สารเคมีทุกครั้ง
  • การแบ่งสารเคมีมาใช้ต้องกะปริมาณให้พอดี ไม่ใช้สารเคมีมากเกินกว่าที่กำหนด ในการเทสารเคมีให้เทด้านตรงข้ามฉลากเพื่อไม่ให้สารเคมีไหลเลอะฉลาก และควรปิดฝาภาชนะทุกครั้งหลังการใช้งาน
  • ไม่ควรสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารขณะปฏิบัติงานกับสารเคมี
  • ควรมีสุขนิสัยในการทำงานที่ดี ควรล้างมือและทำความสะอาดร่างกายทุกครั้ง ภายหลังการปฎิบัติงานกับสารเคมี
  • สถานที่ทำงานควรมีการระบายอากาศที่ดี เหมาะสมกับชนิดของสารเคมี และควรมีการดูแลให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
  • การเคลื่อนย้าย หรือถ่ายเทสารเคมี ควรทำด้วยความระมัดระวังทุกครั้ง
  • ควรมีการทบทวนความจำเป็นในการใช้สารเคมีและวิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีเป็นระยะ
  • พิจารณาลดหรือเลิกใช้สารเคมีที่มีอันตรายสูง หรือเปลี่ยนไปใช้สารเคมีอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่าแทน
  • ควรมีระบบการเฝ้าระวังและตรวจติดตาม โดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อประเมินว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเกินกว่ามาตรฐานหรือไม่

หลักการทั่วไปในการเก็บรักษาสารเคมี

  • ควรเก็บในภาชนะปิดสนิท และมีฉลากติดกำกับอย่างชัดเจน การเขียนชื่อระบุสารเคมีควรคำนึงถึงผู้อ่านด้วย เช่น ถ้าผู้อ่านไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ ก็ควรเขียนชื่อเป็นภาษาไทยไว้ และอาจทำสัญลักษณ์ภาพบ่งชี้ความอันตรายประกอบไว้ด้วย
  • เก็บรักษาสารเคมีอย่างถูกต้องตามคำแนะนำในฉลากที่กำกับภาชนะบรรจุสารเคมี หรือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี
  • ควรมีการควบคุมสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับการจัดเก็บ เช่น จัดวางให้อยู่ในที่แห้ง ไม่เปียกชื้น ไม่มีน้ำท่วมขัง อากาศถ่ายเทได้ดี จัดเก็บห่างจากแหล่งกําเนิดความร้อน เปลวไฟ หรือประกายไฟ ไม่ควรถูกแดดส่องถึงโดยตรง ห้ามสูบบุหรี่หรือทำกิจกรรมที่ก่อประกายไฟในบริเวณที่เก็บสารเคมี ควรมีการดูแลความสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ ไม่ให้มีสิ่งกีดขวางตามทางเดินรอบๆ ถ้าเป็นไปได้ควรมีห้องหรือสถานที่เก็บสารเคมีโดยเฉพาะ และควรมีป้ายติดเพื่อบอกให้ทราบว่าเป็นสถานที่บริเวณจัดเก็บสารเคมี ตลอดจนควรจัดหาอุปกรณ์รองรับเหตุฉุกเฉินไว้ให้พร้อมใช้งาน เช่น อุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสมกับชนิดของสารเคมีที่เก็บ เป็นต้น
  • ควรจัดวางสารเคมีอย่างเป็นระเบียบ ไม่หนาแน่นเกินไป
  • ควรวางสารเคมีให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าระดับสายตา ถ้าเป็นขวดหรือภาชนะบรรจุขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมากให้วางชั้นล่างสุด
  • ไม่ควรเก็บสารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ หรือสามารถเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อกันได้ไว้ใกล้กัน เช่น ไม่ควรเก็บกรดเข้มข้นไว้ใกล้กับด่างเข้มข้น ตลอดจนสารเคมีที่เมื่อเกิดปฏิกิริยากันและได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ก็ไม่ควรเก็บไว้ใกล้กันเช่นเดียวกัน
  • ทำตามข้อควรระวังในการเก็บสารเคมีแต่ละประเภท ตัวอย่างข้อควรระวังที่สำคัญ เช่น (1) สารกัดกร่อนควรเก็บไว้ในภาชนะที่ป้องกันการกัดกร่อนได้ ควรวางภาชนะนั้นไว้ในถาดหรือซ้อนไว้ในภาชนะอื่นอีกชั้นหนึ่ง (2) สารเคมีที่ติดไฟและระเบิดง่ายบางชนิด อาจต้องเก็บไว้ในตู้เย็นป้องกันการระเบิด (3) สารพิษและสารก่อมะเร็ง ต้องเก็บในที่มิดชิด โดยใส่ตู้เก็บแยกออกจากสารเคมีอื่นๆ มีข้อความระบุเป็น "สารพิษ" และ "สารก่อมะเร็ง" ติดให้เห็นชัดเจน รวมถึงอาจติดสัญลักษณ์ภาพกำกับด้วย
  • ตรวจสอบสารเคมีเป็นระยะว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตรวจหาสิ่งที่แสดงว่าสารเคมีเสื่อม เช่น ฝามีรอยแยก ภาชนะรั่ว การตกตะกอนหรือแยกชั้น มีการตกผลึกที่ก้นขวด สารเคมีที่เสื่อมสภาพหมดอายุแล้วไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อ ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
  • สารเคมีที่ไม่มีป้ายชื่อบอก หรือมีสารอื่นเจือปนอยู่ หรือสารใดๆ ที่ไม่ต้องการ ต้องส่งไปกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสม

ข้อมูลที่ควรมีในฉลากติดภาชนะบรรจุสารเคมี

  • ชื่อสารเคมี ซึ่งควรมีทั้งชื่อทางเคมี (Chemical name) และชื่อทางการค้า (Trade name) รวมถึงส่วนประกอบเป็นพิษของสารเคมี
  • คำเตือนที่เฉพาะเจาะจงต่อการเป็นอันตรายของสารเคมีที่บรรจุอยู่ ( Hazard warning) และข้อควรระวังในการเก็บและการใช้สารเคมีนั้นๆ
  • ชื่อผู้ผลิต ชื่อตัวแทนจำหน่าย
  • ข้อมูลการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีที่ได้รับสารเคมีนั้นเข้าไป
  • บันทึกวันที่รับสารเคมีและวันเปิดใช้

การทิ้งและการกำจัดสารเคมี

  • ติดฉลากชนิดของสารเคมีและปริมาณที่อยู่ในแต่ละภาชนะที่บรรจุ
  • ทำการกำจัดตามคำแนะนำในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีแต่ละชนิด เพราะสารเคมีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติ ความเป็นพิษ และวิธีการกำจัดที่แตกต่างกัน
  • สารเคมีอันตรายบางชนิดต้องทำการกำจัดในลักษณะเป็นของเสียหรือขยะอันตราย ควรรวบรวมใส่ในถุงหรือภาชนะที่มีฝาปิด และเก็บแยกจากขยะทั่วไป
  • สารเคมีหรือสารละลายที่ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิด ห้ามทิ้งลงอ่างน้ำหรือท่อน้ำทิ้งโดยตรง อาจทำให้เกิดอันตรายต่อคน หรือต่อสิ่งแวดล้อม หรือทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียเกิดเสียหายได้ เช่น สารไวไฟสูง ตัวทำละลายความเข้มข้นสูง สารพิษ สารก่อมะเร็ง และสารที่สามารถเกิดปฏิกิริยากับน้ำได้อย่างรุนแรง เป็นต้น
  • ควรระวังในการนำภาชนะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากอาจมีสารเคมีตกค้างอยู่ในภาชนะเดิม
  • ไม่ควรนำภาชนะบรรจุสารเคมีมาใส่อาหารและเครื่องดื่ม

แนวปฏิบัติทั่วไปเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมี

  • อพยพผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณที่มีการรั่วไหลของสารเคมี
  • รีบแจ้งเหตุแก่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้มาจัดการเหตุฉุกเฉิน
  • ควรให้การปฐมพยาบาลผู้ประสบเหตุก่อนส่งไปโรงพยาบาลและระหว่างนำส่งโรงพยาบาล เช่น ทำการปั๊มหัวใจกู้ชีวิต ( Cardio-Pulmonary Resuscitation; CPR) ในกรณีที่หัวใจหยุดเต้น
  • การปฐมพยาบาลกรณีได้รับพิษจากสารเคมีโดยอุบัติเหตุ กรณีสารเคมีกระเด็นเข้าตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตา ให้ล้างต่อเนื่องตลอดเวลาจนแน่ใจว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งอย่างน้อยควรเป็นเวลา 15 นาทีขึ้นไป หรือใช้น้ำอย่างน้อย 2 – 3 ลิตร เปิดเปลือกตาดูว่าล้างสะอาดหมดจริงหรือยัง ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด
  • กรณีสารเคมีหกรดถูกผิวหนังและร่างกาย ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารเคมีออก เปิดน้ำให้ไหลผ่านร่างกายนานอย่างน้อย 15 นาที กรณีในโรงงานมีฝักบัวล้างตัว ให้ใช้ฝักบัวล้างตัว ถ้าไม่มีใช้น้ำประปาจากแหล่งที่ใกล้ที่สุด
  • กรณีกลืนกินสารเคมีเข้าไป ถ้าผู้ประสบเหตุยังมีสติดี อาจกระตุ้นให้อาเจียนสารเคมีนั้นออกมา โดยการใช้นิ้วหรือวัสดุไม่มีคมกดโคนลิ้น ยกเว้นสารเคมีประเภทกรด ด่าง หรือตัวทำละลายอินทรีย์ ห้ามกระตุ้นให้อาเจียน เพราะยิ่งจะทำให้เกิดการกัดกร่อนมากขึ้น กรณีผู้ประสบเหตุหมดสติไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียนเลย เพราะจะทำให้สำลัก และยิ่งเป็นอันตรายได้
  • รีบนำตัวผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาล และควรนำภาชนะบรรจุ ฉลาก หรือเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีชนิดนั้นไปด้วย เพื่อที่แพทย์ผู้รักษาจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการให้การรักษาผู้ป่วยต่อไป หากสัมผัสในปริมาณสูง แม้ว่าผู้ประสบเหตุจะไม่มีอาการใดๆ ในระยะแรก ก็ควรนำผู้ประสบเหตุส่งพบแพทย์ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
  • กรณีสารเคมีที่รั่วไหลเป็นสารไวไฟ หรืออาจระเบิดได้ ควรรีบดับเปลวไฟในบริเวณใกล้เคียง หรือแหล่งที่อาจก่อให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ โดยควรเลือกใช้อุปกรณ์ดับเพลิงที่มีสารดับเพลิงชนิดที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม เช่น ถุงมือ เสื้อคลุมแขนยาว ผ้ากันเปื้อน ชุดป้องกันสารเคมี แว่นตานิรภัย (Safety goggle) หรือกระบังหน้า (Face shield) ก่อนเข้าไประงับเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล หรือช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากสารเคมี
  • พยายามจำกัดการแพร่กระจายของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำและท่อน้ำสาธารณะ เช่น ทำการกำจัดโดยใช้สารดูดซับสารเคมี
  • การระงับเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลในที่อับอากาศ ควรจัดให้มีการระบายอากาศที่พอเพียงก่อนการเข้าไปจัดการระงับเหตุ และควรใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดที่มีถังบรรจุอากาศในตัวด้วย
  • ควรมีการวางแผนและซ้อมแผนเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินจากสารเคมีรั่วไหลโดยสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง พร้อมทั้งจัดอบรมหรือให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเหตุฉุกเฉินจากสารเคมีแก่ผู้ปฏิบัติงานเป็นระยะ

เอกสารอ้างอิง

  1. International Programme on Chemical Safety. Safety and health in the use of chemicals at work: A training manual [Internet]. 2013 [cited 2013 Jun 20]. Available from: http://actrav.itcilo.org/actrav-english/telearn/osh/kemi/scan/sandh.htm.
  2. American Chemical Society. Chemical Safety for Teachers and Their Supervisors Grades 7–12. DC: American Chemical Society 2001.